หากเกิดปัญหาใด ๆ หรือข้อขัดข้องขึ้นมา แต่ละคนย่อมมีวิธีการจัดการกับปัญหาแตกต่างกัน ตามพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ แต่สำหรับผม การจะแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาในที่ทำงาน ก่อนที่จะลงมือจัดการกับปัญหา ต้องรู้ที่มาหรือรากเหง้าของปัญหาให้ได้เสียก่อน เมื่อรู้ที่มาของปัญหาแล้ว จึงจะสามารถกำหนดแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไปได้
คงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่มาหรือรากเหง้าของปัญหามาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ความภาคภูมิใจต่อความเจริญและความรุ่งเรืองในอดีตของชาวมลายูมุสลิมปัตตานี
หากนึกสภาพไม่ออก ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ให้นึกถึงความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีต่อกรุงสุโขทัย หรือกรุงศรีอยุธยา ถ้าจะให้ชัดเจนก็ให้นึกถึงตอนที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึงสองครั้งสองคราว ทั้งสองครั้งมีวีรบุรุษของชาติกู้บ้านกู้เมืองกลับคืนมาได้ทั้งสองครั้ง คนมุสลิมมลายูปัตตานีเขาก็มีหัวใจเช่นเดียวกัน มีความรู้สึกเจ็บปวด มีความเคียดแค้นไม่ต่างไปจากคนไทยที่มีต่อการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้งสองครั้ง
หากไม่มีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งสองพระองค์ ป่านนี้คงมีคนไทยส่วนหนึ่งซ่องสุมกำลั้งตั้งขบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากพม่าและก็คงใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรเช่นเดียวกัน
หากไม่โดนด้วยตัวเองบ้างก็คงจะไม่รู้สึกรู้สาอะไร..????
นิยายปรัมปราที่รัฐไทยพยายามเล่าขาน โฆษณาชวนเชื่อว่า มัสยิดกรือเซะสร้างไม่เสร็จเพราะถูกคำสาปจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แท้ที่จริงแล้วเป็นความเท็จทั้งสิ้น ช่างน่าขันจริง ๆ ที่กล้าเผาบ้านเผาเมืองเขาวอดวายผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรแล้ว ยังกล้าแต่งนิยายปรัมปราบีบคั้นหัวใจของคนมุสลิมอีก
โชคร้ายของชาวมลายูมุสลิมปัตตานี (แต่เป็นโชคดีของรัฐไทย) ที่ชาวมุสลิมมลายูปัตตานีไม่สามารถกระดิกพลิกตัวกู้ชาติบ้านเมืองได้สำเร็จเหมือนคนไทย ทำให้ทุกวันนี้ “รัฐปัตตานี” ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตยังคงถูกผนวกเป็นจังหวัดหนึงของ “รัฐไทย” ประชาชนเป็นได้แค่พลเมืองชั้นสองของประเทศ
ความขมขื่น แรงบีบคั้น ความกดดันที่ถูกกดทับเอาไว้นับร้อย ๆ ปีจึงระเบิดเปรี้ยงออกมาอย่างรุนแรงเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน
No comments:
Post a Comment