Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Thursday, November 29, 2012

ออกรายการวิทยุ

 

Friday, October 19, 2012

ร่วมละหมาดวันศุกร์สัญจร

 

Thursday, October 18, 2012

โจรใต้ปล้นกระบะหวั่นใช้คาร์บอมบ์ยังแหยงขายของวันศุกร์

161725

ที่มา: เดลินิวส์

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ ( 18 ต.ค.) พ.ต.ท.ศุภชัช ยีหวังกอง รองผกก.ป. สภ.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา พร้อมตำรวจ และฝ่ายปกครอง นำตัวนายซูอารูดิง ดีแม  อายุ 30 ปี  ราษฎรในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา  เข้าชี้จุดเกิดเหตุริมถนน หมู่13 บ้านฮูแตปูโล๊ะ ต.ตลิ่งชัน  อ.บันนังสตา ทางเข้านิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้  หลังนายซูอารูดิง เข้าแจ้งความเมื่อเวลา13.00 น. ว่า ถูกกลุ่มคนร้ายไม่ต่ำกว่า 10 คน แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐ  พร้อมอาวุธปืนครบมือ  ดักปล้นชิงรถกระบะโตโยต้า วีโก้ ตอนเดียว สีบรอนซ์เงิน หมายเลขทะเบียน บจ 9411 ยะลา ซึ่งบรรทุกตู้แช่ไอศกรีม 4 ตู้หลบหนีไป

จากการสอบสวนผู้เสียหาย  เบื้องต้น ให้การว่า ได้ขับรถกระบะเพื่อจะเข้าไปตรวจสอบจำนวนสินค้า เป็นไอศกรีมในหมู่บ้านบ้านนิคมฯ กือลอง เมื่อมาถึงจุดเกิด กลุ่มคนร้าย เดินออกมาจากชายป่าริมถนน ก่อนจะเรียกให้จอด เมื่อตนจอดรถ  คนร้ายดึงตัวออกไปนอกรถ ก่อนจะนำตนเดินลงไปในป่าข้างทาง ห่างถนนประมาณ 50-70 เมตร จากนั้นคนร้ายใช้ผ้ามัดมือตนติดไว้กับต้นไม้ริมลำคลอง  และบอกว่า อีก 15 นาที ค่อยออกไป  จากนั้นไม่นานกลุ่มคนร้ายก็ได้หลบหนีพร้อมนำรถไปด้วย จึงแกะผ้าออก ก่อนเดินลัดเลาะชายคลองไปขอความช่วยเหลือชาวบ้านและเข้าแจ้งความ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบจุดเกิดเหตุในเบื้องต้น  เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้เสียหายชี้จุดที่เกิดเหตุ ที่กลุ่มคนร้ายออกมาดักรถยนต์ และนำไปชี้จุดที่ถูกมัดไว้  พบหลักฐานเป็นเศษผ้าที่คนร้ายใช้มัดมือผู้เสียหายไว้ตรวจสอบหาดีเอ็นเอ  รวมทั้งวิทยุด่วนสั่งทุกจุดตรวจในพื้นที่ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง  ให้ตั้งด่านตรวจสกัดจับรถยนต์คันดังกล่าว  แต่ยังไร้วี่แวว  และหวั่นเกรงว่ากลุ่มคนร้ายจะนำรถไปประกอบระเบิดคาร์บอมบ์เข้ามาก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่

ส่วนที่ จ. ปัตตานี บรรยากาศในตลาดสดเทศบาลเมืองปัตตานี  มีพ่อค้าแม่ค้า มาขายสินต้าตามปกติ และมีประชาชขนมาซื้อตามปกติเช่นกัน แต่ประชาชนซื้อสินค้ามากกว่าปกติ เพื่อตุนของไว้สำหรับวันศุกร์พรุ่งนี้ (19 ต.ค.) เพราะเชื่อว่าไม่มีใครกล้าขาย  เมื่อสอบถามพ่อค้าแม่ค้าต่างก็บอกว่าคงหยุดขายวันศุกร์เช่นเดิม เพราะหวาดกลัว เกรงได้รับอันตราย ประกอบกับไม่มั่นใจในด้านการรักาษความปลอดภัย

นายยูโซ๊ะ สะมะแอ  ผู้นำมุสลิมคนหนึ่งในจ.ปัตตานี กล่าวว่า  ขณะนี้พ่อค้าแม่ค้า ไม่พร้อมที่จะขายของและออกมาจับจ่ายซื้อของในตลาดสดวันศุกร์ เพราะไม่มั่นใจในมาตรการของเจ้าหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย  นอกจากนั้น กระแสข่าวหยุดวันศุกร์  จนท.รัฐก็ยังไม่สามารถนำความจริงดังกล่าวว่าเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นการข่มขู่เฉยๆ เมื่อความจริงไม่ปรากฏ ประชาชนก็ยังสับสนและหวาดกลัว  ถึงแม้จะมีใบปลิวของจุฬาราชมนตรี ว่าขายวันศุกร์ไม่ผิดหลักศาสนาก็ตาม.

Monday, October 8, 2012

ฟิลิปปินส์บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มกบฏ หลังนองเลือดมา 40 ปี

Japan Philippines Muslim Rebels

ที่มา: ประชาไท

Mon, 2012-10-08 02:19

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แถลงรัฐบาลตกลงกรอบการทำงานสันติภาพร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน "ขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร" ได้แล้ว โดยกำหนดให้มีเขตปกครองพิเศษใหม่ที่เกาะมินดาเนา นับเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์หลังการสู้รบมากว่า 40 ปี 

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 55 มีรายงานว่าประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ เบนิญโน่ อาคีโน่ ได้แถลงประกาศทางโทรทัศน์ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถบรรลุกรอบข้อตกลงสันติภาพกับขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front) กลุ่มกบฏมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศได้แล้ว หลังจากการสู้รบระหว่างกองกำลังของกลุ่มกบฎและรัฐบาลได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 40 ปีและทำให้ประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 120,000 คน 

ข้อตกลงดังกล่าว มีการกำหนดให้บริเวณเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศเป็นเขตปกครองพิเศษ ชื่อว่าบังซาโมโร (Bangsamoro) ที่ได้รับอำนาจทางการปกครองและเศรษฐกิจที่มากขึ้น อาทิ การได้รับส่วนแบ่งด้านทรัพยากรที่เท่าเที่ยมและเป็นธรรม การใช้กฎหมายชารีอะห์ที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับประชากรมุสลิม ในขณะที่ฝ่ายกบฎต้องปลดอาวุธและสลายกองกำลังของตนเอง 

ข้อตกลงดังกล่าว บรรลุหลังจากการเจรจาระหว่างสองฝ่ายมีขึ้นที่ประเทศมาเลเซียในฐานะตัวกลางการเจรจา และคาดว่าจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

หัวหน้าฝ่ายเจรจาของรัฐบาลฟิลิปปินส์ กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า ข้อตกลงสันติภาพนี้มีแรงสนับสนุนทางการเมืองมากกว่าข้อตกลงฉบับก่อนหน้าที่เคยมีเมื่อปี 2551 หลังจากมีการจัดเวทีหารือกว่า 100 ครั้งกับกลุ่มมุสลิม คริสต์ และรัฐบาลท้องถิ่น-ภูมิภาค 

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่า "กรอบข้อตกลงนี้ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการอยู่เหนืออคติของเรา...มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเอาความไม่ไว้วางใจและความใจแคบออกไป ซึ่งเป็นอุปสรรคของเราในอดีต"

กรอบข้อตกลงสันติภาพ จะกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนผ่านจำนวน 15 คน ทำหน้าที่ร่างกฎหมายเพื่อทำให้การนำกรอบข้อตกลงสันติภาพไปใช้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ โดยคาดว่าแผนดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเบนิญโน่ อาคีโน่ ภายในปี 2559

ที่มา: เรียบเรียงจาก 

Philippines and Muslim rebels agree peace deal
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-19860907

Tuesday, October 2, 2012

ศาสดาคนสุดท้าย

La-Tierra-un-planeta-azul

หลักการศรัทธาประการที่ 4 จากหลักการศรัทธาทั้ง 6 ประการ ของศาสนาอิสลาม กล่าวว่า มุสลิมต้องศรัทธาในบรรดานบี (ศาสดา) ทั้งหลาย

มุสลิม ต้องยอมรับนับถือศาสดาทั้งหลายที่มาเทศนาก่อนนบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ไม่ว่าศาสดาเหล่านั้นจะปรากฎชื่ออยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานหรือไม่ก็ตาม

ไม่ว่าศาสดาเหล่านั้น จะเป็นคนชนชาติใด อยู่ที่ไหน พูดภาษาอะไรก็ตาม มุสลิม ต้องให้เกียรติยกย่องศาสดาเหล่านั้นอย่างเท่าเทียมกัน

นบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) เป็นศาสดาคนสุดท้ายของโลก ที่มารับภารกิจต่อจากศาสดาคนก่อน ๆ ที่เชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักพระเจ้า และ ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์

ท่านนบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ได้กล่าวว่า หลังจากท่านแล้วจะไม่มีศาสดาเกิดขึ้นมาอีก เพราะถือว่า ท่านได้นำคำสอน หรือ แนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์มาสู่มนุษยชาติแล้ว

ในโลกยุคใหม่ที่มีการพัฒนาของสื่อในทุก ๆ ด้าน เรามักจะได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับศาสดาของศาสนาหรือลัทธิแปลกประหลาดเกิดขึ้นมากมายครั้งแล้วครั้งเล่า

ในญี่ปุ่น ทางการญี่ปุ่นเคยจับกุมดำเนินคดีนายโชโกะ อาซาฮาร่า ผู้ซึ่งอ้างตัวเป็นศาสดาลัทธิโอมชินริเกียว ซึ่งวางแผนใช้แก๊สซารินก่อวินาศกรรมเพื่อเข่นฆ่าทำลายล้างคนญี่ปุ่น เมื่อหลายปีก่อน

ในจีน ลัทธิฝ่าหลุนกง เป็นลัทธิต้องห้าม

ในอเมริกา ดินแดนแห่งโลกเสรี  ลัทธิ "ไซแอนโทโลจี้" ที่ทอม ครูซ ซุปเปอร์สตาร์ชื่อดังเลื่อมใส ก็เป็นมูลเหตุสำคัญ ที่ทำให้ เคธี่ โฮล์มส์ ผู้เป็นภรรยา ตัดสินใจฟ้องหย่าเพราะไม่ต้องการให้ลูกสาวถูกบังคับเข้ารีตเป็นสมาชิกของลัทธิประหลาดนี้

ผู้นำและประมุขหลายประเทศพอใจที่ได้รับการอวยและยกย่อง เพื่อให้ผู้คนได้จดจำว่า ตนเป็นสมมติเทพหรือพระโพธิสัตว์อวตารลงมา

มุสลิมที่ดี จะรู้ว่า ศาสดาเหล่านี้ ล้วนเป็นศาสดาจอมปลอมทั้งสิ้น

Tuesday, September 11, 2012

ประชาคมอาเซียน (ASEAN)

หนึ่งวิสัยทัศน์ หนุึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม
One Vision, One Identity, One Community

ประชาคมอาเซียน – ASEAN (Association of Southeast Asian Nations) เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า  ทั้ง 10 ประเทศนี้ จะพัฒนาเป็นกลุ่มประเทศ “ประชาคมอาเซียน” ในปี 2558 (อนาคตอาจมี 11 ประเทศ คือติมอร์ตะวันออก เพิ่มเข้ามาอีกประเทศหนึ่ง)

Thursday, August 30, 2012

โหด..คนร้ายฆ่าตัดคอเผาพ่อค้ารับซื้อยางยะลา

สำนักข่าวอะลามี่ : โหด...คนร้ายคาดมีไม่ต่ำกว่า4คน ก่อเหตุอำมหิตฆ่าตัดคอพ่อค้ารับซื้อเศษยางพารา ก่อนจะเผาทั้งคนทั้งรถยนต์ ทิ้งศีรษะข้างทาง ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

yala3008

ที่มา : โหด..คนร้ายฆ่าตัดคอเผาพ่อค้ารับซื้อยางยะลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณเวลา 07.00น. ของวันนี้(30สิงหาคม) ได้รับแจ้งเหตุด่วนมีคนถูกฆ่าตัดคอแล้วเผาบนรถกระบะ เหตุเกิดที่ หมู่ที่ 3 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา

            หลังรับแจ้ง พ.ต.อ.เจริญ ธรรมขันธ์ ผกก.พ.ต.ท.มนตรี จุลานุพันธ์ รอง ผกก.สส. พ.ต.ท.ศุภชัช ยีหวังกอง รอง ผกก.ป. สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และ ฝ่ายปกครองรุดไปสอบสวน ที่เกิดเหตุอยู่บนทางหลวงสาย ตะบิงติงงี-ศรีสาคร ห่างจากทางหลวงสาย 410 (ยะลา-เบตง) ประมาณ  2.5 กม.พบซากรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้าไฮลักซ์ วีโก้ สีเทา เลขทะเบียน บฉ-6198 ยะลา ยังมีควันไฟกรุ่นอยู่ จอดอยู่ริมถนน

          ตรวจสอบบนกระบะท้ายรถ พบร่างมนุษย์ที่ดำเป็นตอตะโกทราบชื่อ นายต่วนดาโอ๊ะ ต่วนสุหลง อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที 12 หมู่ที่ 10  ต.ตลิ่งชัน ยังมีควันลอยอยู่พร้อมกับซากขี้เถ้าเศษกล่องกระดาษ และห่างไปทางท้ายรถยนต์ประมาณ 10 เมตร พบศีรษะ นายต่วนดาโอ๊ะถูก ตัดบริเวณลำคอ ทิ้งอยู่ในกอหญ้าข้างทาง

         ร.ต.ท.ซุลกิพลี ระเซาะ ร้อยเวร สภ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่าจากการสอบสวน ทราบว่า นายต่วนดาโอ๊ะ ต่วนสุหลง ผู้ตายมีอาชีพค้าขายและรับซื้อเศษยางพารา ก่อนเกิดเหตุราว 06.00 น.วันเดียวกัน ได้ขับรถกระบะคันดังกล่าวโดยบอกทางบ้านว่าจะไปฟอกไต ที่โรงพยาบาลยะลา

          โดยต่อมาเวลา 07.00 น.ร.อ.ปริญญา คำพรม ผบ.ร้อย ร.7021 ฉก.ยะลา 15 นำกำลังออกจากฐานที่ รร.บ้านทรายแก้ว หมู่ 5 ตำบลเดียวกันลาดตระเวนเส้นทางพบไฟกำลังลุกไหม้รถกระบะและพบร่างคนกำลังถูก เผาอยู่บนกระบะท้าย จึงได้รีบประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ซึ่งคาดว่าหลัง นายต่วนดาโอ๊ะ ขับรถออกจากบ้านพัก คนร้ายไม่ต่ำกว่า 4 คน ซึ่งรู้จักกับ นายต่วนดาโอ๊ะใช้รถ จยย.หรือ อาจเป็นรถกระบะเป็นยานพาหนะติดตามไปแล้วเรียกให้นายต่วนดาโอ๊ะ หยุด รถทำทีมีธุระพูดคุยแล้วจัดการทุบทำร้ายจนนายต่วน สลบหลังจากนั้นนำร่างไป วางบนกระบะท้ายใช้มีดสปาร์ต้าตัดคอแล้วจัดการราดน้ำมันเบนซินจุดไฟเผา โดยก่อนหลบหนีคนร้ายได้นำศีรษะนายต่วนไปทิ้งข้างทาง จนเจาหน้าที่ทหารลาดตระเวน ไปประสบเหตุดังกล่าว

        ส่วนสาเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ เนื่องจาก นายต่วนดาโอ๊ะ รู้จักกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการหลายฝ่าย คนร้ายเข้าใจผิดคิดว่า เป็นสาย จึงจัดการฆ่าตัดคอแล้วเผาดังกล่าว

Thursday, August 16, 2012

มอบเครื่องอุปโภคบริโภคผู้นำศาสนา

 

Saturday, August 11, 2012

ศาลมาเลย์ยกฟ้อง 3 มือระเบิด บททดสอบความร่วมมือไทย-มาเลเซียดับไฟใต้

นูรยา เก็บบุญเกิด
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
ที่มา: ประชาไท

แม้มีการคาดการณ์หรือกล่าวหากันอยู่บ่อยครั้งว่า ขบวนการต่อต้านรัฐในภาคใต้ของไทยใช้มาเลเซียเป็นฐานในการวางแผนก่อเหตุรุนแรง แต่ก็ยังไม่มีการจับกุมกันอย่างคาหนังคาเขา ตราบจนกระทั่งในปี 2552 ที่ตำรวจมาเลเซียได้เข้ารวบตัวชายมุสลิม 3 คนจากนราธิวาสได้ที่บ้านพักแห่งหนึ่งใกล้ชายแดนไทย – มาเลเซีย

นายมูฮัมหมัดซิดี อาลี (ซ้าย) นายมามะคอยรี สือแม (กลาง) และ นายมะยูไน เจ๊ะดอเลาะ (ขวา)

อุปกรณ์บางส่วนที่พบขณะตำรวจมาเลเซียเข้าตรวจค้นในบ้านเช่าในรัฐกลันตันในวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ซึ่งอดีตจำเลยคดีระเบิดทั้งสามคนอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว หมายเลข 1) กระสุนปืนขนาด.38 2) กล่องเหล็ก 3) ไดนาไมค์ 4) โทรศัพท์มือถือ 5) พาวเวอร์เจล และ 6) แอมโมเนียมไนเตรท

การดำเนินคดีกับทั้งสามคนเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียในการร่วมมือกับดับไฟใต้ได้อย่างดี

คดีนี้เริ่มต้นจากเหตุการณ์ในวันที่ 14 ธันวาคม 2552 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกรมสอบสวนอาชญากรรมในรัฐกลันตัน (Kelantan Criminal Investigation Department) บุกเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยที่คาดว่ามีสารเสพติดในครอบครองภายในบ้านเช่าในหมู่บ้านเกเบง อำเภอปาเซร์มัส ประเทศมาเลเซียพร้อมสื่อมวลชน แต่เมื่อเข้าจับกุมกลับพบอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก ได้แก่ ไดนาไมต์จำนวน 160 แท่ง กล่องโลหะ ถังดับเพลิง สารแอมโมเนียมไนเตรท โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์รีโมทคอนโทรล และกระสุนกว่า 248 นัด

ชายมุสลิมสัญชาติไทยทั้ง 3 คนที่อยู่ในบ้านหลังนั้น คือ นายมามะคอยรี สือแม นายมูฮัมหมัดซิดี อาลี และนายมะยูไน เจ๊ะดอเลาะ ทั้ง 3 คนถูกศาลมาเลเซียตัดสินลงโทษจำคุก 10 เดือนและโบย 3 ครั้งในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จากนั้นก็ถูกดำเนินคดีฐานมีเครื่องกระสุนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นคดีที่ทางการไทยเฝ้าติดตามมาโดยตลอด

ผู้ต้องหาคดีนี้เป็นใคร

นายมามะคอยรี เป็นผู้ต้องหา 1 ใน 7 คนที่ถูกจับกุมในโรงเรียนอิสลามบูรพา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 หลังเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นโรงเรียนและพบอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก

ต่อมาระหว่างถูกคุมขัง มามะคอยรีได้แจ้งเจ้าหน้าที่เรือนจำว่า ตนเองป่วยและขอไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ แม้ว่าเขาจะถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล แต่มามะคอยรีก็ยังสามารถหาวิธีหลบหนีไปได้สำเร็จ ชื่อของเขาก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อถูกตำรวจมาเลเซียจับกุมตัวที่บ้านเช่าหลังนั้น

ในขณะที่มามะคอยรีถูกควบคุมตัว และถูกศาลมาเลเซียพิจารณาคดีอยู่นั้น จำเลยอีก 6 คนที่ถูกจับกุมพร้อมกับเขาที่โรงเรียนอิสลามบูรพาได้ถูกศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาลงโทษประหารชีวิตไป 5 คน ส่วนอีกหนึ่งคนให้จำคุก 27 ปี โดยข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายและเป็นซ่องโจร โดยศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม”

หากนายมามะคอยรีถูกนำตัวกลับมายังประเทศไทยก็จะต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน

ส่วนนายมูฮัมหมัดซิดี เคยถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ข้อมูลของตำรวจระบุว่า เขาเป็นมือระเบิดในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่วนนายมะยูไนไม่พบประวัติในฐานข้อมูล

คำพิพากษาของศาลมาเลเซีย

หลังจากทั้ง 3 คนถูกตำรวจมาเลเซียจับกุม วันที่ 27 ธันวาคม 2552 ทางการมาเลเซียได้นำผู้ต้องหาทั้ง 3 คนไปยังศาลแผนกคดีอาญา ศาสปาเสมัส อ.ปาเสมัส รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียเพื่อทำการไต่สวน แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงเลื่อนการไต่สวนออกไป

การพิจารณาคดีว่างเว้นไปนาน จนกระทั่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลมาเลเซียจึงได้ทำการไต่สวนและตัดสินว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่า นายมูฮัมหมัดซิดีและนายมะยูไนมีส่วนเกี่ยวข้องในการครอบครองวัตถุระเบิดศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลย 2 คนในชั้นของการไต่สวน โดยให้เหตุผลว่า อัยการไม่สามารถที่จะหาหลักฐานเบื้องต้นมาชี้มูลผูกมัดจำเลยทั้งสองได้ จำเลยเพียงมาเยี่ยมเยียนเพื่อนเท่านั้น

ในเอกสารของทางการไทยที่บันทึกคำสั่งศาลปาเสมัสในวันนั้น ระบุว่า เจ้าของบ้านได้ให้การว่า จำหน้าจำเลยสองคนนี้ไม่ได้ และจำเลยให้การว่า มาเยี่ยมเพียงหนึ่งวันและจะเดินทางกลับ นอกจากนี้ของกลางได้ถูกเก็บไว้ที่ใต้ถุนบันไดและหลังประตูในห้องของบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งแขกคงจะไม่ได้เข้าไปในบริเวณนั้นซึ่งอยู่ลึกเข้าไป

คดีนี้จึงมีมามะคอยรีคนเดียวที่เป็นจำเลย โดยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ศาลสูงโกตาบารูได้พิพากษาให้ยกฟ้อง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยที่ไปนั่งฟังคำพิพากษาด้วย เล่าว่า นายมามะคอยรีอ้างกับศาลว่า เหตุที่ตนหลบหนีออกจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และเดินทางเข้าไปยังประเทศมาเลเซียนั้น ก็เนื่องจากมีอาการปวดหลังและปวดท้องจากการถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของไทย และได้มาพักอาศัยที่บ้านเพื่อนในมาเลเซีย ซึ่งเพื่อนคนดังกล่าวเป็นบ้านของนายอัมรานซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตที่ จ.นราธิวาสไปก่อนหน้านี้ ศาลเห็นว่านายมามะคอยรี เพียงมาอาศัยพักพิงและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดและอาวุธที่พบในบ้านดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทย ระบุว่าคำพิพากษานี้ทำให้ทางการไทย “ผิดหวังมาก” หากจำเลยทั้งสามได้รับการลงโทษ ก็จะแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะไม่สนับสนุนและให้ที่พักพิงแก่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่หลบหนีเข้าไปยังมาเลเซีย ซึ่งน่าจะส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติการของกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในชายแดนใต้

เจ้าหน้าที่คนเดิม ชี้ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ทางมาเลเซียเองจะต้องดูประเด็นเรื่องการเมืองภายในประเทศด้วย เพราะว่าทั้งพรรค UMNO ซึ่งคุมรัฐบาลกลางอยู่และพรรค PAS ซึ่งคุมรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐกลันตัน ต่างก็ต้องการแย่งฐานคะแนนเสียงของคนมุสลิม และไม่ต้องการที่จะดำเนินการใดๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อฐานเสียงของตัวเองได้ คนมลายูในภาคใต้ของไทยกับตอนเหนือของมาเลเซียมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติและร่วมชาติพันธุ์กัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือกัน คนมาเลเซียมองว่า การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชไม่ใช่การก่อการร้าย

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

นอกจากจะผิดหวังกับคำพิพากษาแล้ว ทางการไทยยังผิดหวังกับความไม่ร่วมมือของทางการมาเลเซียในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วย เจ้าหน้าที่ความมั่นคงอธิบายว่า การส่งกลับนั้นทำได้ 2 ทาง คือ หนึ่ง เป็นการส่งกลับด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งยังคงมีข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายว่าไทยกับมาเลเซียนั้นมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition Treaty) ระหว่างกันหรือไม่ ไทยชี้แจงว่า มีโดยการอ้างสนธิสัญญาที่เคยทำไว้กับอังกฤษซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของมาเลเซีย แต่ฝ่ายมาเลเซียถือว่าไม่มีผลบังคับใช้แล้ว วิธีที่สองคือการผลักดันกลับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงไทยเล่าว่า ทางการไทยส่งคนไปเฝ้าถามทุกวันว่าจะมีการปล่อยตัวจำเลยเมื่อใด แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบจากทางการมาเลเซีย

“เขาจงใจปกปิด” เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าว

ฝ่ายทหารเองก็พยายามที่จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพในการขอให้ส่งตัวกลับมา นายมูฮัมหมัดซิดีและนายมะยูไน ได้ถูกปล่อยตัวที่บริเวณชายแดนในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมาโดยทางการไทยไม่ได้รับทราบ ส่วนนายมามะคอยรี หลังจากศาลได้ยกฟ้องและสั่งปล่อยตัว เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้นำไปควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจที่ปาเสร์มัส รัฐกลันตัน ปัจจุบันไม่แน่ชัดว่าทั้งสามคนอยู่ที่ใด

Wednesday, August 1, 2012

การแก้ปัญหาใน 3 จชต. ต้องแก้ที่หัวใจ

dsc_0153

หากเกิดปัญหาใด ๆ หรือข้อขัดข้องขึ้นมา  แต่ละคนย่อมมีวิธีการจัดการกับปัญหาแตกต่างกัน ตามพื้นฐานความรู้และประสบการณ์    แต่สำหรับผม การจะแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาในที่ทำงาน ก่อนที่จะลงมือจัดการกับปัญหา ต้องรู้ที่มาหรือรากเหง้าของปัญหาให้ได้เสียก่อน เมื่อรู้ที่มาของปัญหาแล้ว จึงจะสามารถกำหนดแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไปได้

คงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่มาหรือรากเหง้าของปัญหามาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ความภาคภูมิใจต่อความเจริญและความรุ่งเรืองในอดีตของชาวมลายูมุสลิมปัตตานี

หากนึกสภาพไม่ออก ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ให้นึกถึงความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีต่อกรุงสุโขทัย หรือกรุงศรีอยุธยา ถ้าจะให้ชัดเจนก็ให้นึกถึงตอนที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึงสองครั้งสองคราว ทั้งสองครั้งมีวีรบุรุษของชาติกู้บ้านกู้เมืองกลับคืนมาได้ทั้งสองครั้ง คนมุสลิมมลายูปัตตานีเขาก็มีหัวใจเช่นเดียวกัน มีความรู้สึกเจ็บปวด มีความเคียดแค้นไม่ต่างไปจากคนไทยที่มีต่อการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้งสองครั้ง

หากไม่มีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งสองพระองค์ ป่านนี้คงมีคนไทยส่วนหนึ่งซ่องสุมกำลั้งตั้งขบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากพม่าและก็คงใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรเช่นเดียวกัน

หากไม่โดนด้วยตัวเองบ้างก็คงจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร..????

นิยายปรัมปราที่รัฐไทยพยายามเล่าขาน โฆษณาชวนเชื่อว่า มัสยิดกรือเซะสร้างไม่เสร็จเพราะถูกคำสาปจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แท้ที่จริงแล้วเป็นความเท็จทั้งสิ้น ช่างน่าขันจริง ๆ ที่กล้าเผาบ้านเผาเมืองเขาวอดวายผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรแล้ว ยังกล้าแต่งนิยายปรัมปราบีบคั้นหัวใจของคนมุสลิมอีก

โชคร้ายของชาวมลายูมุสลิมปัตตานี (แต่เป็นโชคดีของรัฐไทย) ที่ชาวมุสลิมมลายูปัตตานีไม่สามารถกระดิกพลิกตัวกู้ชาติบ้านเมืองได้สำเร็จเหมือนคนไทย ทำให้ทุกวันนี้ “รัฐปัตตานี” ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตยังคงถูกผนวกเป็นจังหวัดหนึงของ “รัฐไทย” ประชาชนเป็นได้แค่พลเมืองชั้นสองของประเทศ

ความขมขื่น แรงบีบคั้น ความกดดันที่ถูกกดทับเอาไว้นับร้อย ๆ ปีจึงระเบิดเปรี้ยงออกมาอย่างรุนแรงเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน

Tuesday, July 3, 2012

เตรียมพร้อมส่งทูต ตร.ประจำ จีน ลาว พม่า กัมพูชา

ที่มา: เดลินิวส์
วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2555 เวลา 17:01 น.

เตรียมพร้อมส่งทูตตำรวจประจำ จีน ลาว พม่า กัมพูชา เพื่อป้องกันปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติและประสานงานและแสวงหาความร่วมมือทางอาญา

วันนี้ ( 3 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการส่งข้าราชการตำรวจทำหน้าที่ประสานงานกิจการตำรวจ ณ ต่างประเทศ เพื่อป้องกันปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติและประสานงานและแสวงหาความร่วมมือทางอาญา  ครั้งที่ 1/2555 ร่วมกับ พล.ต.ท.อำนาจ  อันอาตม์งาม ผบช.ยุทธศาสตร์  พล.ต.ท.ยงยศ  นาคเฉลิม ผบช.สกพ. พล.ต.ต.พุทธิชาติ  เอกฉันท์ รองผบช.ปส.    และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองการต่างประเทศ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง   ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวภายหลังการประชุม ว่า เป็นการหารือและเตรียมความพร้อม กรณีตร.จะขออนุมัติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อ จัดส่งข้าราชการตำรวจ ไปประจำการในประเทศ พม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  กัมพูชา และ มณฑลยูนานประเทศจีนเพื่อทำหน้าที่เป็นนายตำรวจประสานงาน ด้านการปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรม และความร่วมมือทางอาญา  นอกเหนือจากการมีตำรวจสันติบาลประจำการที่ประเทศมาเลเซียที่มีอยู่แล้ว ซึ่งการส่งตำรวจไปประจำการที่ 4 ประเทศนี้ประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติผลักดัน โดยต้องการเน้นการประสานข้อมูลในเรื่องยาเสพติดโดยเฉพาะ  ทั้งนี้เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ของคณะทำงานโครงสร้างบุคคลากรของไทยที่ประจำการในต่างประเทศ ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นประธาน และต้องผ่านคณะกรรมการอีก 2 ชุด จึงนำเข้าพิจารณาใน ครม.ได้ ดังนั้นในส่วนของตร.ต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้อนุมัติเปิดตำแหน่ง นายตำรวจเพื่อไปปฏิบัติภารกิจนี้ไว้แล้วตั้งแต่พ.ศ. 2550 โดยกำหนดให้ ประเทศละ 2 ตำแหน่ง คือ รองผู้บังคับการ 1 ตำแหน่ง  สารวัตร 1 ตำแหน่ง แต่คณะกรรมการมองว่าคงไม่พอ จึงต้องพิจารณาเรื่องการจ้างพนักงานท้องถิ่นมาเป็นเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการชุดนี้จะพิจารณาด้านงบประมาณ ความคุ้มค่าเนื่องจากต้องให้งบฯมาก  โดยต้องวางกรอบภารกิจให้เหมาะสม ทั้งนี้หากครม.อนุมัติ ตร.ก็ต้องกำหนดคุณสมบัติข้าราชการตำรวจที่จะดำรงตำแหน่งนี้ ทั้งด้านภาษา ที่เบื้องต้นควรต้องมีคะแนนสอบ โทเฟล มากว่า 550 คะแนน ไอเอล มากกว่า 600 คะแนน

รองผบ.ตร. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้  ตร.กำลังเตรียมความพร้อมตำรวจในการก้าวเข้าสู่ปะชาคมอาเซียนในปี 2558  โดยมอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้อง แบ่งงานกันไปดำเนินการด้านต่างๆให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ และตามแผนปฏิบัติการของตร.  ทั้งนี้ ต้องวางระบบการรับตำรวจใหม่ และฝึกอบรมทักษะให้ข้าราชการตำรวจที่มีอยู่กว่า 200,000 คน ให้มีความพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ตร.ต้องวางระบบ เป็นเรื่องใหญ่  โดยมองว่าจากนี้ตำรวจที่อยู่ในแนวชายแดน ในพื้นที่ซึ่งติดต่อหรือใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านต้องมีทักษะภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตำรวจภูธรภาค 3 ควรต้องสื่อสารภาษากัมพูชาได้.

Wednesday, April 25, 2012

Eyes on me

  
Eyes on me เป็นเพลงโปรดมากที่สุดเพลงหนึ่งของผม  เป็นเพลง soundtrack เกมส์ Finalfantasy ภาค 8 ผมมีโอกาสได้ฟังเพลงนี้โดยบังเอิญเมื่อสิบกว่าปีก่อน รูู้สึกประทับใจทั้งท่วงทำนองและเนื้อหาความหมายของเพลง  ผมพยายามศึกษาที่มา แกะเนื้อความ แปลความหมายหัดร้องพอจะร้องคลอตามเพลงได้บ้าง
 
เนื่้อหาในเพลง มีที่มาจากในเกมคือ Julia นางเอก ที่แอบหลงรัก Laguna พระเอก ซึ่งก็ได้แต่มอง ดังนี้ครับ
 
Eyes on me..

Whenever sang my songs On the stage, on my own
Whenever said my words Wishing they would be heard
I saw you smiling at me Was it real or just my fantasy
You'd always be there in the corner Of this tiny little bar

เมื่อใดก็ตามที่ฉันได้ขับขานบทเพลงบนเวทีด้วยความรู้สึกจากหัวใจ
เมื่อใดก็ตามที่ฉันเอ่ยคำพูดใด ฉันหวังว่าพวกเขาจะได้สดับฟัง
ฉันเห็นรอยยิ้มที่คุณมีให้ฉัน เป็นความจริงหรือเพียงภาพฝันในจินตนาการ
คุณมักจะอยู่ที่นั่น ตรงมุมนั้นของบาร์เล็ก ๆ แห่งนี้

My last night here for you Same old songs just once more
My last night here with you Maybe yes, maybe no
I kind of liked it your way How you shyly places your eyes on me
Oh, did you ever know that I had mine on you

เมื่อคืนฉันมาที่นี่เพื่อจะได้เจอคุณ มายืนร้องเพลงเดิมอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อคืนฉันมาที่นี่ได้ใช้เวลาด้วยกันหรือเปล่านะ บางทีอาจใช่ บางทีก็เปล่า
ฉันชอบในสิ่งที่คุณเป็น ชอบแววตาเขินอายเมื่อยามจับจ้องมาที่ฉัน..
แล้ว ? คุณจะรู้บางไหมว่า ฉันมีใจให้กับคุณ...

Darling, so there you are With that look on your face
As if you're never hurt As if you're never down
Shall I be the one for you Who pinches you softly but sure
If frown it shown then I will know that you are no dreamer

ที่รัก ตรงนั้นมีคุณอยู่ ดูสีหน้าของคุณสิ..
ราวกับว่าคุณไม่เคยเจ็บปวด ราวกับว่าคุณไม่เคยท้อแท้
ขอให้ฉันได้เป็นใครคนนั้นเพื่อคุณจะได้ไหม ใครสักคนที่จะหยิกคุณเบา ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า
หากคุณแสดงสีหน้ารู้สึกเจ็บออกมา ฉันก็จะได้รู้ว่าคุณมีตัวตนจริง ๆ ไม่ได้ฝันไป...

So let me come to you Close as I wanna be
Close enough for me to feel your heart beating fast
And stay there as I whisper How I loved your peaceful eyes on me
Did you ever know that I had mine on you

ให้ฉันได้เข้าไปใกล้คุณ ชิดใกล้ตราบเท่าที่ฉันต้องการ
ใกล้พอ เพื่อที่ฉันจะได้สัมผัสหัวใจคุณที่กำลังเต้นแรง
และอยู่ในที่ที่ฉันจะกระซิบถึงคุณ ว่าฉันรักสายตาสงบนิ่่งคู่นั้นยามที่เพ่งมองมา
คุณจะรู้บางไหมว่า ฉันมีใจให้กับคุณ...

Darling, so share with me Your love if you have enough
Your tears if you're holding back Or pain if that was it is
How can I let you know I'm more than the dress and the voice
Just reach me out then You will know that you are not dreaming

ที่รัก ได้โปรดแบ่งปันกับฉัน กับความรักถ้าหากคุณมีอยู่อย่างเพียงพอ
กับน้ำตาของคุณหากคุณอดกลั้นมันเอาไว้ หรือกับความเจ็บปวดที่คุณมีอยู่
ฉันจะทำให้คุณรับรู้ได้อย่างไรนะ ว่าฉันมีอะไรมากยิ่งกว่าอาภรณ์ที่สวยงามและเสียงหวาน ๆ
แค่เอื้อมมือมาหาฉัน แล้วคุณก็จะรู้ว่าไม่ได้อยู่ในภวังค์แห่งความฝัน…

Darling, so there you are With that look on your face
As if you're never hurt As if you're never down
Shall I be the one for you Who pinches you softly but sure
If frown it shown then I will know that you are no dreamer

ที่รัก คุณอยู่ที่ตรงนั้น ดูสีหน้าแววตาของคุณสิ..
ราวกับว่าคุณไม่เคยเจ็บปวด ราวกับว่าคุณไม่เคยท้อแท้
ขอให้ฉันได้เป็นใครคนนั้นเพื่อคุณจะได้ไหม ใครสักคนที่จะหยิกคุณเบา ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า
หากคุณแสดงสีหน้ารู้สึกเจ็บออกมา ฉันก็จะได้รู้ว่าคุณมีตัวตนจริง ๆ คุณไม่ได้ฝันไป...

Tuesday, April 24, 2012

ระหว่างบรรทัดของคำพิพากษาคดี "อิสลามบูรพา" ทำไมศาลสั่งประหาร 5 จำเลย!

burapa

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา ศูนย์ข่าวภาคใต้

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาคดีสำคัญคดีหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นข่าวแพร่หลายนัก นั่นคือคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย 5 คนจาก 7 คนที่ถูกจับกุมพร้อมยึดอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากได้ภายในโรงเรียนอิสลาม บูรพา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชื่อดัง ตั้งอยู่ที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส

          แม้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ก็กล่าวกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า เป็นคดีที่มีการสืบพยานอย่างเป็นระบบ และเจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาได้ดีที่สุดคดีหนึ่ง ท่ามกลางกระแสความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอันสืบเนื่องจากสถิติคดี ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศาลพิพากษายกฟ้องมีมากกว่าร้อยละ 50 เฉพาะปี 2554 พุ่งไปถึงร้อยละ 78

          ทว่าคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยทุกคนที่ได้ตัวมาฟ้อง และลงโทษบทหนักสุดคือประหารชีวิต!

          ยิ่งไปกว่านั้นในคำพิพากษายังมีรายละเอียดหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การลงโทษ และยุทธวิธีตลอดจนการทำงานของกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดิน แดน ซึ่งสอดแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดของคำพิพากษาคดีนี้

เปิดคำฟ้อง

          เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมะนาเซ ยา, นายมามะคอยรี สือแม, นายแวอัสมิง แวมะ, นายโมหะหมัดซอฮีมี ยา, นายมะฟารีส บือราเฮง, นายรุสลี ดอเลาะ และนายฮารง หรือ อารง บาเกาะ เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืนฯ และความผิดต่อพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม

          คำฟ้องสรุปว่า จำเลยทั้ง 7 และ นายตอริก พีรีซี ซึ่งเป็นเยาวชนและได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือประมาณต้นปี 2547 ถึงวันที่ 2 ก.ค.2550 จำเลยทั้ง 7 กับพวกร่วมกันเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลชื่อ "ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี" หรือ "ขบวนการบีอาร์เอ็น" ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักรและยึดอำนาจการปกครองใน จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา บางอำเภอ แล้วจัดตั้งเป็นรัฐขึ้นใหม่ โดยสะสมกำลังพลและอาวุธ ให้และรับการฝึกการก่อการร้าย ยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนร่วม และก่อเหตุรุนแรงต่างๆ

          วันที่ 2 ก.ค.2550 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 7 กับพวกร่วมกันมีเชื้อปะทุไฟฟ้า 24 ดอก เชื้อปะทุชนวน 8 ดอก ซึ่งเป็นวัตถุระเบิด เมื่อนำมาประกอบรวมกับปุ๋ยยูเรีย น้ำมันเบนซิน แอมโมเนียมไนเตรท นาฬิกาข้อมือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ชุดวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และตะปูคอนกรีต จะเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ทำอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย

          พร้อมกันนี้ยังร่วมมีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 พร้อมเครื่องกระสุน อาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม.พร้อมเครื่องกระสุน และอาวุธปืนลูกซองยาว พร้อมเครื่องกระสุน ซึ่งเป็นปืนที่ไม่มีใบอนุญาต ทั้งยังร่วมกันมีเครื่องวิทยุคมนาคมเพื่อดักรับสัญญาณที่มิได้มุ่งหมายเพื่อ ประโยชน์สาธารณะด้วย

          เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1-6 ได้พร้อมอาวุธปืน เครื่องกระสุน เครื่องวิทยุคมนาคม วัตถุระเบิด อุปกรณ์ส่วนประกอบของวัตถุระเบิด ฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้ายได้ที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550 แต่ในชั้นสอบสวนและชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธ

          นอกจากนั้น ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลให้ไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส ยังได้หลบหนีจากความควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกด้วย ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 2

สรุปข้อเท็จจริง

          โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550 เวลาประมาณ 00.30 น. เกิดระเบิดที่สวนยางพาราของ นายสุข คงจันทร์ บริเวณบ้านเขานาคา หมู่ 5 ต.กะลุวอ อ.เมืองนราธิวาส นายสุขได้เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตันหยง จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจที่เกิดเหตุ พบหลุมระเบิดและหยดเลือด จึงสันนิษฐานว่าคนร้ายจะวางกับระเบิด แต่เกิดระเบิดขึ้นก่อนจนตัวเองได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 

          ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบรอยเลือดเป็นทางยาวจากหลุมระเบิดประมาณ 30 เมตร หายเข้าไปในสวนยางพาราหลังโรงเรียนอิสลามบูรพา ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร หลังจากนั้นจึงมีการระดมกำลังทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองประมาณ 80 นาย เข้าตรวจค้นโรงเรียนอิสลามบูรพา เมื่อเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน 

          ขณะเข้าตรวจค้น เจ้าหน้าที่เห็นชายกลุ่มหนึ่งวิ่งหนีเข้าไปบริเวณบ้านพัก 4 หลังทางทิศตะวันออก จึงกระจายกำลังเข้าปิดล้อม โดยบ้านหลังแรกไม่พบผู้ใดอยู่ และไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย 

          ส่วนบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมีชายกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้าไปนั้น พบจำเลยที่ 1 และ 3 นั่งหลบซ่อนอยู่ ในมือของจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม.จึงสั่งให้จำเลยวางปืนลง ค้นภายในห้องพบอาวุธปืนพกขนาด .38 อีก 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซองยาว มีดยาว และของกลางอื่นรวม 13 รายการ นอกจากนั้นทางประตูหลังบ้าน พบจำเลยที่ 6 ไม่สวมเสื้อ นั่งเหงื่อไหลอยู่ มีวิทยุสื่อสารใช้คลื่นความถี่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติวางอยู่ ห่างจากตัวไม่เกิน 1 เมตร

          บ้านหลังที่ 3 พบจำเลยที่ 4 และ 5 หลบซ่อนอยู่ใต้ผ้านวมใต้ราวแขวนผ้า ตรวจค้นภายในบ้านพบซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท ดินระเบิด และชิ้นส่วนประกอบวัตถุระเบิดหลายรายการ ในตู้เหล็กยังพบสีโป๊รถยนต์และน้ำมันเบนซินบรรจุแกลลอน

          บ้านหลังที่ 4 เป็นบ้านพักของ นายมะเปาซี มะเด็ง อุสตาซของโรงเรียนอิสลามบูรพา เป็นบ้านยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณใต้ถุนบ้านพบฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ แผ่นซีดี สว่านเจาะผิวถนนพร้อมมือบิดเพลาของเครื่องตัดหญ้า 1 ชุด พลั่วตักดินแบบมีด้าม 1 อัน ไม่มีด้าม 2 อัน โดยขณะตรวจค้น นายมะเปาซี ไม่อยู่บ้าน

          หลังการตรวจค้น เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวจำเลยที่ 1-6 และนายตอริก พร้อมของกลางไปที่ สภ.ตันหยง เพื่อแจ้งข้อหาและทำบันทึกการจับกุม เบื้องต้นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม ส่วนจำเลยคนอื่นให้การปฏิเสธ 

          ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยที่ 7 ได้ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ภายในศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อ.เมือง จ.ยะลา หลังจากถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงแจ้งข้อหาเดียวกับจำเลยที่ 1-6

เทียบหลักฐาน-คำให้การ

สรุปคำให้การของฝ่ายจำเลยทั้ง 6 คนได้ดังนี้

          1.จำเลยที่ 1 และ 4 นำสืบว่าเป็นพี่น้องกัน ก่อนเกิดเหตุ 1 วันทั้งคู่เดินทางกลับจากทำงานในประเทศมาเลเซีย พบนายโอ๊ะไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อาสาขับรถไปส่งจำเลยทั้งสองที่ อ.เมืองนราธิวาส ระหว่างทางนายโอ๊ะบอกจำเลยที่ 1 ว่าต้องไปแสดงความบริสุทธิ์ใจ จึงพาจำเลยที่ 1 และ 4 ไปที่โรงเรียนอิสลามบูรพา และพักที่บ้านภายในโรงเรียน ต่อมาถูกตำรวจหลายนายบุกเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุม

          2.จำเลยที่ 3 และ 5 นำสืบว่าเป็นเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา ในวันเกิดเหตุทั้งคู่เดินทางกลับจากทำงานที่ประเทศมาเลเซีย จะไปพบญาติของจำเลยที่ 3 ที่ จ.ปัตตานี แต่จำเลยที่ 3 ขอแวะเยี่ยมน้องชายที่โรงเรียนอิสลามบูรพา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายบุกเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุม

          3.จำเลยที่ 6 นำสืบว่าในวันเกิดเหตุไปที่โรงเรียนอิสลามบูรพาเพื่อสมัครเป็นอุสตาซ ระหว่างไปขอละหมาดที่บ้านหลังหนึ่งในโรงเรียน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายบุกเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุม

          4.จำเลยที่ 7 นำสืบว่าเป็นอุสตาซของโรงเรียนอิสลามบูรพา ในวันเกิดเหตุกำลังนำนักเรียนหญิงละหมาด ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายบุกเข้าตรวจค้นปอเนาะของนักเรียนชาย จำเลยที่ 7 ไม่สามารถเข้าไปดูได้ เนื่องจากตำรวจห้าม กระทั่งวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจค้นในโรงเรียนอีก และคุมตัวจำเลยที่ 7 ส่ง สภ.ตันหยง ก่อนส่งไปซักถามที่ศูนย์พิทักษ์สันติ

ทางด้านพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำเสนอ สรุปได้ดังนี้

          1.เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมพบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ที่เชื่อว่านำไปประกอบระเบิด) บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกของร้านอีซีทีอิเล็กทรอนิกส์ สอบถามเจ้าของร้านได้รับการยืนยันว่าจำเลยที่ 1-6 ไปที่ร้านจริง และจำเลยที่ 5 ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ร้านบ่อยครั้ง 

2.ตรวจสอบฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ พบข้อมูลการฝึกอาวุธปืน การก่อการร้ายในพื้นที่ และไฟล์เอกสารเป็นจดหมายที่ส่งถึงครอบครัวและผู้บังคับบัญชาของ นางทิพย์ภาภรณ์ ทรรศโนภาส น.ส.ยุพา เซ่งวัส และนายสมหมาย เหล่าเจริญสุข ซึ่งเป็นครูที่ถูกคนร้ายลอบสังหาร เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2550 และส่งถึงสมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส มีใจความเป็นการขอโทษที่ต้องฆ่าบุคคลทั้งสามเพื่อตอบโต้การกระทำของเจ้า หน้าที่รัฐ มีการลงชื่อท้ายจดหมายว่า "เหล่านักรบอิสลามปัตตานี"

          จากการสอบถามอดีตผู้บังคับบัญชาและญาติของครูทั้ง 3 คน ยืนยันว่าได้รับและอ่านจดหมายเหมือนกับที่พบในคอมพิวเตอร์ที่ยึดได้จริง ส่วนพนักงานไปรษณีย์ก็ให้การยืนยันว่า ซองจดหมายที่ถูกส่งถึงบุคคลดังกล่าว มาจากใน จ.นราธิวาส 

          3.การตรวจสอบฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ ยังพบเอกสารที่มีเนื้อหาโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ เอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด เครื่องควบคุมระยะไกล เครื่องวิทยุ และเครื่องตั้งเวลาดิจิตอล

  4.ผลการตรวจพิสูจน์สารระเบิดและดีเอ็นเอที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พบสารอาร์ดีเอ็กซ์ (สารประกอบระเบิดแรงสูง) ที่ผ้าขนหนูของนายตอริก กับที่พวงมาลัยและแผงคอนโซลรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน กข 4276 นราธิวาส ของจำเลยที่ 7 ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้านที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น 

          นอกจากนั้นยังพบสารประกอบระเบิดชนิดอื่นที่เสื้อและกางเกงของจำเลยที่ 2, 5 และ 6 รวมทั้งที่มือของจำเลยที่ 7 ยังพบสาร NG (ไนโตรกรายเซริน) ที่ใช้ในการทำระเบิดไดนาไมท์ สอดคล้องกับฝักแคระเบิดที่บรรจุไดนาไมท์ซึ่งถูกตรวจยึดได้

          ส่วนจำเลยที่ 1, 3 และ 4 แม้ไม่พบสารระเบิดที่เสื้อผ้าและร่างกาย แต่จากการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 ที่กระเป๋าใส่กระสุนปืนสีดำ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 2 ที่ผ้าปิดจมูกกับที่เศษผ้านวมเปื้อนคราบเลือด พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 4 ที่ด้ามมีดคัตเตอร์ 4 ด้าม กับเทปกาวสีดำพันเชื่อมสายไฟสีแดง-ดำ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 5 ที่ผ้าปิดจมูกกับที่เทปกาวพันแบตเตอรี่ และพบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 6 ที่มีดโกนหนวด

นอกจากนั้นยังพบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1-6 บนวัตถุที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันในบ้านที่เข้าตรวจค้นจับกุม แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีความเคลื่อนไหว จับต้อง ครอบครอง หรือเข้าใช้งานวัตถุเหล่านั้น รวมทั้งอยู่อาศัยในบ้านที่ถูกตรวจค้นมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งแวะเข้าไปตามคำให้การ

          ส่วนของกลางที่เป็นวัตถุระเบิด อุปกรณ์ประกอบ อาวุธปืน และวิทยุคมนาคมที่ยึดได้ ก็วางไว้อย่างเปิดเผย ไม่ได้ถูกเก็บซ่อนอย่างมิดชิด เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1-6 จะไม่เห็น หรือไม่รู้ถึงการมีอยู่ของวัตถุผิดกฎหมายดังกล่าว

          5.โรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นโรงเรียนประจำ มีครูเวรสลับกันทำหน้าที่ตรวจตราตั้งแต่เช้าถึง 23.00 น.ของทุกวัน มีการจัดระบบดูแลรักษาความปลอดภัยภายในโรงเรียน บุคคลภายนอกเข้าไปอาศัยอยู่ได้ย่อมต้องได้รับความช่วยเหลือหรือยินยอมจากผู้ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นอุสตาซของโรงเรียน รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1-6 เข้าไปอยู่ในบ้านหลังที่ถูกตรวจค้นจับกุม

          6.ผลการตรวจสอบข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ 17 เครื่อง พบการติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ จ.นราธิวาส

ความเห็นศาลและคำพิพากษา

          1.เชื่อว่าจำเลยที่ 1-5 และ 7 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ความรุนแรงอันเนื่องมาจากการก่อการ ร้ายในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิด โดยเป็นสมาชิกของขบวนการก่อการร้ายที่มีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดนของราช อาณาจักรไทย

          2.เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติ จำเลยที่ 3-5 เป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการ จำเลยที่ 7 ดูแลรับผิดชอบทางการเงิน และปลุกระดมเยาวชน โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนอิสลามบูรพา 

          3.ในทางการนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 เข้าไปมีส่วนร่วมกระทำความผิด คงมีความผิดเพียงการครอบครองอาวุธปืนและวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต

          4.คำเบิกความของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์ให้ประจักษ์ และพยานที่อ้างถึงก็ล้วนเป็นญาติสนิท คู่สมรส เพื่อนบ้าน และคนรู้จักใกล้ชิดคุ้นเคย จึงมีข้อตำหนิให้ระแวงสงสัยว่าเบิกความไปเพื่อช่วยเหลือให้พ้นผิดหรือไม่ และไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

          5.พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3-7 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีวัถตุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันทำ มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันดักรับไว้ใช้ประโยชน์ซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อ ประโยชน์สาธารณะ จำคุกจำเลยที่ 1, 3-5 และ 7 คนละ 1 ปี

  ฐานร่วมกันก่อการร้ายและเป็นซ่องโจร เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1, 3-5 และ 7 อุกอาจ ร้ายแรง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม สมควรลงโทษสถานหนัก ให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 6 จำคุก 27 ปี

---------------------------------------------------------------------------------------------------------บรรยายภาพ : อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยึดได้จากบ้านพักภายใน โรงเรียนอิสลามบูรพา ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ประกอบระเบิด

Monday, April 2, 2012

เหตุคาร์บอมบ์!'การข่าว-คุมเข้มพื้นที่'อ่อน

5baacbkgjdbdiajjf5gib

ที่มา: คมชัดลึก

เหตุคาร์บอมบ์!'การข่าว-คุมเข้มพื้นที่'อ่อน : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) โดย สมถวิล เทพสวัสดิ์

เหตุการณ์ "คาร์บอมบ์" ที่ภาคใต้ในพื้นที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดเหตุมา เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายร้อยคน ที่สำคัญเป็นการก่อเหตุที่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บมากที่สุด

หลายคนสงสัยถึงสาเหตุของการเกิดเหตุรุนแรงในครั้งนี้มีมูลเหตุมาจากอะไร

ในมุมมองของ "พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์" อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงถึงความอ่อนแอด้านการข่าว และการดำเนินการด้านการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร

ส่วนมูลเหตุจูงใจในการเกิดเหตรุนแรงในครั้งนี้ "พล.ท.นันทเดช" มองว่า ผลมาจากนำการเมืองเข้าไปแทรกแซง ทั้งเรื่องการแต่งตั้งตัวบุคคลที่เข้าไปทำงานในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ที่นำกลุ่มและพวกพ้องเข้าไปดำเนินการในพื้นที่โดยไม่ดูเรื่องความเชี่ยวชาญ และความเข้าใจในพื้นที่ รวมทั้งเรื่องนครรัฐปัตตานี หรือกรณีที่รัฐบาลออกมาโฆษณาเรื่องการส่งคนไปเจรจากับแกนนำพูโลยังประเทศ เพื่อนบ้าน เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุจูงใจให้เกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ขึ้น

"อย่าลืมว่าการไปเจรจาไม่มีใครอ้างตัวเป็นแกนนำของกลุ่มไหนได้ เพราะกลุ่มโจรลักษณะนี้มีหลายกลุ่มและไม่ขึ้นตรงต่อกัน การไปเจรจากลุ่มพูโลนอกประเทศก็ไม่ได้ครอบคลุมโจรกลุ่มอื่น"

เหตุการณ์คาร์บอมบ์ครั้งนี้แม้จะมีประชาชนบาดเจ็บนับร้อยในมุมมองของ "พล.ท.นันทเดช" เห็นว่า ที่เน้นไปที่กลุ่มประชาชน เพราะต้องการให้เป็นข่าวใหญ่ และเหตุการณ์คาร์บอมบ์ในประเทศไทยก็มีมานาน แต่แรงระเบิดไม่รุนแรงเท่ากับก่อการร้ายสากล เพราะถ้ารุนแรงขนาดนั้นตึกที่ก่อเหตุต้องพังลงมาด้วย   

"เหตุบ้านเรายังไม่หนักหนาขนาดเทียบเท่าก่อการร้ายสากล และส่วนตัวก็มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในวิสัยที่สามารถป้องกันได้ แต่การข่าวและการป้องกันเหตุของเจ้าหน้าที่อ่อนแอ การตรวจรถเข้าออก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเข้มงวด จะเห็นว่ารถที่วางระเบิดถูกขโมยจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยแจ้งหายไว้ เราต้องจัดระบบจุดตรวจให้เข้มงวด ติดตั้งกล้องวงจรปิด จะได้รู้การเข้าออกพื้นที่ สามารถนำภาพมาดูย้อนหลังได้" อดีตผู้อำนวยการ ศรภ.แสดงความเห็น

ส่วนข้อสังเกตที่ระบุว่าอาจมีกลุ่มขบวนการก่อการร้ายนอกประเทศให้การสนับ สนุน "พล.ท.นันทเดช" เห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ดูจากลักษณะก่อเหตุแม้จะรุนแรงกว่าทุกครั้ง แต่ก็ไม่รุนแรงเท่าที่ก่อการร้ายสากลเคยก่อการ แต่น่าจะเกี่ยวโยงกับกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปรับวิธีการข่าวและระบบการดูแลรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์รุนแรงลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน

(หมายเหตุ : เหตุคาร์บอมบ์!'การข่าว-คุมเข้มพื้นที่'อ่อน : สัมภาษณ์พิเศษ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์  อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) โดย สมถวิล เทพสวัสดิ์)

Monday, March 26, 2012

นักวิชาการสวีเดนค้นพบ ปกครองตนเอง ทางแก้ความขัดแย้งที่ยั่งยืน

ที่มา: ประชาไท

Mon, 2012-03-26 00:37
นวลน้อย ธรรมเสถียร กลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น

รุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
ฮัสซัน โตะดง
อารีด้า สาเม๊าะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถารการณ์ภาคใต้ (DSJ)

นักวิชาการจากสวีเดนระบุ ผลการศึกษาสถิติชี้ชัด ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งความสูญเสียจากความรุนแรงเหล่านั้นกำลังลดลงโดยภาพรวม ขณะในชายแดนใต้ของไทยสวนกระแสในเอเชียตะวันออกที่กลายเป็นภูมิภาคที่สงบมากกว่าที่อื่นๆ

Isak Svensson

อนุสนธิจากการที่ผู้จัดงานวันสื่อทางเลือกหนล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 มีการเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอแซค สเวนซัน (Isak Svensson) นักวิชาการจากภาควิชาการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน เข้าร่วมวงเสวนา เรื่องบทบาทสื่อทางเลือกในการสร้างสันติภาพ

ไอแซค สเวนซัน ได้ประเมินภาพความขัดแย้งไว้สั้นๆ อย่างน่าสนใจ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จึงได้นัดหมายพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อหาคำอธิบาย เรื่องแนวโน้มของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ ที่ได้จากการศึกษาของนักวิชาการรายนี้จากโครงการที่กำลังเดินหน้าในนิวซีแลนด์ 

ไอแซค สเวนซัน ซึ่งศึกษาเรื่องของปัญหาความขัดแย้ง ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยืนยันว่า แม้ตัวเลขจากการศึกษาอาจจะขัดกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่ยังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่สถิติแสดงให้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ความขัดแย้งชนิดที่มีการใช้กำลังและความสูญเสียที่เกิดจากความขัดแย้งประเภทนี้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก กำลังลดลง 

และที่ลดนั้น มิใช่เพราะความขัดแย้งนั้นๆ กลายรูปไปเป็นความขัดแย้งชนิดอื่นแต่อย่างใด

การศึกษาของสเวนซัน ตีกรอบความขัดแย้งไว้ที่ประเภทของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังหรืออาวุธ และเป็นความขัดแย้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ตั้งแต่ปีละ 25 คนขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ ซึ่งถือว่า เป็นความขัดแย้งในระดับย่อย

หากมีผู้เสียชีวิตระดับปีละนับพันคนขึ้นไปถือได้ว่าเป็นสงคราม การให้คำจำกัดความดังกล่าวนี้ สเวนซันระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และไม่เกี่ยวข้องกับคำจำกัดความ ตามข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับความขัดแย้งประเภทที่มีการใช้กำลัง (armed conflict) นี้ ไอแซค สเวนซัน ขยายความว่า มักจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ อาจจะเป็นการใช้อาวุธทั้งคู่หรือมีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ใช้อาวุธ โดยที่อีกฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำ กับอีกแบบคือ คู่กรณีที่ไม่ใช่รัฐทั้งคู่

ความขัดแย้งที่มีรัฐเป็นคู่กรณีและเป็นความขัดแย้งแบบมีการใช้กำลังมักเป็นรูปแบบของความขัดแย้งที่ได้รับความสนใจและหลายฝ่ายพยายามสนับสนุนให้มีการแสวงหาหนทางยุติ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งแบบนี้มักจะเป็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมาก

การศึกษาความขัดแย้งที่เริ่มจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สเวนซัน พบว่า ความขัดแย้งที่ศึกษาในระยะต้นๆ เป็นความขัดแย้งชนิดที่เข้มข้นมาก มีความสูญเสียมาก หลังจากสงครามโลกสงบ ความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันเพิ่มจำนวนขึ้น ทว่าความเข้มข้นเริ่มลดลง 

จำนวนของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังนั้น สถิติระบุไว้ว่า มีมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2534 - 2535 ก่อนจะเริ่มลดลง ความขัดแย้งที่ปรากฏมากดังกล่าวนี้ เป็นความขัดแย้งระดับย่อย ซึ่งสเวนซันระบุว่า กลายเป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน ในขณะที่สงครามโลกสร้างความสูญเสียอย่างมากเพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ และมีผู้เข้าร่วมในความขัดแย้งหรือสงครามอันนั้นหลายราย

“ยิ่งมีผู้สนับสนุนจากภายนอกมาก ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงและมีโอกาสเกิดความสูญเสียมาก” 

นอกจากสงครามโลกแล้ว ตัวอย่างอื่นที่เป็นความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังที่สร้างความสูญเสียมาก ล้วนมีลักษณะคล้ายกัน เช่น สงครามเกาหลี การปราบกบฏในจีน สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามในคองโก อัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เข้มข้น และมีคู่ความขัดแย้งเป็นรัฐ หรือเป็นรัฐขนาดใหญ่ และการมีคนนอกให้การสนับสนุน เช่น ในสงครามเกาหลีที่มีมหาอำนาจหนุนหลัง เป็นต้น

ความขัดแย้งที่รัฐเป็นคู่กรณี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจรัฐ กล่าวคือใครควรจะได้เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองนั้น และควรใช้ในลักษณะใด หรือไม่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นการเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง

สเวนซัน ชี้ว่า สาเหตุทั้งสองประการนี้เป็นเหตุผลหลักของความขัดแย้ง ที่เป็นกรณีศึกษาหลักระหว่างช่วงปี พ.ศ.2489 -2554 ด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม สเวนซัน กล่าวด้วยว่า ในระยะหลังความขัดแย้งประเภทที่รัฐเป็นคู่กรณีนั้นมีจำนวนที่ลดลง

ในแง่ของปัจจัยที่จะช่วยระงับหรือยุติความขัดแย้ง เงื่อนไขหลักๆ ที่ผู้ศึกษาพบมี 4 ประการด้วยกันคือ 

หนึ่ง มีการใช้กองกำลังต่างชาติเข้าไปรักษาสันติภาพ 

ถัดมาคือการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจจะมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับนำลงไปจนถึงระดับประชาชน 

ประการที่สาม คือ เมื่อมีการตกลงกันได้ ให้ใช้ระบบแบ่งปันอำนาจบริหารร่วมกันระหว่างคู่ความขัดแย้ง (power sharing) 

และประการสุดท้าย ก็คือ การได้อำนาจปกครองตนเอง ซึ่งโดยอีกนัยหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการแบ่งปันการใช้อำนาจบริหารร่วมกันประเภทหนึ่ง  

ทางออกแต่ละอย่าง มีน้ำหนักและความเป็นไปได้แตกต่างกันไป แล้วแต่สถานการณ์และไม่มีคำตอบตายตัวว่า ความขัดแย้งประเภทใดจะต้องใช้ทางออกแบบใด 

แต่ไม่ว่าจะลงเอยที่ทางแก้ไขแบบไหน สเวนซัน บอกว่า สิ่งที่จะทำให้หนทางสันติภาพนั้นยั่งยืน ก็คือการที่ต้องมีคู่กรณีร่วมอยู่ด้วยในการแสวงหาสันติภาพนั้น และด้วยเหตุดังนั้น การแบ่งปันอำนาจหรือการให้อำนาจปกครองตนเอง จึงมักเป็นทางออกที่ยั่งยืนมากกว่า

แต่การที่คู่กรณีหรือสถานการณ์จะอยู่ในสภาพสุกงอม พร้อมสำหรับการหาทางยุติความขัดแย้งได้นั้น สเวนซัน ชี้ว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งแต่ละกรณีไป บางครั้งความขัดแย้งนั้นกินเวลาไม่นานแค่ปีเดียว คู่กรณีก็อยู่ในสภาพพร้อมจะหาทางออกหรือข้อยุติได้

แต่หลายครั้ง ความขัดแย้งนั้นกินเวลายืดเยื้อยาวนาน กว่าที่แต่ละฝ่ายจะยินยอมพร้อมใจร่วมมือแสวงหาสันติภาพ 

ที่เป็นเช่นนี้ นักวิชาการสวีเดนรายนี้ชี้ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า คู่กรณีหรือคู่ความขัดแย้งจะมองเห็นผลเสียที่เกิดอันเนื่องมาจากความขัดแย้งนั้นว่า มากเกินกว่าที่จะรับได้หรือยัง หากคู่กรณีรู้สึกว่าต้นทุนของการสานต่อความขัดแย้งนั้น แพงและหนักเกินกว่าจะรับได้ ก็จะรู้สึกว่าต้องการแสวงหาทางออกมากขึ้น

ประชาชนทั่วไปเอง ก็สามารถมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการแสวงหาทางออกและสันติภาพได้ สเวนซัน ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของประชาชนในกรณี นอร์ทเทิร์นไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ ที่ได้ลงประชามติหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่นั่นที่กินเวลายาวนาน

สเวนซัน เผยว่า เขากำลังจะเริ่มศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับความขัดแย้งที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ มันทำให้ประเทศไทยเดินสวนทางกับแนวโน้มของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเมื่อมองโดยเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่า มีสันติภาพมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

Saturday, March 17, 2012

ครบรอบ2ปีการจากไปของ “จ่าเพียร”

jeh695i9dbbf9a9gba6kc

ที่มา: คมชัดลึก

ครบรอบ2ปีการจากไปของ'จ่าเพียร'

ทำบุญครบรอบ 2 ปี การจากไปของ “จ่าเพียร” ด้าน 'ผกก.บันนังสตา' สร้างแนวคิดหวังให้เกิดสันติสุขในพื้นที่

13 มี.ค.55 ที่สถานีตำรวจภูธร อ.บันนังสตา จ.ยะลา  พ.ต.อ.สุวัตต์ วงศ์ไพบูลย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร บันนังสตา เปิดเผยถึง การทำงานในช่วง หลัง 2 ปี แห่งการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.สมพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภบันนังสตา เมื่อ วันที่ 12 มีนาคม 2553 ว่า หลังจาก อดีต ผกก.สมเพียร ได้เสียชีวิตลง ตนเองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้มาปฎิบัติหน้าที่ เป็น ผกก.สภ.บันนังสตา แทน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย 53

ขณะที่มาปฎิบัติหน้าที่ นั้น พื้นที่ อ.บันนังสตา มีกลุ่มผู้ก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ระเบิด ซุ่มโจมตี และมีการเสียชีวิตทั้งผู้กองแคน ผู้พันเขียว หมวดตี้ ในพื้นที่บันนังสตา และ คนสุดท้ายก็เป็น พ.ต.อ.สมพียร และพ.ต.อ.โสภณ อินทรบวร (พลขับ) ซึ่งช่วงที่ตนมาปฎิบัติหน้าที่ใหม่ๆ ก็มีความเครียดในหลายเรื่อง และยังเกิดความระส่ำของลูกน้อง ซึ่งไม่มีหัวหน้า รวมทั้ง ตนเองก็ยังคิดว่าจะปฎิบัติหน้าที่ได้เหมือนผู้กำกับฯ สมพียร ได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรที่จะคืนความสงบสุขแก่ อ.บันนังสตา จึง ได้มีการประชุม ร่วมพูดคุยกับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยได้นำนโยบายของ ศชต. “เข้มแข็ง อำนาจรัฐ ปฎิบัติยุติธรรม เลิศล้ำงานมวลชน” มาใช้ ในการปฎิบัติงานในพื้นที่ อ.บันนังสตา แทน ซึ่ง อาจจะแตกต่างไปจากผู้กำกับฯ สมเพียร พร้อมนำแนวทางสันติ มวลชนสัมพันธ์ มาทำงาน โครงการแรกที่ได้เริ่มทำงาน คือ โครงการร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว และใช้นโยบายว่า ไม่ว่าจะเป็นตำรวจสืบสวน ตำรวจปราบปราม ตำรวจจราจร หรือ ผกก.เอง ก็ต้องมีงานมวลชนเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังได้กำหนดโครงการอีกหลายโครงการ เช่น โครงการตำรวจ วัด มัสยิด ร่วมคิด ร่วมสร้าง ทางสันติ รวมทั้ง โครงการกลับบ้านเรารักรออยู่ ซึ่งโครงการนี้ มี ผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับแกนนำ เข้ามามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก

“จะเห็นได้ว่าจากการที่ได้นำงานมวลชนมาใช้ คดีความมั่นคง ปี 2553 ถึงปี 2554  สามารถลด คดีด้านความมั่นคง ได้ 27 คดี ใน ปี 2554 โดยใช้ตัวชี้วัด ทั้งปริมาณ คดีลดลง และคุณภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือ จากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ให้ความร่วมมือ ในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติด คนร้าย รวมทั้ง ได้รับความร่วมมือจากหน่วยกำลังในพื้นที่ ในการนำกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เข้ามาแสดงตัวมารายงานตน นอกจากนั้น ยังได้นำนโยบายของ ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 นโยบาย ของ ผบช.ศชต.มาใช้ ซึ่งพบว่า ได้รับความพึงพอใจจากทางญาติ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ได้นำบุคคลเหล่านี้ มามอบตัวกับทาง เจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน อ.บันนังสตา มีร้านค้าเพิ่มขึ้น และมีความครึกครื้น กว่าเดิม ซึ่งโครงการต่างๆ ที่ สภ.บันนังสตา ได้ นำมาใช้ ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ปกครอง โดยเฉพาะ ทหารพราน ในพื้นที่  ทำให้เหตุการณ์ในพื้นที่ อ.บันนังสตา มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น” ผกก.สภ.บันนังสตา กล่าว

พ.ต.อ.สุวัตต์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนงานด้านการปราบปรามนั้น ทางสภ.บันนังสตา ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง มีการเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย ติดตามจับกุม กรณีมีเป้าหมายก็ยังดำเนินการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยยึดใช้กฎหมายเป็นหลัก หาพยานหลักฐาน และนำนิติวิทยาศาสตร์มาช่วย เรื่องออกนอกกรอบของกฎหมายก็จะไม่ทำ ซึ่งถ้าใช้ วิธีนี้ จะทำให้มี เงื่อนไขไม่สิ้นสุด และจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่

ด้าน ส.ต.อ.กิตติวุฒิ ปาแว ผบ.หมู่ (ป) สภ.บันนังสตา/ปฎิบัติงานด้านมวลชนสัมพันธ์ ซึ่งปฎิบัติงานร่วมกับ พ.ต.อ.สมพียร ตั้งแต่ปี 2547 กล่าวว่า ท่าน ผกก.สมเพียร เป็นคนทุ่มเท กับการทำงานและไม่เคยทอดทิ้ง ลูกน้อง ท่านจะเน้นในเรื่องของการปราบปรามเป็นหลัก ที่ผ่านมาหลัง ผกก.จากไป ทุกคนที่ได้ร่วมงานกับ ท่าน รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก ส่วน ท่าน ผกก.สุวัตต์ นั้น ท่านจะเน้นงานมวลชนสัมพันธ์ เป็นหลัก ให้เกียรติกับชาวบ้านให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกศาสนา และมีโครงการที่เน้นด้านงานมวลชนเป็นหลักปฎิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยม มัสยิด ผู้นำศาสนา ประชาชนในพื้นที่ โดยการเข้าไปแต่ละครั้งก็จะไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และนำตำรวจที่นับถือศาสนาอิสลามไปร่วมละหมาด ร่วมพบปะพูดคุย โดยจะนำเจ้าหน้าที่ทหาร ปกครอง ไปด้วย จึงทำให้บันนังสตา ทุกวันนี้ เหตุการณ์เบาบางลงไป        

Wednesday, March 14, 2012

อำเภอบันนังสตาวันนี้..

IMG_8264
 
อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  เราสูญเสียวีรบุรุษของชาติไปมากมากหลายท่าน ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือ "ผู้กองแคน"   ร.ต.ต.กฤติกุล บุญลือ หรือ "หมวดตี้"  และ "จ่าเพียร" พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา รวมทั้งวีรบุรุษนิรนามของชาติอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม

ในปัจจุบัน เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ทุเลาเบาบางลงไปมาก อำเภอบันนังสตาในวันนี้ ไม่น่ากลัวเช่นเมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว  ด้วยเหตุผลหลายประการ  ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแนบแน่นระหว่างกองกำลัง 3 ฝ่ายทั้ง พลเรือน ตำรวจ ทหาร รวมทั้งประชาชน  การลดปัจจัยเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละฝ่าย  การรุกด้วยงานมวลชน  การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นบ้างประปราย แม้ว่าฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจะยังคงดำรงความมุ่งหมายในการก่อเหตุรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วได้ช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ทำให้พื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กลับมามีความสงบสุขอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่งกระทั่งปัจจุบัน
 
การที่จะรักษาความสงบสุขในพื้นที่อำเภอบันนังสตาได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องตลอดไป แต่ละฝ่ายจะต้องยอมรับในเอกภาพของความต่าง มีความเข้าอกเข้าใจกัน  การแก้ปัญหาจะต้องกระทำด้วยความอดทนอดกลั้น  ให้ความสำคัญกับงานมวลชนและการรุกทางการเมือง งานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ ด้วยการเอาชนะความคิดและจิตใจ “heart and mind” เพื่อแยกน้ำออกจากปลา  ดึงผู้รู้ ผู้นำ ศาสนา หรือผู้นำท้องถิ่นมาเป็นพวก การเผยแพร่ความรู้หรือหลักการศาสนาที่ถูกต้อง
 
ผมเชื่อว่า หากเราสามารถดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง อำเภอบันนังสตา จะกลับคืนมามีความสงบสุขดังเดิมในที่สุด…

Thursday, March 1, 2012

รายการ “ร้อยใจไทย…ใต้ร่มเย็น” สภ.บันนังสตา ทาง ททบ.5

IMG_1039

เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทีมงานรายการ “ร้อยใจไทย…ใต้ร่มเย็น” ซึ่งออกอากาศทาง ททบ.5 เป็นประจำทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลา 11.50 – 11.55 น. ได้โทรศัพท์ติดต่อประสาน พ.ต.อ.สุวัตต์ วงค์ไพบูลย์ ผกก.สภ.บันนังสตา เพื่อส่งทีมงานเดินทางมาถ่ายทำสารคดีกิจกรรมงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ของ สภ.บันนังสตา  ซึ่งต่อมาเมื่อระหว่างวันศุกร์ที่ 10 - วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ทีมงานของรายการฯ ได้เดินทางมาถ่ายทำสารคดีกิจกรรมงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ของ สภ.บันนังสตา จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยจะทยอยออกอากาศเป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้                          

                   ตอน                                               วันที่ออกอากาศ

1. โครงการร้อยใจไทยเป็นหนึ่งเดียว                                    5 มี.ค. 2555
2. โครงการตำรวจ วัด มัสยิด ร่วมคิดร่วมสร้างทางสันติ           6 มี.ค. 2555
3. โครงการครู 5 นาที สภ.บันนังสตา                                   9 มี.ค. 2555
4. โครงการตำรวจบันนังสตายิ้ม                                          12 มี.ค. 2555.
5. โครงการประชาสัมพันธ์และตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด     13 มี.ค. 2555
6. โครงการกลับบ้านเรารักรออยู่                                          14 มี.ค. 2555
7. การสร้างจิตสำนึกของนักเรียน ร.ร.บ้านตะบิงติงงี               15 มี.ค. 2555
8. สภานักเรียน ร.ร.บ้านตะบิงติงงี อ.บันนังสตา จ.ยะลา          16 มี.ค. 2555
9. โครงการกลับบ้านเรารักรออยู่                                           19 มี.ค. 2555

ผู้สนใจสามารถติดตามชมรายการ “ร้อยใจไทย…ใต้ร่มเย็น” ซึ่งถ่ายทอดกิจกรรมงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ของ สภ.บันนังสตา  ในแง่มุมต่าง ๆ ได้ตามวันและเวลาดังกล่าวครับ

Tuesday, February 28, 2012

ตร.ไทย-มาเลย์ จับมือกวาดล้างก่อการร้าย-อาชญากรรมข้ามชาติ

555000002807201

ตำรวจมาเลเซีย ลงนามข้อตกลงปราบปรามอาชญากรรมร่วมกับตำรวจไทยใน 11 ปัญหาหลักทั้ง “ก่อการร้าย-ค้ามนุษย์-ค้าอาวุธ-ยาเสพติด” ขณะที่ ผบ.ตร.มาเลเซีย ย้ำ อาชญากรรมข้ามชาติเป็นภัยคุกคามหลัก ชี้ หากทั้ง 2 ประเทศปรับรูปแบบกวาดล้างจะทำให้ยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นได้

       วันนี้ (28 ก.พ. 2555) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.ฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และ อิค ตันศรี อิสมาอิล บิน ฮัจญี โอมาร์ ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย ฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนตำรวจมาเลเซีย แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันในระดับผู้บริหารระหว่างตำรวจไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 21 โดยฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้มีการลงนามในการทำข้อตกลงร่วมกันในการหารือทั้งหมด 11 เรื่อง ได้แก่ การก่อการร้าย การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าอาวุธ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามแนวชายแดน ความคืบหน้าในการส่งคืนของกลางระหว่างสองประเทศ การประสานงานด้านการข่าว การกระทำความผิดด้านการข่าว การกระทำผิดในน่านน้ำ และการกระทำอันเป็นโจรสลัด การสนับสนุน และประสานให้ความร่วมมือในการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลตามจุดผ่านแดนต่างๆ และดำเนินการแจ้งข้อพิรุธที่ตรวจพบให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร และคณะกรรมการความร่วมมือด้านอาชญากรรมประเภทต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมถึงพัฒนาด้านศักยภาพในการร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของทั้ง 2 ประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการพูดถึงการส่งตัวนาย Masoud Sedaghatzadeh อายุ 31 ปี ที่หลบหนีไปประเทศมาเลเซียแต่อย่างใด

       พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ กล่าวว่า หลังจากได้ลงนามในข้อตกลงระหว่างกันแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซียต้องทำงานร่วมกัน โดยต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานก็ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาโดยตลอด ซึ่งทุกอย่างดำเนินการร่วมกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว

       ด้าน นายอิค ตันศรี อิสมาอิล บิน ฮัจญี โอมาร์ ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ โดย ประเด็นที่หารือจะเป็นในด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีรูปแบบการก่ออาชญากรรมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้ในการก่ออาชญากรรม

       “ตำรวจเองต้องปรับปรุงรูปแบบการปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะด้านยาเสพติดและการลักลอบค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งได้หาวิธีทางในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกันให้เป็นรูปธรรม โดยตำรวจไทยและมาเลเซียได้หาวิธีการเรียนรู้ร่วมกัน หากตำรวจเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการปราบปรามอาชญากรรมได้ จะทำให้ยับยั้งอาชญากรรมและอาชญากรข้ามชาติได้” ผบ.ตร.มาเลเซีย กล่าว

ที่มา: ตร.ไทย-มาเลย์ จับมือกวาดล้างก่อการร้าย-อาชญากรรมข้ามชาติ

Friday, February 10, 2012

กิจกรรมโครงการครู 5 นาที โดยสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา

1328882007

นายวันชัย  หวังสวาสดิ์ ผอ.รร.บ้านตะบิงติงงี ได้ต้อนรับ พ.ต.อ.สุวัตต์  วงค์ไพบูลย์ ผกก.สภ.บันนังสตา พ.ต.ท.ศุภชัช  ยีหวังกอง  รอง ผกก.ป.สภ.บันนังสตา นายศราวุธ นิลการญจน์ ปลัดอำเภอบันนังสตา พร้อมด้วยคณะ มาร่วมกันจัดกิจกรรมโครงการครู 5 นาที โดยให้ความรู้เรื่องวินัยจราจร พร้อมดนตรีโฟล์คซองจากพี่ตำรวจที่สร้างความสุขให้กับน้อง ๆ บริการตัดผมให้กับนักเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมที่สานสัมพันธ์ให้เยาวชนมีความรู้สึกที่เป็นมิตรต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจฯ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในระยะยาว โดยการบูรณาการแบบภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กรของภาครัฐที่มีหน้าที่ปกป้องประเทศชาติกันทุกภาคส่วน 

ทั้งนี้จะมีการออกอากาศทาง ททบ.5 รายการร้อยใจไทย ใต้ร่มเย็น เวลา 11.50 น.ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ หรือติดตามรายการย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/ร้อยใจไทยใต้ร่มเย็น 

ศิริวรรณ แก้วทอน:ถ่ายภาพ/สุชาดา จารงค์:ข่า

Saturday, February 4, 2012

โครงการจัดตั้งวงดนตรีโฟล์คซอง สภ.บันนังสตา

“ที่นี่ไม่มีครู” โดย พ.ต.อ.สุวัตต์ วงค์ไพบูลย์ ผกก.สภ.บันนังสตา
“คนตีเหล็ก” โดย พ.ต.อ.สุวัตต์ วงค์ไพบูลย์ ผกก.สภ.บันนังสตา
ในช่วงระยะเวลา 4 – 5 ปีที่ผ่านมา  เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในอำเภอบันนังสตา อย่างรุนแรง และต่อเนื่อง ต้องสูญเสียชีวิตข้าราชการตำรวจ ทหาร ประชาชนไปเป็นจำนวนมาก  ล่วงเข้ามาจนกระทั่งในปี 2553 – ปัจจุบัน  สถิติการเกิดเหตุความรุนแรงต่าง ๆ มีแนวโน้มลดลง  สถานการณ์ในอำเภอบันนังสตา เริ่มดีขึ้น  ประชาชนให้ความร่วมมือกับทางราชการมากขึ้น….
พ.ต.อ.สุวัตต์ วงค์ไพบูลย์ ผกก.สภ.บันนังสตา จึงได้ริเริ่มให้จัดตั้งวงดนตรีโฟล์คซอง สภ.บันนังสตา ขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการเชื่อมโยงระหว่างตำรวจกับประชาชน  โดยการรวมตัวกันด้วยความสมัครใจของข้าราชการตำรวจ สภ.บันนังสตา  ซึ่งจะได้พัฒนาฝีมือเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาชนในโอกาสต่อไป

Wednesday, February 1, 2012

จ่าเขียวพบน้อง ที่ ร.ร.บ้านตาเนาะปูเต๊ะ เมื่อ 31 ม.ค. 2555


พวกเราไม่ได้คิดอะไรใหญ่เกินตัว แค่เพียงอยากเห็นรอยยิ้มเล็ก ๆ อันใสบริสุทธิ์ของน้อง ๆ จะช่วยถักทอเป็นสายใยนำความรักความผูกพันธ์และความสงบสันติสุขกลับคืนมาสู่อำเภอบันนังสตาในที่สุด....

Friday, January 27, 2012

ที่ปรึกษาทูตมะกันพบผบ.ตร.

9302

ที่มา: ที่ปรึกษาทูตมะกันพบผบ.ตร.

วันนี้ (25 ม.ค.)  ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)  พล.ต.อ.เพรียวพันธ์  ดามาพงศ์ ผบ.ตร.
ให้การต้อนรับ ดาโต๊ะนาซีรา ฮัสเซน  เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐมาเลเชีย ประจำประเทศไทย  และคณะ   ซึ่งเข้าพบเพื่อแนะนำตัวและแสดงความยินดีเนื่องในโอกาส พล.ต.อ.เพรียวพันธ์  รับตำแหน่งผบ.ตร. และ นำจดหมายเชิญผบ.ตร. ไปร่วมงานนิทรรศการและ การประชุมด้านการป้องกันประเทศของเอเชีย ครั้งที่ 13 ประจำปี 2012  ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซียระหว่างวันที่ 16-19  เม.ย.

จากนั้นเวลา 11.30 น. ให้การต้อนรับ นายลอนดี ออกัสตินบอร์จ ที่ปรึกษาอาวุโสประจำเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และ นายเอ็ดเวิร์ด แฮนสัน รองที่ปรึกษาสำนักงานปรึกษาพิเศษ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ กล่าวถึงการที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯเข้าพบว่า  นายลอน ดี มาพบเพื่อนัดหมายว่าพล.อ. เดวิด เอช พี เทรอัส  ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง ของสหรัฐ หรือซีไอเอ  จะมาพบที่ตร.ในวันที่ 6 ก.พ.ระหว่างเยือนไทยในระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. นี้ โดยทางซีไอเอ ได้ตั้งประเด็นที่จะพูดคุยกัน 2-3 เรื่อง ซึ่งไม่ลึกลับซับซ้อนอะไร โดยได้แจ้งว่าเหตุการณ์ทุกอย่างขณะนี้เรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร

ถามว่าการที่ระดับผอ.ซีไอเอมาพบ ผบ.ตร.ส่งนัยด้านความมั่นคงหรือไม่ ผบ.ตร. กล่าวว่าคงเป็นการคุยกันเรื่องทั่วๆไป เช่นการให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบการข่าว

ถามว่าสืบเนื่องจากการจับกุมนายอาทริส ฮุสเซน ชาวเลบานอน หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ก็คงมีส่วน แต่เรื่องนั้นจบไปแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว โดยไม่มีการพูดคุยกันเรื่องประกาศเตือนภัยในประเทศไทย หรือการเฝ้าระวังบุคคลใดเพิ่มเติม ซึ่งการจะถอนประกาศเตือนหรือไม่ก็เป็นสิทธิของแต่ละประเทศ ส่วนเราทราบสถานการณ์ของประเทศเราดีว่าไม่มีอะไรแล้ว เชื่อว่าหากทางสหรัฐอเมริกายังกังวลเรื่องนี้ คงมีการหารือกับตนแล้ว แต่นี่ไม่มีอะไร คงไม่กังวลแล้ว ซึ่งการจะคุยกันเรื่องลับตนไม่มานั่งคุยตรงนี้แน่ คงหาที่อื่นคุย โดยพูดคุยกันเพียงแค่เรื่องการเตรียมรับ ผอ.ซีไอเอ เท่านั้น  ทราบว่าผอ.ซีไอเอ จะเดินทางไปหลายประเทศ  ไม่เฉพาะประเทศไทย คงไม่ใช่การมาให้ข้อมูลอะไร

ด้านพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย  โฆษกตร. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เข้าพบ ผบ.ตร.ในวันนี้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า สหรัฐยินดีให้ความช่วยเหลือตำรวจไทยในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการฝึกอบรม  การสนับสนุนเครื่องมือพิเศษ ในการต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดจนการยินดีให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไทยประสบอุทกภัย การกู้พื้นที่ ทั้งที่สนามบินดอนเมือง  จ.พระนครศรีอยุธยา  รวมถึงพื้นที่สถานีตำรวจที่ได้รับความเสียหาย  นอกจากนี้นานลอน ดี ยังสอบถาม ผบ.ตร.ว่าตำรวจไทยต้องการทราบอะไรจากซีไอเอบ้าง เพื่อที่ทางซีไอเอจะได้เตรียมข้อมูล ซึ่งตรงนี้ ผบ.ตร. มอบ พล.ต.ท.ธนากร ศิริอัฐ ผบช.ส.และ พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผบช.ปส.รับไปกำหนดประเด็นเพื่อแจ้งผ่านทางสถานทูตฯส่งต่อไปทางซีไอเอ  อย่างไรก็ตามจะ เน้นประเด็นการดูแลความปลอดภัยในภาพรวมทั่วประเทศ ภูมิภาคอาเซียนและในระดับโลก ย้ำการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงความร่วมมือในการป้องปราบยาเสพติด  ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีการคุยเรื่องนายอาทริส แต่อย่างใด  การมาพบขอผอ.ซีไอเอ เป็นการมาเยือนหลังจาก พล.อ.เดวิด เพิ่งขึ้นรับตำแหน่งใหม่เท่านั้น  

โฆษกตร.กล่าวว่า  เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐมาเลเซียมาหารือและรับว่า จะช่วยดูเรื่องคนเดินทางเข้าออกชายแดนไทยมาเลเซีย คนที่ถือ 2สัญชาติ และดูแลปัญหาป้องกันปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากปัญหายาเสพติดในปัจจุบันส่งมาจากภาคเหนือและทะลุทางใต้ไปยังมาเลเซีย.

Tuesday, January 3, 2012

DeepSouthThai - V.3


โดยคุณดาริน คล่องอักขระ และทีมงาน TPBS เมื่อเดือน มี.ค. 2554

Monday, January 2, 2012

DeepSouthThai - V.2


โดยคุณดาริน คล่องอักขระ และทีมงาน TPBS เมื่อเดือน มี.ค. 2554

Sunday, January 1, 2012

DeepSouthThai - V.1


โดยคุณดาริน คล่องอักขระ และทีมงาน TPBS เมื่อเดือน มี.ค. 2554

RevolverMap