หลาย ๆ คน ติดตามอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ยังงง ๆ อยู่ว่า คำทั้งสองคำมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร…?
สุรชาติ บำรุงสุข ได้อธิบายว่า การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมักใช้วิธีการความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป มีการจัดตั้งองค์กร ประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธ อาวุธ ยุทธวิธีและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยแบ่ง (การก่อเหตุรุนแรง) ออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1. การก่อการร้าย (Terrorism) เป็นรูปแบบของการสร้างความรุนแรงโดยตรงต่อผู้ที่มิใช่ทหาร หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า/การเข้าปะทะโดยตรงกับกองกำลังตำรวจและทหาร แต่มุ่งใช้ความรุนแรงไปที่เป้าหมายสาธารณะและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ หน่วยปฏิบัติการมีขนาดเล็กกว่าสงครามก่อความไม่สงบ การปฏิบัติการมักใช้วิธีการลอบสังหาร วางระเบิด ขว้างระเบิด ลอบวางเพลิง ใช้การทรมาน จี้เครื่องบิน และลักพาตัว บางครั้งใช้รูปแบบปฏิบัติการเพียงเพื่อสร้างผลสะเทือนทางการเมือง ปฏิบัติการเหล่านี้มักดำเนินการโดยกลุ่มที่ต้องการปกครองตนเอง และกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ (Non – State actors)
ส่วน การก่อการร้ายก่อความไม่สงบ (Insurgency Terrorism) นั้น มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความรุนแรงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการโค่นล้มรัฐบาล พร้อมทั้งสร้างความหวาดกลัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้การก่อการร้ายได้ถูกปรับให้สอดคล้องกับการปฏิบัติการของแต่ละกลุ่ม
2. สงครามก่อความไม่สงบ (Insurgency Warfare) หลักการทำสงครามก่อความไม่สงบก็คือ การโจมตีโฉบฉวย (hit and run) ด้วยกองกำลังติดอาวุธเบาจนถึงขนาดกลาง เพื่อสร้างความหนักใจ และค่อย ๆ ทำลายเจตนารมณ์ และขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม ความเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อความไม่สงบจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุดในด้านความชำนาญภูมิประเทศ ความยืดหยุ่น พลิกแพลง ความรวดเร็ว และการหลอกล่อในการปฏิบัติการ“เหมาเจ๋อตุง” ได้ให้ข้อสรุปของการทำสงครามก่อความไม่สงบไว้ว่า “ยุทธศาสตร์สูงสุดของฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่บนพื้นฐานของความตื่นตัว เคลื่อนที่เร็วในการเข้าโจมตี แต่จะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของฝ่ายศัตรู ภูมิประเทศ การสื่อสารโทรคมนาคม กำลังสนับสนุน สภาพอากาศ และประชาชน”
ทั้งนี้ สงครามก่อความไม่สงบ “แตกต่าง” จากการก่อการร้าย ในแง่ของการเน้นเป้าหมายขั้นต้น กล่าวคือ สงครามก่อความไม่สงบ “เน้น” การโจมตีกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายรัฐบาล ตำรวจ ทหาร หน่วยสนับสนุน รวมถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การก่อการร้าย “เน้น” เป้าหมายที่เป็นสาธารณะ ขณะที่การประกอบกำลังของสงครามก่อความไม่สงบมีขนาดใหญ่กว่าการก่อการร้าย มีการส่งกำลังบำรุง และมีฐานที่่มั่นชัดเจน โดยพื้นที่เคลื่อนไหวส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ส่วนประเด็นที่สงครามก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย “เหมือนกัน” ก็คือ การใช้จุดอ่อนของฝ่ายรัฐที่ไม่สามารถนำทรัพยากรที่พอเหมาะมาใช้แก้ปัญหาในจุดขัดแย้งได้
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ชี้ขาดความสำเร็จของสงครามก่อความไม่สงบ ยังขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงสงครามก่อความไม่สงบเข้ากับการสร้างความรุนแรง หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สงครามตามแบบ
3. การใช้กำลังตามแบบ หรือ สงครามตามแบบ (Conventional Warfare) เป็นการเผชิญหน้ากันโดยตรงของกำลังขนาดใหญ่ในสนามรบ ซึ่งการก่อความไม่สงบส่วนใหญ่มักไม่ใช้สงครามตามแบบ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการเคลื่อนที่เร็วมากกว่า จึงใช้หน่วยขนาดเล็ก (small unit) ในการปฏิบัติการ ทั้งนี้การทำสงครามตามแบบของกลุ่มก่อความไม่สงบขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของกลุ่มและการตัดสินใจเกี่ยวกับสมรรถนะในการทำลายกองกำลังติดอาวุธฝ่ายรัฐบาลที่ใช้การรบตามแบบ
บางยุคสมัย "การก่อความไม่สงบ" ก็กลายเป็น "แนวคิด" หรือ “เป้าหมาย” โดยใช้ "การก่อการร้าย" เป็นยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีของ "การปฏิบัติ" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการก่อความไม่สงบทางการเมือง การศาสนา เศรษฐกิจ และสังคม
“การก่อการร้าย” ยังเป็นคำที่ใช้ในทางลบและไม่ดีเสมอ และมีความหมายที่กว้างขึ้นตั้งแต่สหรัฐอเมริกามีการประกาศสงครามกับการก่อการร้ายจนครอบคลุมไปถึงทุก ๆ กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ใช้เฉพาะเพื่อเรียก “ฝ่ายตรงข้าม” เท่านั้น
น่าสังเกตุว่า ไม่มีกลุ่มใดเรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เลย (บางกลุ่มลงมือกระทำการอันเป็นการก่อการร้ายสากลเสียด้วยซ้ำ กลับเรียกตัวเองว่า “ผู้ก่อการดี” ????)
ข้อเท็จจริง เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งรูปแบบ “การก่อความไม่สงบ” และ “การก่อการร้าย” เพราะมีการก่อเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายทั้งทางทหารตำรวจซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “อำนาจรัฐ” และเป้าหมายที่เป็นพลเรือน แต่เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดกรอบให้เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น “การก่อความไม่สงบ” ซึ่งเป็นปัญหาภายในประเทศ
สำหรับความคิดเห็นของผม รูปแบบการก่อเหตุรุนแรงทั้งสองรูปแบบ ไม่ได้มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ ขึ้นอยู่กับเจตนารมย์ของรัฐบาลผู้ปกครองนั่นเองที่จะเลือกใช้ถ้อยคำใดเรียกฝ่ายต่อต้่าน เพราะในอดีต รัฐบาลเคยใช้คำว่า “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ “ขจก.” แทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “โจรก่อการร้าย” (จกร.) และ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ในปัจจุบันตามลำดับ (ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเป็น “กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง” ก็เป็นไปได้)
No comments:
Post a Comment