ก่อนอื่น เราย้อนกลับมาดูคำนิยามของถ้อยคำแต่ละคำก่อนครับว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร..?
“การก่อความไม่สงบ” (Insurgency) ความหมายโดยทั่ว ๆ ไป เป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการ ที่มุ่งประสงค์ที่จะล้มล้างอำนาจรัฐที่มีอยู่เดิม เป้าหมายอาจต้องการเพียงแยกตัวออกจากการควบคุมของรัฐบาล ถึงการเข้ายึดอำนาจและเข้าแทนที่รัฐบาลปัจจุบัน โดยการใช้การบ่อนทำลายหรือการต่อสู้ด้วยอาวุธ ความรุนแรงไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง
พูดให้ง่ายเข้าก็คือ เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผู้อยู่ใต้ปกครองกับกลุ่มที่มีอำนาจในการปกครอง โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองตามความต้องการของตน
ในการปฏิบัติการก่อความไม่สงบนั้น “จุดมุุ่งหมายหลักของกลุ่มก่อความไม่สงบจึงมิใช่การเอาชนะทางการทหาร แต่มุ่งเอาชนะด้วยการทำลายอำนาจและการบริหารประเทศของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งขีดความสามารถของรัฐในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน”
เป้าหมายปลายทางของการก่อความไม่สงบจะมีลักษณะเหมือนกันทั่วโลกคือ การล้มล้างอำนาจรัฐที่อาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน หรือ การทำสงครามปฏิวัติ ดังตัวอย่างที่เราได้เห็นจากการต่อสู้ในอดีต การก่อความไม่สงบเป็นการดำเนินการที่มีขั้นตอน ตามที่ปรากฏอยู่ในหลักนิยมการปราบปรามการก่อความไม่สงบของกองทัพสหรัฐฯ 3 ขั้น ได้แก่
- ขั้นเริ่มต้นและซ่อนเร้น (Latent and Incipient): ในขั้นนี้จะเป็นเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมต่าง โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการบ่อนทำลายเพื่อสร้างเงื่อนไขให้มีระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ขั้นสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare): เมื่อได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอแล้วจะจัดตั้งกองโจรเข้าดำเนินการก่อความไม่สงบด้วยความรุนแรงอย่างเป็นระบบ (เน้นการต่อสู้ด้วยกองโจร)
- ขั้นสงครามขบวนการ (War of Movement): เมื่อฝ่ายก่อความไม่สงบมีความเข้มแข็งมากขึ้น จะทำสงครามขบวนการโดยใช้กำลังที่เตรียมไว้เข้าสู้ต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลโดยตรง เช่น การเข้ายึดพื้นที่สำคัญ การเข้าตีหน่วยทหารด้วยกำลังขนาดใหญ่ (มีการทำสงครามตามแบบ มีการยึดพื้นที่)
หากยึดถือตามหลักนิยมข้างบนนี้ อาจกล่าวได้ว่า การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังอยู่ในขั้นที่ 2 “ขั้นสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare)” นั่นเอง ลักษณะการต่อสู้ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการสะสมกำลังพล ตระเตรียมอาวุธ มุ่งที่จะทำสงครามประชาชน แย่งชิงความคิด แย่งชิงประชาชน ทำสงครามกองโจรอย่างยืดเยื้อ ไม่ได้มุ่งหวังจะเอาชนะการรบให้แตกหักในทันทีทันใด ในขณะเดียวกันก็พยายามยกระดับการต่อสู้ขึ้นไปสู่เวทีสากล เช่น “OIC” หรือองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of The Islamic Conference : OIC) เรียกง่าย ๆ ว่า "องค์กรมุสลิมโลก" ที่มีสมาชิกจากชาติมุสลิม 57 ประเทศ หรือองค์การสหประชาชาติ ให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อนำไปสู่การเจรจาแก้ปัญหาโดยจัดการแบ่งแยกดินแดนปกครองตนเองในที่สุด
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น มีทั้งลอบฆ่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ใช้อาวุธโจมตีที่ตั้งหน่วยทหารตำรวจ ฆ่าครู ฆ่าพระเผาวัด ฆ่าแล้วตัดศีรษะ ลอบวางระเบิด ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความรุนแรงที่รัฐบาลให้คำนิยามไว้ว่าเป็น “การก่อความไม่สงบ” ทั้งสิ้น
No comments:
Post a Comment