Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Tuesday, April 24, 2012

ระหว่างบรรทัดของคำพิพากษาคดี "อิสลามบูรพา" ทำไมศาลสั่งประหาร 5 จำเลย!

burapa

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา ศูนย์ข่าวภาคใต้

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาคดีสำคัญคดีหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นข่าวแพร่หลายนัก นั่นคือคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย 5 คนจาก 7 คนที่ถูกจับกุมพร้อมยึดอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากได้ภายในโรงเรียนอิสลาม บูรพา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชื่อดัง ตั้งอยู่ที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส

          แม้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ก็กล่าวกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า เป็นคดีที่มีการสืบพยานอย่างเป็นระบบ และเจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาได้ดีที่สุดคดีหนึ่ง ท่ามกลางกระแสความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอันสืบเนื่องจากสถิติคดี ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศาลพิพากษายกฟ้องมีมากกว่าร้อยละ 50 เฉพาะปี 2554 พุ่งไปถึงร้อยละ 78

          ทว่าคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยทุกคนที่ได้ตัวมาฟ้อง และลงโทษบทหนักสุดคือประหารชีวิต!

          ยิ่งไปกว่านั้นในคำพิพากษายังมีรายละเอียดหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การลงโทษ และยุทธวิธีตลอดจนการทำงานของกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดิน แดน ซึ่งสอดแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดของคำพิพากษาคดีนี้

เปิดคำฟ้อง

          เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมะนาเซ ยา, นายมามะคอยรี สือแม, นายแวอัสมิง แวมะ, นายโมหะหมัดซอฮีมี ยา, นายมะฟารีส บือราเฮง, นายรุสลี ดอเลาะ และนายฮารง หรือ อารง บาเกาะ เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืนฯ และความผิดต่อพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม

          คำฟ้องสรุปว่า จำเลยทั้ง 7 และ นายตอริก พีรีซี ซึ่งเป็นเยาวชนและได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือประมาณต้นปี 2547 ถึงวันที่ 2 ก.ค.2550 จำเลยทั้ง 7 กับพวกร่วมกันเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลชื่อ "ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี" หรือ "ขบวนการบีอาร์เอ็น" ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักรและยึดอำนาจการปกครองใน จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา บางอำเภอ แล้วจัดตั้งเป็นรัฐขึ้นใหม่ โดยสะสมกำลังพลและอาวุธ ให้และรับการฝึกการก่อการร้าย ยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนร่วม และก่อเหตุรุนแรงต่างๆ

          วันที่ 2 ก.ค.2550 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 7 กับพวกร่วมกันมีเชื้อปะทุไฟฟ้า 24 ดอก เชื้อปะทุชนวน 8 ดอก ซึ่งเป็นวัตถุระเบิด เมื่อนำมาประกอบรวมกับปุ๋ยยูเรีย น้ำมันเบนซิน แอมโมเนียมไนเตรท นาฬิกาข้อมือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ชุดวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และตะปูคอนกรีต จะเป็นระเบิดแสวงเครื่องที่ทำอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย

          พร้อมกันนี้ยังร่วมมีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 พร้อมเครื่องกระสุน อาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม.พร้อมเครื่องกระสุน และอาวุธปืนลูกซองยาว พร้อมเครื่องกระสุน ซึ่งเป็นปืนที่ไม่มีใบอนุญาต ทั้งยังร่วมกันมีเครื่องวิทยุคมนาคมเพื่อดักรับสัญญาณที่มิได้มุ่งหมายเพื่อ ประโยชน์สาธารณะด้วย

          เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1-6 ได้พร้อมอาวุธปืน เครื่องกระสุน เครื่องวิทยุคมนาคม วัตถุระเบิด อุปกรณ์ส่วนประกอบของวัตถุระเบิด ฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ที่บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับการก่อการร้ายได้ที่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550 แต่ในชั้นสอบสวนและชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธ

          นอกจากนั้น ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลให้ไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาส ยังได้หลบหนีจากความควบคุมของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกด้วย ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 2

สรุปข้อเท็จจริง

          โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550 เวลาประมาณ 00.30 น. เกิดระเบิดที่สวนยางพาราของ นายสุข คงจันทร์ บริเวณบ้านเขานาคา หมู่ 5 ต.กะลุวอ อ.เมืองนราธิวาส นายสุขได้เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตันหยง จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจที่เกิดเหตุ พบหลุมระเบิดและหยดเลือด จึงสันนิษฐานว่าคนร้ายจะวางกับระเบิด แต่เกิดระเบิดขึ้นก่อนจนตัวเองได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 

          ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบรอยเลือดเป็นทางยาวจากหลุมระเบิดประมาณ 30 เมตร หายเข้าไปในสวนยางพาราหลังโรงเรียนอิสลามบูรพา ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส ซึ่งห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร หลังจากนั้นจึงมีการระดมกำลังทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองประมาณ 80 นาย เข้าตรวจค้นโรงเรียนอิสลามบูรพา เมื่อเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน 

          ขณะเข้าตรวจค้น เจ้าหน้าที่เห็นชายกลุ่มหนึ่งวิ่งหนีเข้าไปบริเวณบ้านพัก 4 หลังทางทิศตะวันออก จึงกระจายกำลังเข้าปิดล้อม โดยบ้านหลังแรกไม่พบผู้ใดอยู่ และไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย 

          ส่วนบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมีชายกลุ่มหนึ่งวิ่งเข้าไปนั้น พบจำเลยที่ 1 และ 3 นั่งหลบซ่อนอยู่ ในมือของจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม.จึงสั่งให้จำเลยวางปืนลง ค้นภายในห้องพบอาวุธปืนพกขนาด .38 อีก 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซองยาว มีดยาว และของกลางอื่นรวม 13 รายการ นอกจากนั้นทางประตูหลังบ้าน พบจำเลยที่ 6 ไม่สวมเสื้อ นั่งเหงื่อไหลอยู่ มีวิทยุสื่อสารใช้คลื่นความถี่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติวางอยู่ ห่างจากตัวไม่เกิน 1 เมตร

          บ้านหลังที่ 3 พบจำเลยที่ 4 และ 5 หลบซ่อนอยู่ใต้ผ้านวมใต้ราวแขวนผ้า ตรวจค้นภายในบ้านพบซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท ดินระเบิด และชิ้นส่วนประกอบวัตถุระเบิดหลายรายการ ในตู้เหล็กยังพบสีโป๊รถยนต์และน้ำมันเบนซินบรรจุแกลลอน

          บ้านหลังที่ 4 เป็นบ้านพักของ นายมะเปาซี มะเด็ง อุสตาซของโรงเรียนอิสลามบูรพา เป็นบ้านยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณใต้ถุนบ้านพบฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ แผ่นซีดี สว่านเจาะผิวถนนพร้อมมือบิดเพลาของเครื่องตัดหญ้า 1 ชุด พลั่วตักดินแบบมีด้าม 1 อัน ไม่มีด้าม 2 อัน โดยขณะตรวจค้น นายมะเปาซี ไม่อยู่บ้าน

          หลังการตรวจค้น เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวจำเลยที่ 1-6 และนายตอริก พร้อมของกลางไปที่ สภ.ตันหยง เพื่อแจ้งข้อหาและทำบันทึกการจับกุม เบื้องต้นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม ส่วนจำเลยคนอื่นให้การปฏิเสธ 

          ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยที่ 7 ได้ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ภายในศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อ.เมือง จ.ยะลา หลังจากถูกควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงแจ้งข้อหาเดียวกับจำเลยที่ 1-6

เทียบหลักฐาน-คำให้การ

สรุปคำให้การของฝ่ายจำเลยทั้ง 6 คนได้ดังนี้

          1.จำเลยที่ 1 และ 4 นำสืบว่าเป็นพี่น้องกัน ก่อนเกิดเหตุ 1 วันทั้งคู่เดินทางกลับจากทำงานในประเทศมาเลเซีย พบนายโอ๊ะไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริงที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส อาสาขับรถไปส่งจำเลยทั้งสองที่ อ.เมืองนราธิวาส ระหว่างทางนายโอ๊ะบอกจำเลยที่ 1 ว่าต้องไปแสดงความบริสุทธิ์ใจ จึงพาจำเลยที่ 1 และ 4 ไปที่โรงเรียนอิสลามบูรพา และพักที่บ้านภายในโรงเรียน ต่อมาถูกตำรวจหลายนายบุกเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุม

          2.จำเลยที่ 3 และ 5 นำสืบว่าเป็นเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมสถาบันการศึกษา ในวันเกิดเหตุทั้งคู่เดินทางกลับจากทำงานที่ประเทศมาเลเซีย จะไปพบญาติของจำเลยที่ 3 ที่ จ.ปัตตานี แต่จำเลยที่ 3 ขอแวะเยี่ยมน้องชายที่โรงเรียนอิสลามบูรพา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายบุกเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุม

          3.จำเลยที่ 6 นำสืบว่าในวันเกิดเหตุไปที่โรงเรียนอิสลามบูรพาเพื่อสมัครเป็นอุสตาซ ระหว่างไปขอละหมาดที่บ้านหลังหนึ่งในโรงเรียน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายบุกเข้าทำร้ายร่างกายและจับกุม

          4.จำเลยที่ 7 นำสืบว่าเป็นอุสตาซของโรงเรียนอิสลามบูรพา ในวันเกิดเหตุกำลังนำนักเรียนหญิงละหมาด ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายบุกเข้าตรวจค้นปอเนาะของนักเรียนชาย จำเลยที่ 7 ไม่สามารถเข้าไปดูได้ เนื่องจากตำรวจห้าม กระทั่งวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจค้นในโรงเรียนอีก และคุมตัวจำเลยที่ 7 ส่ง สภ.ตันหยง ก่อนส่งไปซักถามที่ศูนย์พิทักษ์สันติ

ทางด้านพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำเสนอ สรุปได้ดังนี้

          1.เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมพบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ที่เชื่อว่านำไปประกอบระเบิด) บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกของร้านอีซีทีอิเล็กทรอนิกส์ สอบถามเจ้าของร้านได้รับการยืนยันว่าจำเลยที่ 1-6 ไปที่ร้านจริง และจำเลยที่ 5 ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ร้านบ่อยครั้ง 

2.ตรวจสอบฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ พบข้อมูลการฝึกอาวุธปืน การก่อการร้ายในพื้นที่ และไฟล์เอกสารเป็นจดหมายที่ส่งถึงครอบครัวและผู้บังคับบัญชาของ นางทิพย์ภาภรณ์ ทรรศโนภาส น.ส.ยุพา เซ่งวัส และนายสมหมาย เหล่าเจริญสุข ซึ่งเป็นครูที่ถูกคนร้ายลอบสังหาร เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2550 และส่งถึงสมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส มีใจความเป็นการขอโทษที่ต้องฆ่าบุคคลทั้งสามเพื่อตอบโต้การกระทำของเจ้า หน้าที่รัฐ มีการลงชื่อท้ายจดหมายว่า "เหล่านักรบอิสลามปัตตานี"

          จากการสอบถามอดีตผู้บังคับบัญชาและญาติของครูทั้ง 3 คน ยืนยันว่าได้รับและอ่านจดหมายเหมือนกับที่พบในคอมพิวเตอร์ที่ยึดได้จริง ส่วนพนักงานไปรษณีย์ก็ให้การยืนยันว่า ซองจดหมายที่ถูกส่งถึงบุคคลดังกล่าว มาจากใน จ.นราธิวาส 

          3.การตรวจสอบฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ ยังพบเอกสารที่มีเนื้อหาโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ เอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด เครื่องควบคุมระยะไกล เครื่องวิทยุ และเครื่องตั้งเวลาดิจิตอล

  4.ผลการตรวจพิสูจน์สารระเบิดและดีเอ็นเอที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พบสารอาร์ดีเอ็กซ์ (สารประกอบระเบิดแรงสูง) ที่ผ้าขนหนูของนายตอริก กับที่พวงมาลัยและแผงคอนโซลรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน กข 4276 นราธิวาส ของจำเลยที่ 7 ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้านที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น 

          นอกจากนั้นยังพบสารประกอบระเบิดชนิดอื่นที่เสื้อและกางเกงของจำเลยที่ 2, 5 และ 6 รวมทั้งที่มือของจำเลยที่ 7 ยังพบสาร NG (ไนโตรกรายเซริน) ที่ใช้ในการทำระเบิดไดนาไมท์ สอดคล้องกับฝักแคระเบิดที่บรรจุไดนาไมท์ซึ่งถูกตรวจยึดได้

          ส่วนจำเลยที่ 1, 3 และ 4 แม้ไม่พบสารระเบิดที่เสื้อผ้าและร่างกาย แต่จากการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 ที่กระเป๋าใส่กระสุนปืนสีดำ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 2 ที่ผ้าปิดจมูกกับที่เศษผ้านวมเปื้อนคราบเลือด พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 4 ที่ด้ามมีดคัตเตอร์ 4 ด้าม กับเทปกาวสีดำพันเชื่อมสายไฟสีแดง-ดำ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 5 ที่ผ้าปิดจมูกกับที่เทปกาวพันแบตเตอรี่ และพบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 6 ที่มีดโกนหนวด

นอกจากนั้นยังพบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1-6 บนวัตถุที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันในบ้านที่เข้าตรวจค้นจับกุม แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีความเคลื่อนไหว จับต้อง ครอบครอง หรือเข้าใช้งานวัตถุเหล่านั้น รวมทั้งอยู่อาศัยในบ้านที่ถูกตรวจค้นมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งแวะเข้าไปตามคำให้การ

          ส่วนของกลางที่เป็นวัตถุระเบิด อุปกรณ์ประกอบ อาวุธปืน และวิทยุคมนาคมที่ยึดได้ ก็วางไว้อย่างเปิดเผย ไม่ได้ถูกเก็บซ่อนอย่างมิดชิด เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 1-6 จะไม่เห็น หรือไม่รู้ถึงการมีอยู่ของวัตถุผิดกฎหมายดังกล่าว

          5.โรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นโรงเรียนประจำ มีครูเวรสลับกันทำหน้าที่ตรวจตราตั้งแต่เช้าถึง 23.00 น.ของทุกวัน มีการจัดระบบดูแลรักษาความปลอดภัยภายในโรงเรียน บุคคลภายนอกเข้าไปอาศัยอยู่ได้ย่อมต้องได้รับความช่วยเหลือหรือยินยอมจากผู้ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นอุสตาซของโรงเรียน รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1-6 เข้าไปอยู่ในบ้านหลังที่ถูกตรวจค้นจับกุม

          6.ผลการตรวจสอบข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ 17 เครื่อง พบการติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ จ.นราธิวาส

ความเห็นศาลและคำพิพากษา

          1.เชื่อว่าจำเลยที่ 1-5 และ 7 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ความรุนแรงอันเนื่องมาจากการก่อการ ร้ายในพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิด โดยเป็นสมาชิกของขบวนการก่อการร้ายที่มีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดนของราช อาณาจักรไทย

          2.เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติ จำเลยที่ 3-5 เป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการ จำเลยที่ 7 ดูแลรับผิดชอบทางการเงิน และปลุกระดมเยาวชน โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนอิสลามบูรพา 

          3.ในทางการนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6 เข้าไปมีส่วนร่วมกระทำความผิด คงมีความผิดเพียงการครอบครองอาวุธปืนและวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต

          4.คำเบิกความของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์ให้ประจักษ์ และพยานที่อ้างถึงก็ล้วนเป็นญาติสนิท คู่สมรส เพื่อนบ้าน และคนรู้จักใกล้ชิดคุ้นเคย จึงมีข้อตำหนิให้ระแวงสงสัยว่าเบิกความไปเพื่อช่วยเหลือให้พ้นผิดหรือไม่ และไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

          5.พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3-7 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีวัถตุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันทำ มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันดักรับไว้ใช้ประโยชน์ซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อ ประโยชน์สาธารณะ จำคุกจำเลยที่ 1, 3-5 และ 7 คนละ 1 ปี

  ฐานร่วมกันก่อการร้ายและเป็นซ่องโจร เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1, 3-5 และ 7 อุกอาจ ร้ายแรง เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม สมควรลงโทษสถานหนัก ให้ประหารชีวิต ส่วนจำเลยที่ 6 จำคุก 27 ปี

---------------------------------------------------------------------------------------------------------บรรยายภาพ : อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยึดได้จากบ้านพักภายใน โรงเรียนอิสลามบูรพา ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ประกอบระเบิด

No comments:

Post a Comment

RevolverMap