ด้วยความที่เริ่มเบื่ออาหารอินเดียกันอย่างพร้อมเพรียง วันนี้พวกเราเปลี่ยนบรรยากาศไปลองชิมอาหารอัฟกัน (อัฟกานิสถาน) กันบ้าง ชื่อร้าน "Mazaar Restaurant" เป็นร้านอาหารมุสลิมด้วยครับ
สถานที่ตั้งอยู่ในย่าน Lajpat Nagar (ผมจำเป็นคำว่า ราชภัฏนคร) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถาบัน Aptech ที่ผมเรียนนัก หลังเลิกเรียนพวกเรา 9 คนเดินข้ามถนนเข้าไปในซอยฝั่งตรงข้ามสถาบัน Aptech ประมาณ 500 เมตร ในร้านมีที่นั่งทั้งแบบนั่งโต๊ะและแบบนั่งพื้น การตกแต่งร้านเป็นแบบสไตล์อาหรับ มีเพลงอาหรับเปิดคลอเบาๆ พวกเรานั่งกระจายกันทั้งสองแบบโต๊ะติดกัน
ผมสั่ง Mutton Chopan Kabab กับ Kabuli Uzbeki 2 อย่าง ที่สั่งไม่ได้รู้หรอกครับว่าหน้าตาอาหารแต่ละอย่างและรสชาติเป็นยังไง เดาสุ่มเอา (ถามพนักงานนิดหน่อย) มีเพื่อนบางคนสั่ง Fry Chicken Kabab (ฟังชื่อน่าจะเป็นไก่ทอด) พอพนักงานเอามาเสิร์ฟลองชิมดู Mutton Chopan Kabab ลักษณะเป็นเนื้อซี่โครงแพะเสียบด้วยเหล็กแหลมยาวแล้วย่าง รสชาติออกไปทางเค็มนิดหน่อย มีมะนาวหั่นซีกวางเป็นเครื่องเคียงมาให้ด้วย ลองบีบมะนาวใส่ดูช่วยตัดรสเค็ม ปรากฏว่ารสชาติดีขึ้นเยอะ กลิ่นเครื่องเทศไม่ฉุนเหมือนอาหารอินเดีย ส่วน Kabuli Uzbeki ฟังดูเหมือนชื่อเมืองหลวงกับชื่อประเทศนะครับ ปรากฏว่าเป็นข้าวหมกแพะสูตรอาหรับนั่นเอง เพียงแต่ใช้ข้าวบาสมาติแทนข้าวไทย ใส่ลูกเกดในข้าวหมกด้วย กลิ่นเครื่องเทศไม่แรง กลมกล่อม รสชาติค่อนข้างคุ้นเคยเพราะมีโอกาสได้กินข้าวหมกชนิดนี้บ่อยๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลองชิม Fry Chicken Kabab ดูปรากฏว่าลักษณะหน้าตาและรสชาติคล้ายไก่ทอดสูตรหาดใหญ่แต่ทอดได้แห้งกว่า เข้าใจว่าไก่ทอดสูตรหาดใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดี คงเป็นสูตรไก่ทอดที่มีสืบทอดต่อกันมาช้านานโดยดัดแปลงจากสูตรไก่ทอดของพวกอาหรับหรือเปอร์เซียที่เข้ามาติดต่อค้าขายในดินแดนอุษาคเนย์และแหลมมลายูมาตั้งแต่โบราณกาล อาหารเทศเลยแปรสภาพเป็นอาหารไทยไปโดยปริยาย ลองชิมอาหารเมนูอื่นๆ ของเพื่อน ลักษณะเป็นแกงกระหรี่แพะ เนื้อแพะสับละเอียดปั้นเป็นก้อนกลมๆ กินกับแป้งโรตีแผ่นหนารสชาติอร่อย กลิ่นเครื่องเทศไม่ฉุนเหมือนแกงกระหรี่อินเดีย แต่รสชาติก็ค่อนข้างออกไปทางเค็มนิดหน่อย
มนุษย์นี่บางทีก็แปลกนะครับ มนุษย์พันธุ์อินเดียชอบกลิ่นเครื่องเทศฉุนๆ มนุษย์พันธุ์มลายูที่ผมคุ้นเคยติดรสชาติอาหารออกไปทางหวาน มาเจออาหารของมนุษย์พันธุ์อัฟกันรู้สึกว่าจะชอบรสเค็มกัน อยากรู้จังว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้มนุษย์จากทั่วโลกชอบรสชาติอาหารแตกต่างกัน
No comments:
Post a Comment