Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Friday, February 12, 2016

"อักชารดาห์ม Akshardham"



บ่ายวันศุกร์เพื่อนๆ หลายคนไป Shopping กัน แต่หลังจากละหมาดวันศุกร์ วันนี้ผมกับ Sanzhar มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูที่ใหญ่โตและอลังการที่สุดในโลก "อักชารดาห์ม Akshardham" เป็นวัดในศาสนาฮินดูยุคใหม่ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2548 นี้เอง


"Akshardham" หมายความว่าที่พำนักอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ชาวฮินดูยกย่องว่าเป็นสถานที่ที่นิรันดร์แห่งความจงรักภักดีความบริสุทธิ์และความสงบสุข เป็นวัดในศาสนาฮินดูนิกายหนึ่งที่เรียกชื่อตามศาสดาว่า "สวามีนารายัน Swaminarayan"


"วัดอักชารดาห์ม Akshardham" จากข้อมูลในเว็บไซต์ของวัดพบว่าใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 ปี จากเนื้องานที่ตามปกติซึ่งมีรายละเอียดมากมายควรจะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 40 ปี เป็นงานที่รวมเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างของคนงานแต่ละคนมากถึง 300 ล้านชั่วโมงจากอาสาสมัครกว่า 8,000 คนจากทั่วโลก รวมทั้งช่างจากประเทศไทยด้วย น่าจะหมายถึงเป็นการก่อสร้างอย่างเป็นระบบแบบต่อเนื่องไม่มีวันหยุดพักตลอดระยะเวลา 5 ปีของการก่อสร้าง




อาคารวิหารสร้างขึ้นอย่างอลังการด้วยหินทรายสีชมพูจากรัฐราชาสถาน และหินอ่อนสีขาวจากอิตาลี  หินทรายสีชมพูสื่อถึงการบูชาพระเจ้า ส่วนหินอ่อนสีขาวสื่อถึงสันติภาพที่บริสุทธิ์และนิรันดร์ เทคนิคการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมใช้วิธีแบบโบราณ ไม่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบในการก่อสร้าง การตัดหินเป็นก้อนใช้เครื่องมือตัด แต่การแกะสลักหินแต่ละก้อนใช้มือคนสลักอย่างวิจิตร



หากมาอินเดียอย่าลืมหาโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่นี้ครับ เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ มีการแสดงโชว์น้ำพุแสงสีเสียงเวลา 18.45 น. ค่าบัตรเข้าชม 80 รูปี (ราคาเดียวไม่มีแบ่งแยกว่าเป็นชาวต่างประเทศหรือไม่) วัดนี้ ห้ามนำกล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปภายในวัดอย่างเด็ดขาด การรักษาความปลอดภัยเข้มงวดมาก ตรวจละเอียดยิบ หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอาอะไรไปมากเพราะต้องฝากไว้ข้างนอกทั้งหมด แม้แต่กระเป๋าสะพายก็อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไป 

เนื่องจากวัดนี้ไม่อนุญาตให้นำกล้องถ่ายรูปเข้าไปได้ วันนี้จึงขอยืมรูปถ่ายเหล่านี้จากในเว็บไซต์ของทางวัดมาเป็นตัวอย่างนะครับ "http://akshardham.com/"

No comments:

Post a Comment

RevolverMap