Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Tuesday, April 15, 2025

#คนไทยพุทธในชายแดนใต้ — #จากสุโขทัยสู่ชายขอบมลายู


 #คนไทยพุทธในชายแดนใต้ — #จากสุโขทัยสู่ชายขอบมลายู



ผมรับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายอำเภอแล้วครับ ตั้งแต่ บรรจุครั้งแรก ยศ “นายร้อยตำรวจตรี“ ที่อำเภอสายบุรี จากนั้นโยกย้ายไปรับตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ผ่านงานสืบสวน ป้องกันปราบปราม ไปจนถึงสารวัตรใหญ่ และรองผู้กำกับการตามสถานีตำรวจหลากหลายแห่ง หลายพื้นที่  ผมอยู่มาหลายปีจนซึมซับทุกลมหายใจของบ้านของเมือง คนของพื้นที่ กลิ่นฝน กลิ่นดิน วัฒนธรรมที่ยังเต้นอยู่ในจังหวะของชีวิตประจำวัน


ระหว่างทางผมมีโอกาสได้ไปอบรมหลักสูตรอินเตอร์จากหลากหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อินเดีย เกาหลีใต้ มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย ผมเคยนอนโรงแรมห้าดาว เคยฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก แต่สิ่งที่ทำให้ผมหยุดคิดจริง ๆ ไม่ได้มาจากห้องประชุมหรูเหล่านั้น แต่มาจากการนั่งขับรถคนเดียวระหว่างภารกิจ — บนถนนสายเลียบภูเขาในยะลา หรือทางราบที่ทอดไปสู่ทะเลนราธิวาส


อยู่ ๆ ผมก็นึกถึงห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในสมัยเด็ก ผมจำได้ว่าเราเคยเรียนเรื่องอาณาจักรโบราณของไทยอย่างทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ ตามพรลิงค์ แต่ในวันนั้น…ผมไม่เคยถามเลยว่า “คนในอาณาจักรเหล่านั้นคือใคร?” เราถูกสอนให้เชื่อมโยงพวกเขากับ “ความเป็นไทย” โดยอัตโนมัติ ทั้งที่จริงแล้ว คนในอาณาจักรทวารวดีอาจเป็นชาวมอญ คนในอาณาจักรศรีวิชัยก็คือชาวมลายู และพวกเขาพูดภาษาของตน ไม่ใช่ภาษาไทย


ถ้าเช่นนั้น…ทำไมคนภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไทย (14 จังหวัดภาคใต้) ซึ่งเคยอยู่ใต้ร่มเงาอาณาจักรศรีวิชัยถึงสูญเสียภาษาและอัตลักษณ์มลายูไปเกือบสิ้น? ทำไมในพื้นที่ที่เคยพูดภาษามลายูเป็นหลัก กลับกลายมาใช้ชื่อไทย พูดไทย และบางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารากเหง้าของตัวเองอยู่ตรงไหน?


คำถามพวกนี้ทำให้ผมนึกถึงคำหนึ่งในวิชามานุษยวิทยา — “#การกลืนกลาย” (assimilation) และนั่นแหละ…คือจุดเริ่มต้นที่ผมอยากจะชวนทุกคนเดินทางย้อนกลับไปสำรวจอดีตที่เราไม่เคยได้มองอย่างลึกซึ้ง


คนไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด พวกเขามีทั้งคนที่เป็น “#มลายูพุทธที่ถูกกลืนกลาย” และ “#สยามพุทธที่เข้ามาทีหลัง” บางกลุ่มคือชาวมลายูที่เคยนับถือพุทธ แล้วถูกรัฐรวมศูนย์ผ่านศาสนา จนค่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้ภาษาไทย มีชื่อไทย และกลายเป็นไทยพุทธ


อีกบางกลุ่มคือคนจากภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่รัฐส่งลงมาเพื่อสร้างชุมชนไทยพุทธใหม่ และคานอำนาจในพื้นที่ พวกเขาคือ “สยามพุทธ” ที่รักษาอัตลักษณ์ไทยพุทธแบบภาคกลาง และรวมตัวเป็นชุมชนคนไทยพุทธในชายแดนใต้


ในกลุ่มหลังนี้เองที่รวมถึงคนไทยพุทธในกลุ่มตากใบ–เจ๊ะเห ซึ่งกินพื้นที่อานาบริเวณไปจนถึงชาวสยามพลัดถิ่นใน รัฐต่างๆ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจากแผนภาพที่ผมได้ดู (ตัวเลขด้านบนระบุปีพุทธศักราช ไม่ใช่คริสต์ศักราช) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสืบสายของเมืองต่าง ๆ เช่นสงขลา พัทลุง ไชยา ฯลฯ ล้วนเป็นกลุ่มที่รัฐสยามส่งลงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ผ่านนครศรีธรรมราช


ทว่า ภาษาไทยของกลุ่ม “ตากใบ–เจ๊ะเห” กลับเป็นภาษาไทยที่ถูกนำเข้ามาจากศูนย์กลาง ไม่ได้พัฒนาขึ้นจากภาษาถิ่นในพื้นที่ พวกเขาไม่ได้เคยพูดมลายูแล้วกลายเป็นไทย แต่เป็นคนไทยที่พูดไทยมาตั้งแต่ต้น และลงมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชายแดนเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองและวัฒนธรรม


ถึงกระนั้น… แม้พวกเขาจะเป็นผู้ที่ “ลงมาทีหลัง” แต่พวกเขาก็ “ลงมานานแสนนาน” มากแล้ว จนในปัจจุบัน คนกลุ่มเดียวกันนี้ที่อยู่ในฝั่งมาเลเซีย ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ภูมิบุตร” (bumiputera) เช่นเดียวกับชาวมาเลย์ เพราะพวกเขาอยู่ที่นั่นก่อนรัฐชาติจะมีพรมแดน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างลึกซึ้งกับชุมชนมลายูในพื้นที่


นี่คือความงดงามของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในคาบสมุทรมลายู — ไม่มีใครบริสุทธิ์โดยสายเลือด ไม่มีใครเป็นเจ้าของดินแดนโดยกำเนิด มีเพียงผู้คนที่หยั่งราก และฝากวิถีชีวิตไว้กับผืนแผ่นดินนี้เท่านั้น


#ความเข้าใจในศาสนาและประวัติศาสตร์คือหนทางในการดับไฟใต้

Friday, April 4, 2025

ว่าด้วยบ่อนคาสิโน ประชาธิปไตย และภารกิจของประธานรัฐสภา และผู้แทนราษฎร

 

ว่าด้วยบ่อนคาสิโน ประชาธิปไตย และภารกิจของประธานรัฐสภา และผู้แทนราษฎร


ในสังคมไทยซึ่งบ่อนการพนันดำรงอยู่มายาวนานในหลายรูปแบบ ทั้งถูกกฎหมาย (เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล, สลากกาชาด, สนามชนโค, บ่อนไก่ชน) และผิดกฎหมาย (เช่น บ่อนใต้ดิน, บ่อนลอยฟ้า, การพนันออนไลน์) การตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับการ “เปิดเสรีบ่อนคาสิโน” จึงไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อรัฐบาลพยายามผลักดันแนวคิด “คาสิโนคอมเพล็กซ์” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการผลักดันเข้าสภา กลับมีเสียงวิพากษ์และประณามในนามของศาสนา โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่มีบทบาทในการนำกฎหมายเข้าสภาคือ อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” และเป็นมุสลิม


ผมขอเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมไม่เห็นด้วยกับบ่อนคาสิโน และยังยืนยันว่าการพนันในอิสลามนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามชัดเจน (ฮะรอม) อย่างไรก็ดี การโจมตีใครคนหนึ่งด้วยถ้อยคำที่ว่า “เสียดายที่เกิดมาเป็นมุสลิม” หรือ “กลับไปหาพระเจ้าโดยไม่ได้ทำความดี” นั้น เป็นการละเมิดขอบเขตของอิสลาม และขัดต่อหลักเมตตาธรรมของศาสนาอย่างรุนแรง


เราคงจะลืมไปว่า ประเทศมุสลิมหลายประเทศ ก็มีคาสิโนอย่างถูกกฎหมาย เช่น

 ~ เลบานอน: มี Casino du Liban ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 1959 ในเขตโจนีเยห์ ใกล้กรุงเบรุต

www.casinoduliban.com.lb

 ~ อียิปต์: มีคาสิโนในโรงแรมหรูหลายแห่งในไคโรและชาร์มเอลชีค โดยเปิดให้ชาวต่างชาติใช้บริการ

www.tripadvisor.com/Hotels-g297555-zff14-Sharm_El_Sheikh

 ~ โมร็อกโก: มีคาสิโนที่มีชื่อเสียง เช่น Casino de Marrakech ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 1952

www.essaadi.com/en/casino-marrakech/

 ~ ตูนิเซีย: มีคาสิโนในเขตท่องเที่ยว เช่น Casino La Médina ในเมือง Yasmine Hammamet

www.casinocity.com/tunisia/yasmine-hammamet/casino-la-médina/

 ~ ตุรกี: แม้จะยกเลิกคาสิโนในประเทศตั้งแต่ปี 1998 แต่ยังมีสลากกินแบ่งรัฐบาลและการพนันกีฬาออนไลน์ที่ดำเนินการโดยรัฐ

https://en.wikipedia.org/wiki/Gambling_in_Turkey?wprov=sfti1

 ~ มาเลเซีย: มี คาสิโนเก็นติ้งไฮแลนด์ ดำเนินการภายใต้กฎหมาย แม้ห้ามมุสลิมเข้าเล่น

www.rwgenting.com

 ~ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: วางแผนเปิด “คาสิโนรีสอร์ท” ในราสอัลไคมาห์โดยบริษัท Wynn Resorts

www.skift.com/2025/02/27/wynn-resorts-confirms-there-will-be-two-gaming-areas-at-uaes-first-casino-resort/


(ขณะที่ ซาอุดีอาระเบีย ยังคงห้ามการพนันทุกรูปแบบภายใต้ระบบชารีอะฮ์อย่างเข้มงวด)


ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าอิสลามเห็นด้วยกับคาสิโน แต่คือข้อเท็จจริงที่ว่า การดำรงอยู่ของคาสิโนในประเทศมุสลิม มักเป็นเรื่องของนโยบายรัฐที่ต้องควบคุมภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดคนหนึ่ง


ในบริบทของประเทศไทย การผลักดันกฎหมายว่าด้วย “สถานบันเทิงครบวงจร” หรือ “คาสิโนคอมเพล็กซ์” โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้ง ในระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาล ย่อมมีสิทธิในการกำหนดวาระทางนโยบายและเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ไม่ว่ากฎหมายเหล่านั้นจะได้รับเสียงสนับสนุนหรือไม่ ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองและอภิปรายตามระบบรัฐสภา


อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภา จึงมีหน้าที่ “ประคับประคองกระบวนการประชาธิปไตย” ให้ดำเนินไปตามครรลอง ไม่ใช่ “เลือกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย” ตามอารมณ์ส่วนตัว และไม่สามารถ “ตัดสินใจแทนสภา” ได้ เพราะอำนาจแท้จริงอยู่ที่เสียงของผู้แทนราษฎรทุกคน


และสุดท้าย ในระบบประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน หากนโยบายใดของพรรคการเมืองไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของสังคม หรือทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย  ก็ย่อมมีผลสะท้อนกลับผ่าน “การเลือกตั้งครั้งต่อไป” เพราะประชาชนคือเจ้าของอำนาจสูงสุด หากพวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคใด พรรคการเมืองนั้นก็จะ ไม่ถูกรับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก นั่นคือ “กระบวนการตัดสินใจด้วยเสียงส่วนรวม” อันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย


สิ่งที่เราควรทำ คือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้วยข้อมูล ไม่ใช่ด้วยการสาปแช่งบุคคลผู้ทำหน้าที่ในระบบอย่างซื่อสัตย์



Wednesday, April 2, 2025

หะยีวันอะหมัด ชื่อฉายา “โต๊ะชายนาย” หรือ “โต๊ะหยังนาย”

 


29 มีนาคม 2568

สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาบางกอก เป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับสยาม มีการลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452 และได้รับสัตยาบันจากรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมปีเดียวกัน

สาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ การที่สยามยกสิทธิในการปกครองและบังคับบัญชาเหนือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเปอลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียง ให้แก่อังกฤษ

ในเดือนนี้ เป็นวาระครบรอบ 119 ปีของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว—และยังคงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ของผู้คนในคาบสมุทรมลายูจวบจนปัจจุบัน

หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าวันที่สนธิสัญญานี้จะเกิดขึ้นราว 100 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หรือเมื่อราว 200 ปีก่อน

“ฮัจญีหวังอาหมัด” ชาวมลายูมุสลิมจากรัฐตรังกานู—ซึ่งขณะนั้นยังเป็นดินแดนหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม—ได้อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนด้วยเหตุผลทางการเมืองและความไม่สงบ

ท่านมีฉายาว่า “โต๊ะหยังนาย” หรือ “โต๊ะชายนาย” เนื่องจากดำรงตำแหน่ง “นายกองทหาร” แห่งรัฐตรังกานู และเคยนำกำลังเข้าร่วมกับเมืองสงขลาเพื่อปราบหัวเมืองที่แข็งข้อในพื้นที่ภาคใต้

เมื่อภารกิจทางการทหารเสร็จสิ้น ท่านเลือกที่จะไม่กลับคืนสู่ภูมิลำเนา แต่ตัดสินใจตั้งรกรากในพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลา ณ บ้านดอนทิง ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในเขตการปกครอง ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 

ท่านมีภรรยา 2 คน และมีลูกทั้งหมด 8 คน ซึ่งล้วนถือกำเนิดที่บ้านดอนทิง และเป็นต้นสายตระกูลสำคัญหลายสายในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง  ลูกหลานของท่านได้แต่งงานสลับสายในหมู่กันเอง เกิดเป็นเครือญาติอันแน่นแฟ้น มีทั้งชื่อสกุลและวัฒนธรรมร่วมกัน ลูกหลานของท่าน เมื่อมีครอบครัวแล้วก็อพยพโยกย้ายไปตั้งรกรากทั่วลุ่มทะเลสาบสงขลา ทั้งที่บ้านหัวปาบ  บ้านม่วงทวน  ดังนี้

1. หะยีสาเม๊าะ (1838–)

เมื่อแต่งงานได้อพยพโยกย้ายไปอยู่บ้านเกาะทาก ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้นตระกูล “หมานเหม๊าะ” และ “เส็นเด” และอีกหลายตระกูลในอำเภอจะนะ ศพของท่านฝังอยู่ที่บ้านเกาะทาก

2. ปะวะแหละ (1839–)

ลูกหลานใช้นามสกุล “เจ๊ะอาหวัง”, “ปูตีล่า” หรือ “ฤทธิ์โต” และบางสายสมรสกับตระกูล “ยีหวังกอง”

3. หะยีอุมาร์ (ยีหวังกอง) (1840–1915)

เป็นผู้ให้กำเนิดตระกูล “ยีหวังกอง” ซึ่งสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องถึงรุ่นปัจจุบัน

4. โต๊ะขุนฤทธิ์ (1841–)

ต้นตระกูล “ขุนฤทธิ์” และ “ฤทธิ์โต”

5. หวันยีเต๊ะ (1842–)

ต้นตระกูล “หวันยีเต๊ะ”

6. โต๊ะจูยำ (1843–)

ลูกหลานมีการสมรสไขว้กับสายของปะวะแหละ

7. โต๊ะเหล็บยาว (1844–)

ลูกหลานใช้นามสกุล “ปูตีล่า” หรือ “ฤทธิ์โต” และมีการแต่งงานไขว้สายกันกับลูกหลานของอีกหลายตระกูล

8. โต๊ะชายล่า (1845–)

ต้นตระกูล “ปูตีล่า”

(ตัวเลขแทนคริสต์ศักราชเป็นเพียงค่าประมาณการ)

แม้บทเรียนในห้องเรียนจะสอนให้เรารักชาติและภาคภูมิใจในความเป็น “ไทย” แต่เราก็ไม่ควรลืมรากเหง้าของตนเอง

ผมภูมิใจที่มีสายเลือดมลายู และเป็นคนไทยที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินนี้…

บรรพบุรุษของผม… หลับใหลอยู่ใต้ผืนดินนี้มาเกือบสองร้อยปีแล้วครับ


*******************************************


Version เขียนใหม่ 29 มี.ค.2568 ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบวันเกิดปีที่ 51 ของผม

Sunday, March 30, 2025

#แผ่นดินไหวกับ “#กำทอน” – #เมื่อจังหวะที่พอดีอาจทำลายล้างทุกอย่าง


 #แผ่นดินไหวกับ “#กำทอน” – #เมื่อจังหวะที่พอดีอาจทำลายล้างทุกอย่าง

แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

กลายเป็นข่าวใหญ่ทันที เมื่ออาคารสูงที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาทั้งตึก

ภาพควัน ฝุ่น และซากโครงสร้าง ทำให้หลายคนตกใจ และคำถามก็ตามมาไม่หยุด

“โกงหรือเปล่า?”

“ก่อสร้างผิดแบบไหม?”

“วัสดุไม่ดีหรือยังไง?”

แน่นอนว่าทุกข้อสงสัยต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุด

แต่ในฐานะอดีตเด็กสายวิทย์ที่เคยเรียนทั้งที่อิสลามวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมทหาร

ถึงแม้จะหลับๆ ตื่นๆ ในห้องเรียนบ้าง แต่ผมอดนึกถึงบทเรียนในวิชาฟิสิกส์ เรื่อง “กำทอน” (Resonance) หรือ “ลั่นพ้อง” ไม่ได้

“กำทอน” คือปรากฏการณ์ที่วัตถุเกิดการสั่นรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อได้รับแรงกระตุ้นในจังหวะที่ “ตรงกับความถี่ธรรมชาติ” ของมันพอดี

คล้ายการดันชิงช้าให้ถูกจังหวะ—มันจะไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้แรงแค่นิดเดียว

อาคารก็มีความถี่ของตัวมันเอง

ถ้าแผ่นดินไหวสั่นในจังหวะที่ “เข้าพอดี”

แม้อาคารจะสร้างได้ตามมาตรฐาน ก็อาจสั่นแรงเกินรับไหว และถล่มลงมาได้จริง ๆ

ดังนั้น บางครั้งการพังทลายอาจไม่ใช่เพราะโกง

แต่อาจเป็นเพราะธรรมชาติ… จังหวะพอดีเกินไปต่างหาก

หวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ใช่แค่บทเรียนเรื่อง “ความผิดพลาด” แต่เป็นบทเรียนเรื่อง “ความเข้าใจ” ที่เราจะใช้เตรียมรับมือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

Wednesday, March 19, 2025

จากเงามืดสู่การค้นพบ





 


#จากเงามืดสู่การค้นพบ

เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าที่ผมตามหาร่องรอยข้อมูลตัวตนและเครือญาติของ “แก่หยัง“ (ตาทวด)  พ่อของแก่ม๊ะคุณยายผมจนเจอ ซึ่งทั้งชีวิตที่ผ่านมา พวกเราลูกหลานรู้แต่เพียงชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าท่านเป็นใคร มีเครือญาติอยู่ที่ไหน และใช้นามสกุลอะไร เพราะท่านเสียชีวิตตอนที่แก่ม๊ะ บุตรคนเล็ก อายุได้เพียงแค่ 4 ปี

ทุกครั้งที่มีโอกาส เมื่อผมกลับไปเยี่ยมท่านที่บ้านลำธาร์ ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง  ผมมักจะนั่งสนทนา และหยอกล้อเล่นกับ “แก่ม๊ะ บินหมาด” คุณยายของผมอยู่เสมอ

ท่านเป็นหญิงชราท่าทางใจดี ที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายคนจีน ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะท่านมีเชื้อสายจีนจากคุณยายของท่าน “แก่ดวง” อดีตหญิงม่าย “มุอัลลัฟ” ลูกครึ่งจีน จากบ้านแพรกหา อำเภอควนขนุน   แก่ม๊ะเสียชีวิตเมื่อปลายปี 2564 ด้วยอายุ 94 ปี

เมื่อผมยังเด็ก ท่านยังมีกำลังวังชา แก่ม๊ะเป็นคนขยันมาก ชอบขุดดินยกร่องปลูกผักสวนครัว และมีงานอดิเรกคือ “การสานตับจาก” โดยไปตัดใบสาคูจากป่าพรุใกล้บ้านมาสานตับจากทำเป็นหลังคา มีทั้งทำซ่อมแซมบ้านของตัวเองบ้าง หรือแบ่งขายแก่ญาติพี่น้องในราคาย่อมเยาบ้าง ตั้งแต่เล็กจนโต ผมไม่เคยเห็นใครมีทักษะนี้อีก

ผมเคยส่องดูสมุดทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของแก่ม๊ะ ทราบว่า ในทะเบียนบ้าน ระบุชื่อพ่อของแก่ม๊ะว่า “นายบ่าว” ไม่ระบุนามสกุล 

#ย้อนกลับไปเมื่อก่อนหน้านั้น

หลังจากแก่สัน โส๊ะสมาคม แต่งงานกับแก่ดวง ม่ายสาวลูกสอง ท่านนำแก่ดวง เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม พาภรรยาไปตั้งบ้านเรือนเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านหัวปาบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง ตำบลห้วยลึก อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา) บ้านเกิด ซึ่งเป็นชุมชนมลายูมุสลิมมาแต่โบราณ มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนคือ “หน๊ะ โส๊ะสมาคม” เมื่อถึงวัยออกเรือน แก่หน๊ะ แต่งงาน 2 ครั้ง

ครั้งแรก ไม่ปรากฏว่าแต่งงานด้วยความรัก หรือโดยการจัดการของผู้ใหญ่ ชีวิตคู่จบลงไม่นาน เพราะ “โต๊ะหีม ราชกิจ” สามี ทิ้งท่านกับบุตรชาย คือ “แก่ฝีน โส๊ะสมาคม” (พี่ชายคนโตของแก่ม๊ะ) ไปมีภรรยาใหม่ที่บ้านตันหยงดาหวัย เมืองชาวประมงเล็กๆ เขตเมืองไทรบุรี  ปัจจุบัน คือรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย  ครั้งที่สองแต่งงานกับนายบ่าว ไม่ทราบนามสกุล ราษฎรบ้านหัวปาบ  ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ 1.สัน (ตั้งชื่อเหมือนพ่อ) 2.หะเยาะ (เปลี่ยนชื่อเป็น “สมจิตต์”) และ 3.แก่ม๊ะ  

แต่นายบ่าวจากไปก่อนวัยอันควร ทิ้งภรรยาและลูกน้อยทั้งสามให้เผชิญโชคชะตาตามลำพัง   สองตายาย แก่สันและแก่ดวง โส๊ะสมาคม พาหลาน ๆ อพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านลำธาร์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว  จังหวัดพัทลุง) ทิ้งความขมขื่นเอาไว้เบื้องหลัง

อาจจะด้วยสาเหตุตรอมใจจากการสูญเสียสามีทั้ง 2 ครั้ง  แก่หน๊ะอายุสั้น  ท่านจากไปหลังจากสามีเสียชีวิตได้ไม่นาน ในขณะที่ลูกทั้ง 4 คนยังเล็ก เป็นภาระของแก่ดวง หญิงมุอัลลัฟ แม่ของแก่หน๊ะ เป็นผู้เลี้ยงดูหลานๆ ทั้ง 4 คนจนเจริญเติบโต ท่านมีอายุยืนถึงเกือบ 100 ปี 

กาลเวลาผ่านไป แก่ม๊ะพบรักกับ “แก่โหด บิลหมาด” สามี (คุณตาของผม)  จนมีแม่มีน้องๆ (น้า 2 คน) จนมีผม ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยเห็นเธอกลับไปเหยียบย่างที่บ้านหัวปาบอีกเลย ไม่เคยไปร่วมงานบุญ งานเลี้ยง งานศพ หรืองานแต่งใด ๆ ไม่แม้แต่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านหัวปาบ ให้ลูกหลานฟังทั้งสิ้น

ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตไม่นาน ผมเคยถามเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้

เธอจำได้เพียงว่า พ่อชื่อ “บ่าว” หรือมีฉายาว่า “บ่าวอุง” และจากไปเพราะถูกฆาตกรรมเมื่อเธออายุได้เพียง 4 ขวบ

แก่ม๊ะเล่าว่า “คนที่ฆ่าพ่อของแก่ม๊ะ คือ “หวาหนุด” ทะเลาะกันเรื่องที่ดิน  (หมายเหตุ: คำว่า ”หวา“ เป็นสรรพนามใช้เรียก “ลุง” หรือ “ป้า” ในภาษามลายู แต่ผมไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสอง)  หวาหนุด แทงนายบ่าวด้วยมีดกริชยาวคล้ายดาบจนถึงแก่ความตาย

ผมถามเธอต่อ “พ่อของแก่ม๊ะมีนามสกุลว่าอะไร?”

เธอหลับตาลงเหมือนพยายามนึก แต่สุดท้ายก็ส่ายหัวตอบว่า “ไม่รู้”

#ข้อเท็จจริงที่เลือนหาย

ข้อเท็จจริงที่ว่าพ่อของแก่ม๊ะเป็นใคร  ไม่ได้เป็นความลับพิสดาร หรือมหัศจรรย์พันลึกอะไร แต่มันมีอายุความ   ญาติพี่น้องคนรู้จัก นอกจากจะห่างเหินกันไปแล้ว ยังหมดอายุขัยพากันล้มหายตายจากกันไปหมดสิ้น สิ่งนี้จึงกลายเป็นปริศนาเงามืดของลูกหลาน

#การพบปะญาติและการเปิดเผยข้อมูล

1 พฤษภาคม 2566 – จุดเริ่มต้นของการไขปริศนา

วันนั้นผมได้รับข่าวการเสียชีวิตของพี่อารียา (หน๊ะ) สุวรรรส ซึ่งเป็นลูกของหวาเต๊ะ ยีหวังกอง คุณลุง (ลูกผู้พี่ของพ่อผม) ผมจึงเดินทางไปร่วมพิธีศพพี่หน๊ะที่ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

ที่นั่น ผมได้พบกับ หวาสุไหลมาน บาวกูล ซึ่งเป็นญาติทางฝั่งย่าของผู้วายชนม์ ท่านยังเป็นพ่อตาของอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของผมคนหนึ่งที่ สภ.ตากใบ 

หลังเสร็จพิธีศพ หวาสุไหลมานฯ เชิญผมไปนั่งจิบน้ำชาที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กัน และเล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องของแม่ผม  เมื่อได้ฟังดังนั้นรู้สึกตื่นเต้นเพราะผมสืบสายตระกูลญาติพี่น้องมามากมายแล้วแต่ไม่เคยได้ยินว่ามีญาติฝั่งแม่อยู่ที่นี่

แต่เมื่อถามรายละเอียดเพิ่มเติม หวาสุไหลมานฯ กลับบอกได้แต่เพียงว่ามีพ่อชื่อ  “มูสา บาวกูล” ซึ่งเสียชีวิตไปหลายสิบปีแล้ว  ท่านไม่สามารถระบุ หรือลำดับสายตระกูลอย่างชัดเจนว่าเกี่ยวพันกับแม่ผมอย่างไร

 7 กรกฎาคม 2567 – เบาะแสที่ทำให้ขนลุก

ต่อมา ผมได้รับเชิญไปร่วมงานบุญที่บ้านเกาะหมี ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามคำเชิญของบังฮับ ญาติลูกพี่ลูกน้อง หลานโต๊ะเดด บิลหมาด พี่ชายคนโตของแก่โหด บิลหมาด คุณตาผู้ล่วงลับของผม

พี่หวันหย๊ะ ภรรยาของบังฮับเข้ามาทักทายและแนะนำตัวว่า เป็นญาติทางฝั่งแม่ของผม คำบอกเล่าของพี่หวันหย๊ะฯ ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้น

แต่เมื่อสอบถามรายละเอียด เธอเล่าให้ฟังว่ามีพ่อชื่อ  “มูสา บาวกูล” แต่ก็ไม่สามารถระบุความสัมพันธ์กับแม่ผมได้อย่างชัดเจน ผมสะดุดใจกับชื่อ “มูสา บาวกูล” เพราะเหมือนกับชื่อ พ่อของ หวาสุไหลมาน บาวกูล ที่ ต.กำแพงเพชร แต่ผมไม่ได้ถามว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า (ผมมาทราบในภายหลังว่า หวาสุไหลมาน บาวกูล กับพี่หวันหย๊ะ บินหมาด เป็นพี่น้องกัน มีพ่อคนเดียวกัน คือ “โต๊ะมูสา บาวกูล” แต่คนละแม่)

ต่อมาสักครู่  หวาราลิขอ (ป้าขอ) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพี่หวันหย๊ะ เดินเข้ามาแนะนำตัวเอง ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่ผม  และได้อธิบายลำดับถึงพ่อแม่ และปู่ย่าตายายของเธอ ว่า  พ่อของเธอเป็นชาวอินโดนีเซียที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นบังคับเกณฑ์แรงงานเข้ามาเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อ “นายหวัน“ ใช้นามสกุล “บุญจ่าง” ส่วนแม่ ชื่อ “โต๊ะมิด๊ะ บาวกูล” เป็นน้องสาวของโต๊ะมูสา บาวกูล พ่อของพี่หวันหย๊ะ  ทั้งสองคนเป็นบุตรของ “โต๊ะยูหนุด บาวกูล” และได้เล่ารายละเอียดรายชื่อพี่น้องบุตรโต๊ะยูหนุด บาวกูล ให้ผมทราบทุกคน (ผมได้บันทึกข้อมูลเอาไว้เป็นแผนภูมิต้นไม้เรียบร้อยแล้ว)

ชื่อ “ยูหนุด” ทำให้ ผมสะดุดใจและขนลุกซู่  หวนคิดถึงเหตุการณ์ที่แก่ม๊ะเล่าให้ฟัง

ผมเริ่มสงสัยว่า พ่อของแก่ม๊ะอาจเกี่ยวข้องกับตระกูล “บาวกูล”

เธอยังเล่าต่อว่า เมื่อตอนที่แม่กับพ่อผมแต่งงานกัน ท่านได้มาร่วมงานที่บ้านลำธาร์ ตำบลโคกสัก ด้วย

 19 ตุลาคม 2567 – ความจริงที่เริ่มปรากฏ

ขณะที่เดินทางไปเยี่ยมบังฮับ อีกครั้ง ที่บ้านท่ามะปราง  เนื่องจากวางแผนไว้ว่าจะไปสัมภาษณ์หวาราลิขอ กับพี่หวันหย๊ะฯ อย่างละเอียดอีกครั้ง  ระหว่างทางผมแวะเยี่ยมคุณลุงของผมสองท่าน “หวาหมาน หวาหมีด ยีหวังกอง” ซึ่งเป็นลูกชายของ โต๊ะหมัด ยีหวังกอง พี่ชายปู่ บ้านอยู่ที่บริเวณสามแยกท่าชะมวง  ผมได้พบกับ “หวาเจะหวา” ภรรยาของหวาหมีด ผมเล่าให้หวาเจะหวาฟังว่าจะไปทำอะไร

เธอเล่าให้ฟังว่า พื้นเพเดิมของท่านเป็นคนบ้านหัวปาบ  ท่านเคยได้ยินตำนานเรื่องเล่าโบราณ ระหว่างสองพี่น้องบ้านหัวปาบ  “นายหนุด หรือยูหนุด เป็นพี่ชายของนายบ่าว บาวกูล” ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องเขตแดนที่ดิน จนนายหนุด หรือยูหนุด ใช้มีดแทงนายบ่าวน้องชายเสียชีวิต ญาติได้นำเอามีดนั้นขึ้นไปซุกซ่อนไว้บนยอดมะพร้าว ต่อมาต้นมะพร้าวต้นนั้นแห้งตายในภายหลัง

ผมคิดในใจว่า เหตุการณ์นี้คงเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2475 ตอนที่แก่ม๊ะยังเป็นเพียงเด็กน้อยวัย 4 ขวบ ในยุคนั้น การติดต่อสื่อสารแทบไม่มี กระบวนการยุติธรรมก็อยู่ห่างไกลเหลือเกิน สำหรับคนในชนบทอย่างบ้านหัวปาบ ความจริงจึงอาจดับสูญไปพร้อมกับความเงียบของคนในชุมชน และไม่มีใครสามารถเอ่ยถึงความเป็นธรรมได้เลย

นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่า มีเรื่องเล่าในหมู่บ้านอีกเรื่องหนึ่ง “โต๊ะยูหนุด หรือนายหนุด คนเดียวกัน ได้มอบหมายให้บุตรชายคนเล็ก อายุเพียง 7 ขวบ ไปเลี้ยงวัวในทุ่ง ปรากฏว่าฝูงวัวไปกินข้าวในทุ่งนาของเพื่อนบ้านที่กำลังแตกยอด เกิดความเสียหาย เจ้าของที่นามาต่อว่าโต๊ะยูหนุดฯ ท่านลงโทษบุตรชายด้วยการเฆี่ยนตีข้ามวันจนเสียชีวิต”

เมื่อได้ยินเรื่องนี้ หัวใจผมเหมือนถูกบีบแน่น ความเจ็บปวดที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนแล่นขึ้นมาจุกอยู่ที่อก น้ำตาไหลเอ่อไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

 23 พฤศจิกายน 2567 – การยืนยันจากญาติที่บ้านหัวปาบ

ผมเดินทางไปบ้านหัวปาบ และได้พบกับ “พี่ฉ๊ะ” อาฉ๊ะ เบ็ญฤทธิ์ ลูกสาวของ นางหะลิม๊ะ บาวกูล ซึ่งเป็นหลานของโต๊ะหมัด บาวกูล ได้ข้อมูลญาติพี่น้องสายตระกูล “บาวกูล” มาอีกสายหนึ่ง  เธอเล่าให้ฟังถึงเรื่องเล่าโบราณของบ้านหัวปาบ ว่า

 “นายหนุด หรือ ยูหนุด แทงนายบ่าวเสียชีวิต ด้วยมีดกริชยาวคล้ายดาบ  หลังเกิดเหตุญาติได้นำมีดกริชยาวเล่มนั้น ไปซุกซ่อนไว้บนยอดต้นมะพร้าว ต่อมาต้นมะพร้าวต้นนั้นแห้งตายยืนต้น โดยไม่ทราบสาเหตุ”

ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับที่หวาเจะหวาเล่า  ทำให้ผมเริ่มมั่นใจว่า พ่อของยายมีนามสกุล “บาวกูล” และถูกโต๊ะยูหนุด หรือหนุด บาวกูล พี่ชายแท้ๆ ของตัวเองฆ่าตาย

จากเรื่องนี้ทำให้ผมฉุกใจคิดได้ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ  ถึงแม้ว่าแก่สัน โส๊ะสมาคม ได้พาครอบครัวอพยพโยกย้ายออกจากบ้านหัวปาบมานานแสนนานมากแล้ว ด้วยกาลเวลาและระยะทาง ทำให้พวกเราไม่รู้จักญาติพี่น้องที่นั่นอีกต่อไป แม้เวลาจะผ่านไป ความทรงจำของคนหัวปาบที่มีต่อครอบครัวเรายังคงถูกเล่าขาน มีคนรู้จักผม เสมือนผมเดินอยู่ท่ามกลางไฟสปอร์ตไลท์ โดยมีสายตาของญาติพี่น้องเฝ้ามองดูอยู่เงียบๆ ตลอดมา

#การสืบค้นที่ประสบความสำเร็จ

จากการสืบค้นและการพบปะญาติ ๆ ทำให้ผมสามารถคลี่คลายปมปริศนาเกี่ยวกับตัวตน นามสกุลของพ่อของแก่ม๊ะได้

แม้จะใช้เวลานานและต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ ความพยายามนี้ทำให้ผมได้รู้จักรากเหง้าของตนเองมากขึ้น และสามารถส่งต่อเรื่องราวนี้ให้กับลูกชายและคนรุ่นหลังได้

#บทสรุปแห่งการให้อภัย

ปริศนาเกี่ยวกับพ่อของแก่ม๊ะ ที่เคยเป็นเงามืดมาหลายทศวรรษ ในที่สุดก็คลี่คลายลงจนกระจ่าง  สิ่งที่ผมค้นพบ ไม่ใช่แค่ ‘#นามสกุลบาวกูล’ แต่ยังรวมถึงรากเหง้าและเรื่องราวของบรรพบุรุษที่ไม่มีใครเคยพูดถึง

เมื่อทุกอย่างกระจ่างชัด ผมกลับ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกอาฆาตแค้น

เพราะทันทีที่ผมได้รับรู้ว่า “โต๊ะยูหนุด บาวกูล” คือคนที่ลงมือปลิดชีวิตน้องชายของตัวเอง หัวใจของผมกลับไม่ได้เต็มไปด้วยความคั่งแค้นเหมือนที่เคยจินตนาการไว้

มีเพียงแต่ ความเงียบ ความเข้าใจ และความสงบในจิตใจ

โต๊ะยูหนุดอาจเป็นคนใจร้อน อาจเต็มไปด้วยโทสะ อาจถูกครอบงำด้วยอารมณ์เพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างลาลับจากโลกนี้ไป ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวและเงาของอดีต

และผมเลือกจะไม่ปล่อยให้เงานั้นเป็นเงาแห่งความโกรธแค้น

ผมให้อภัยโต๊ะยูหนุด บาวกูล ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้รับรู้ความจริง

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เขาก็คือพี่ชายของนายบ่าว คือสายเลือดเดียวกันที่เคยเติบโตมาใต้ชายคาเดียวกัน กินข้าวจากหม้อเดียวกัน

ผมไม่ได้ค้นพบแค่นามสกุล “#บาวกูล” ของแก่หยัง (ตาทวด) แต่ผมค้นพบ “หัวใจของตัวเอง”

#ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาและให้อภัยต่อทุกดวงวิญญาณที่เคยเดินอยู่บนโลกนี้

Wednesday, March 12, 2025

ชาวมลายูพุทธ: อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไป แต่วัฒนธรรมที่ยังฝังรากในคนใต้







ชาวมลายูพุทธ: อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไป แต่วัฒนธรรมที่ยังฝังรากในคนใต้

แม้วันนี้คนใต้ไทยพุทธจะมองว่าตัวเองเป็นไทยโดยสมบูรณ์ พูดภาษาไทย นับถือพุทธศาสนา และใช้ชีวิตแบบไทยทุกประการ แต่เชื่อหรือไม่ว่า รากเหง้ามลายูยังคงอยู่ในทุกมิติของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาษา ศิลปะ อาหาร และขนบธรรมเนียมที่พวกเขาสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ร่องรอยของมลายูในภาษาไทยปักษ์ใต้

สำเนียงปักษ์ใต้มีจังหวะการพูดที่รวดเร็ว หนักแน่น และแตกต่างจากไทยกลางอย่างชัดเจน คำศัพท์หลายคำที่ใช้กันเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ล้วนมีรากจากภาษามลายู เช่น

 “เกลอ” (เพื่อน) จาก Keluluh
 “ตะเบะ” (วันทยหัตถ์) จาก Tabei
 “บูดู” (น้ำปลาหมัก) จาก Budu
 “ดะ” (อย่า) จาก Tak
 “อาจาด” (แตงกวาดอง) จาก Acar

ทำไมภาษาไทยปักษ์ใต้ถึงแตกต่างจากไทยกลาง?

เมื่อรัฐสยามขยายอำนาจลงมาสู่ภาคใต้ ลูกหลานชาวมลายูต้องเรียนรู้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง (L2) เพื่อใช้ในการปกครองและสื่อสารกับทางการไทย ด้วยพื้นฐานเสียงจากภาษามลายู ทำให้ภาษาไทยสำเนียงปักษ์ใต้มีเอกลักษณ์ เช่น
 เสียงสระถูกลดรูปและกระชับขึ้น เช่น “ไปไหน” → “ไปไน”
 จังหวะการพูดที่รวดเร็วและหนักแน่น คล้ายกับภาษามลายู
 เสียง “ร” ยังชัดเจนและกลิ้งลิ้น เช่น “โรงเรียน”, “ร้อน”, “รถไฟ” ซึ่งแตกต่างจากบางสำเนียงไทยกลาง

#สำเนียงจากทั่วโลก: #ประสบการณ์ตรงจากห้องเรียนที่อินเดีย

กระบวนการนี้ คล้ายกับสิ่งที่ผมได้สัมผัสระหว่างการอบรมฝึกอบรมภาษาอังกฤษที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในปี 2559 ผมได้พบเพื่อนร่วมชั้นเรียนจากหลายประเทศ และทุกคน พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่สะท้อนรากภาษาแม่ของตนเอง

 #เอเชียใต้: อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน และเนปาล มีจังหวะการพูดที่ได้รับอิทธิพลจากสันสกฤตและฮินดี

 #เอเชียกลาง: คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน มีสำเนียงที่สะท้อนรากของภาษาตระกูลเตอร์กิก

 #แอฟริกา: ไอวอรีโคสต์ คองโก เอธิโอเปีย แคเมอรูน ซิมบับเว เซียร่าลีโอน มีจังหวะการพูดที่สะท้อนรากของภาษาท้องถิ่น

 #ตะวันออกกลาง: เพื่อนจากโอมาน มีสำเนียงที่สะท้อนเอกลักษณ์ของภาษาอาหรับ

#แคริบเบียน: เพื่อนจากเฮติ มีสำเนียงที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาฝรั่งเศสและครีโอล (Haitian Creole) ทำให้บางเสียงออกเสียงแตกต่างจากภาษาอังกฤษมาตรฐาน โดยเฉพาะการออกเสียงตัว “h” และจังหวะการพูดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 #โอเชียเนีย: เพื่อนจากปาปัวนิวกินี มีสำเนียงที่สะท้อนรากภาษาออสโตรนีเซียนของชนเผ่าพื้นเมือง

#ยุโรปตะวันออกและบอลข่าน: รัสเซีย: ภาษาอังกฤษของเพื่อนจากรัสเซียมีจังหวะการพูดที่หนักแน่น และมักไม่มีเสียง “th” ในภาษาอังกฤษ ทำให้บางคำถูกออกเสียงใกล้เคียงกับ “z” หรือ “d” แทน  ลิทัวเนีย: เพื่อนจากลิทัวเนียพูดภาษาอังกฤษด้วยจังหวะของภาษาบอลติก ซึ่งมีเสียงสระที่หนักแน่นและจังหวะการพูดที่มั่นคง  เบลารุส: สำเนียงภาษาอังกฤษของเพื่อนจากเบลารุสได้รับอิทธิพลจากรัสเซีย มีเสียงพยัญชนะที่เด่นชัดและการออกเสียงที่เน้นหนักในพยางค์ต้นของคำ

#เอเชียตะวันออก: มองโกเลีย: เพื่อนจากมองโกเลียพูดภาษาอังกฤษด้วยจังหวะที่สะท้อนลักษณะของภาษามองโกลิก ซึ่งเป็นภาษาที่มีเสียงพยัญชนะหนักแน่นและมีการลงน้ำหนักในพยางค์ต้นของคำ สำเนียงของพวกเขามักจะมีเสียงที่แน่นและชัดเจนมากกว่าภาษาอังกฤษสำเนียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

#เอเชียตะวันออกเฉียงใต้:  เพื่อนจากเวียดนาม กัมพูชา (รุ่นผมไม่มีพม่า) มีสำเนียงที่สะท้อนรากภาษาออสโตรเอเชียติก  ลาว: ภาษาอังกฤษของเพื่อนจากลาวได้รับอิทธิพลจากภาษาลาว ซึ่งมีโครงสร้างเสียงคล้ายกับภาษาไทย มีโทนเสียงสูงต่ำที่ชัดเจน และบางครั้งออกเสียง “r” เป็น “l”

แม้แต่ผมเอง ก็พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงไทยโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับที่สำเนียงไทยปักษ์ใต้เกิดขึ้นจากการที่ลูกหลานมลายูต้องเรียนรู้ภาษาไทย แล้วพูดออกมาด้วยจังหวะและเสียงของตนเอง

#ย้อนกลับมาดูที่รากเหง้าของตัวเอง

ศิลปะ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมที่เราสืบทอดมาไม่ใช่สิ่งที่เราได้รับจากมลายู แต่มันเป็นของเราเองมาตั้งแต่ต้น

 หนังตะลุง มีรากเดียวกับ “วายัง กูลิต” ของมลายู แต่เราไม่ได้รับมาในภายหลัง เพราะมันเป็นของเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษ
 มโนราห์ เดิมเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับจิตวิญญาณของชาวมลายู และแม้ว่าวันนี้มันถูกมองว่าเป็นศิลปะของไทยพุทธ แต่มัน ฝังอยู่ในรากของเรา

อาหารใต้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น  ข้าวยำกับบูดู ที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก  แกงกะทิและเครื่องเทศ ที่เป็นรสชาติของบ้านเรา

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เรารับมา ไม่ใช่สิ่งที่เราหยิบยืมมาจากใคร แต่มันเป็นสิ่งที่เรา “เป็น”

แม้ว่าวันนี้คนใต้ไทยพุทธจะมองว่าตัวเองเป็นไทยโดยสมบูรณ์ แต่แท้จริงแล้ว ความเป็นมลายูไม่เคยหายไปจากสายเลือด

เราไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้มาจากมลายู แต่ “เรา” คือมลายูมาตั้งแต่ต้น เราคือผู้สืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้มาโดยสายเลือด เราเติบโตมากับมันโดยไม่เคยรู้สึกว่าเป็นของแปลกแยก  นี่คือร่องรอยของความเป็นมลายูที่ยังคงอยู่ในคนใต้ โดยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อน

#ลูกหลานปู่ย่าตายายมรดกจากอาณาจักรศรีวิชัย

Friday, March 7, 2025

“รำลึกถึงครูจูหลิง ปงกันมูล”

 “รำลึกถึงครูจูหลิง ปงกันมูล”





วันนี้ผมมีโอกาสเดินทางมายังสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์สำคัญในอดีต “มัสยิดบ้านกูจิงลือปะ และ อาคารเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกูจิงลือปะ” พร้อมทั้งได้ร่วมละหมาดวันศุกร์กับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ครูจูหลิง ปงกันมูล เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และวันนี้ ผมได้เห็นกับตาตัวเองว่าชาวบ้านที่นี่ต่างรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ในอดีต พวกเขาล้วนเป็นคนดี มีน้ำใจ และใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุข

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ได้สะท้อนตัวตนของชุมชนทั้งหมด แต่เป็นการกระทำของคนเพียงกลุ่มน้อย… กลุ่มที่มีอาวุธและอิทธิพลในหมู่บ้าน ณ เวลานั้น ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว

วันนี้แม้เวลาจะผ่านไป 14 ปี แต่เรื่องราวของครูจูหลิงยังคงอยู่ในใจของพวกเราทุกคน ขอรำลึกถึงเธอ ผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษา และขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกคนที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่

“ขอให้เรื่องราวในอดีตเป็นบทเรียน และขอให้สังคมเราเดินไปข้างหน้าด้วยสันติและความเข้าใจ”

#ครูจูหลิงปงกันมูล #รำลึกถึงครูผู้เสียสละ #สามจังหวัดชายแดนใต้ #ความดีไม่มีวันตาย #สันติภาพและความเข้าใจ

จากมลายูพุทธสู่ไทยพุทธ และมลายูมุสลิมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

จากมลายูพุทธสู่ไทยพุทธ และมลายูมุสลิมที่เปลี่ยนแปลงไป

คนไทยพุทธในภาคใต้แทบทั้งหมดในปัจจุบันมีบรรพบุรุษเป็นชาวมลายูพุทธมาก่อน ย้อนกลับไปเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว ดินแดนภาคใต้เคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายู ซึ่งเคยถูกปกครองโดยอาณาจักรสำคัญสองแห่ง ได้แก่ อาณาจักรศรีวิชัย และ อาณาจักรตามพรลิงก์

ศรีวิชัย เป็นอาณาจักรมลายูพุทธที่รุ่งเรืองในช่วง ศตวรรษที่ 7-13 ค.ศ. (พ.ศ. 1143-1843) โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่บริเวณเกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู อาณาจักรแห่งนี้มีอิทธิพลครอบคลุมดินแดนที่เป็นภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ภาษามลายูเป็นภาษาหลักของอาณาจักรนี้ ซึ่งถูกใช้ในการติดต่อค้าขาย ศาสนา และการปกครอง

หลังจากที่อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลง อาณาจักรตามพรลิงก์ ก็เข้ามามีบทบาทแทน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช ตามพรลิงก์ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมมลายูพุทธไว้ก่อนที่อิทธิพลของอาณาจักรไทยจากภาคกลางจะแผ่ขยายลงมาในช่วง ศตวรรษที่ 14-15 ค.ศ. (พ.ศ. 1843-2043)

เมื่อรัฐไทยเข้ามาปกครอง กระบวนการกลืนกลายของมลายูพุทธสู่ไทยพุทธเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง ในที่สุดชาวมลายูพุทธก็ผนวกรวมเป็นไทยพุทธโดยสมบูรณ์ อัตลักษณ์ดั้งเดิมค่อยๆ เลือนหายไปจนแทบไม่มีใครระลึกได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาคือมลายู

ในขณะที่มลายูพุทธสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ มลายูมุสลิมยังคงสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้เนื่องจากศาสนาอิสลามเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากไทยพุทธ อย่างไรก็ตาม มลายูมุสลิมในหลายจังหวัดที่อยู่นอกสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ และสตูล ค่อยๆ สูญเสียภาษามลายูไป คนรุ่นใหม่พูดภาษาไทยเป็นหลักและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น

ภาพลักษณ์ของคนใต้ กับร่องรอยทางพันธุกรรมจากอดีต

รูปร่างหน้าตาของคนใต้ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการผสมผสานทางชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน คนใต้จำนวนมากมีลักษณะ ผิวสองสี ตาคม จมูกโด่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในกลุ่มประชากรมลายูและชาติพันธุ์อื่นๆ ในคาบสมุทรมลายู

แม้ว่าผลการศึกษาดีเอ็นเอจะพบว่าคนไทยในปัจจุบันมีร่องรอยทางพันธุกรรมของกลุ่มชาวไท-กระไดและชาวมอญอยู่บ้าง แต่โครงสร้างทางกายภาพของคนใต้ก็แตกต่างจากคนไทยในภาคเหนือและภาคอีสานอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของชาวมลายู ชาวอินเดียตอนใต้ และชนกลุ่มอื่นๆ ที่เคยมีบทบาทในภูมิภาคนี้

ชาติพันธุ์ไม่มีความบริสุทธิ์ ไทยและมลายูต่างก็เป็นลูกผสมทางประวัติศาสตร์

หากมองให้ลึกลงไป ประวัติศาสตร์ของทั้งไทยและมลายูต่างก็เต็มไปด้วยการผสมผสานของผู้คนและวัฒนธรรม ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวไว้ว่า “คนไทยมาจากคนไม่ไทยหลายชาติพันธุ์” เช่นเดียวกับ อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า “คนไทยมาจากชาวสยาม ซึ่งเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์”

ในลักษณะเดียวกัน ไม่มีมลายูแท้ในปัจจุบัน เพราะชาวมลายูก็เป็นลูกผสมของกลุ่มชนต่างๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตลอดหลายพันปี

ดังนั้น ไม่ว่าภูมิหลังของเราจะเป็นไทยหรือมลายู แท้จริงแล้วเราทุกคนล้วนเป็นผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์แห่งการผสมผสาน ไม่มีชาติพันธุ์ใดที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ เพราะทุกสังคมล้วนเกิดจากการหลอมรวมของผู้คนที่เดินทางและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

คนไทยพุทธในภาคใต้ทุกวันนี้อาจไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับมลายูอีกแล้ว แต่ในแง่ของเชื้อสาย บรรพบุรุษของพวกเขาก็คือชาวมลายูที่ครั้งหนึ่งเคยนับถือศาสนาพุทธมาก่อน เช่นเดียวกับที่ชาวมลายูในปัจจุบันเองก็สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่มาจากหลากหลายแหล่งเช่นกัน


Friday, February 28, 2025

ลูกหลานชาวมลายูโบราณในภาคใต้ของไทย: พวกเขาหายไปไหน?

 


ลูกหลานชาวมลายูโบราณในภาคใต้ของไทย: พวกเขาหายไปไหน?

ภาคใต้ของไทยในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมลายูโบราณ เช่น ศรีวิชัย ลังกาสุกะ และตามพรลิงค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ศาสนา และการค้าของชาวมลายู ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่เข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 13-15 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ชาวมลายูที่ยังคงพูดภาษามลายูได้ในไทยเหลืออยู่เพียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของสงขลา

คำถามสำคัญคือ แล้วประชากรมลายูในจังหวัดอื่นๆ หายไปไหน? ทำไมหลายคนที่มีเชื้อสายมลายูกลับไม่มีอัตลักษณ์มลายูหลงเหลืออยู่เลย? 

มาครับผมจะเล่าให้ฟัง

1. การผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมไทย

ในอดีต ภาคใต้ของไทยเต็มไปด้วยประชากรที่เป็นชาวมลายูพุทธและมุสลิม ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประชากรมลายูจำนวนมาก ถูกหลอมรวมเข้าสู่สังคมไทยโดยสมบูรณ์

 - ชาวมลายูพุทธ: อาณาจักรมลายูโบราณ เช่น ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) เคยมีศาสนาพุทธมหายานเป็นศาสนาหลัก ก่อนที่พุทธเถรวาทจากสยามจะเข้ามา เมื่อรัฐไทยขยายอำนาจลงใต้ กลุ่มมลายูพุทธ ค่อยๆ ผสมกลมกลืนกับประชากรไทยพุทธที่เข้ามาภายหลัง พวกเขาเริ่มใช้ภาษาไทย เปลี่ยนไปใช้ชื่อไทย และแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ทำให้อัตลักษณ์มลายูเลือนหายไป

 - ชาวมลายูมุสลิมนอกสามจังหวัดชายแดนใต้: ชาวมุสลิมในจังหวัดอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ตรัง และกระบี่ แม้ว่ายังคงถือศาสนาอิสลาม แต่ ส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษามลายูได้อีกแล้ว พวกเขาค่อยๆ เปลี่ยนไปใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นมลายูไป

2. การกวาดต้อนและอพยพโยกย้ายจากสงคราม

ในอดีต การทำสงครามไม่ได้มีเป้าหมายแค่การยึดดินแดน แต่ยังรวมถึง การกวาดต้อนประชากรเพื่อนำไปเพิ่มพลเมืองขยายอาณาจักร

 - ช่วงอยุธยา - รัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยทำสงครามกับหัวเมืองมลายูหลายครั้ง เช่น ปัตตานี เคดะห์ และตรังกานู  ชาวมลายูจำนวนมากถูกกวาดต้อนเข้ามาในสยาม และถูกกระจายไปยัง กรุงเทพฯ ธนบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา  (คุณพ่อของย่าผมเป็นลูกหลานเชลยศึกชาวกลันตัน) เมื่อพวกเขาถูกย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่คนไทยพุทธเป็นประชากรหลัก พวกเขาค่อยๆ กลายเป็นคนไทยพุทธโดยสมบูรณ์  บางส่วนอพยพหนีออกจากไทย  หลังสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบ ประชากรมลายูจำนวนมากอพยพไปอยู่ในรัฐมลายู เช่น กลันตันและตรังกานู  ทำให้จำนวนประชากรมลายูในภาคใต้ของไทยลดลง (ในปัจจุบัน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย) ราชวงศ์สุลต่านรัฐกลันตัน ถือว่าเป็นญาติใกล้ชิดกับเครือญาติอดีตราชวงศ์รัฐปัตตานี) 

3. นโยบายผสมกลมกลืนของรัฐไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูประบบปกครองแบบรวมศูนย์ ทำให้หัวเมืองมลายูถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และอัตลักษณ์มลายูค่อยๆ เลือนหายไป  การบังคับใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ:  ระบบโรงเรียนไทยแทนที่โรงเรียนที่ใช้ภาษามลายู ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องเรียนภาษาไทย  โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามถูกควบคุมโดยรัฐ ทำให้การเรียนภาษามลายูลดลง  การเปลี่ยนชื่อเมืองและชื่อบุคคล:  หลายเมืองที่เคยมีชื่อเป็นภาษามลายูถูกเปลี่ยนเป็นชื่อไทย เช่น “ปะลิส” กลายเป็น “สตูล”  ชาวมลายูเริ่มใช้ชื่อไทยและนามสกุลไทย ทำให้แยกไม่ออกจากคนไทยทั่วไป

4. ร่องรอยของมลายูที่ยังคงเหลืออยู่

แม้ว่าภาษามลายูจะเลือนหายไปจากหลายพื้นที่ แต่บางขนบธรรมเนียมและคำศัพท์จากภาษามลายูยังคงอยู่ในวัฒนธรรมภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะใน สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี

สถานที่ที่ยังมีร่องรอยของภาษามลายูในชื่อเมืองหรือหมู่บ้าน:

 “บาราโหม” (สงขลา) – มาจาก baruh ในภาษามลายู แปลว่า “ที่ลุ่ม”

 “เกาะตะลุเตา” (สตูล) – มาจาก telu laut แปลว่า “สามทะเล”

 “กะเปอร์” (ระนอง) – คล้ายกับ kapur แปลว่า “ปูนขาว”

 “ละงู” (สตูล) – มาจาก langkawi หรือ lagu ซึ่งหมายถึง “นกอินทรี”

คำศัพท์จากภาษามลายูที่ยังคงใช้ในภาษาถิ่นใต้:

 “โตฮัน” – หมายถึง พระเจ้า หรือ อัลลอฮฺ

 “บุหลัน” – หมายถึง ดวงจันทร์ (bulan)

 “ละมัย” – หมายถึง อ่อนเยาว์ สาวรุ่น (lemah แปลว่าอ่อนโยน)

 “เกลอ” – หมายถึง เพื่อนสนิท (kawan ในมลายู)

สรุป

ลูกหลานของชาวมลายูโบราณ ไม่ได้หายไปไหน แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่าน การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม การโยกย้ายถิ่นฐานจากสงคราม และนโยบายของรัฐไทย

 - ชาวมลายูพุทธส่วนใหญ่กลายเป็นไทยพุทธโดยสมบูรณ์

 - ชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรักษาอัตลักษณ์มลายูได้

 - ชาวมุสลิมนอกพื้นที่ดังกล่าว แม้จะยังเป็นมุสลิม แต่ก็สูญเสียอัตลักษณ์มลายูไป

 - บางขนบธรรมเนียม และคำศัพท์จากมลายูยังคงหลงเหลือในภาคใต้ของไทยจนถึงปัจจุบัน

และสุดท้าย… ถ้าเพื่อน พี่ น้อง ที่กำลังอ่านบทความอยู่นี้ เป็นคนใต้ หน้าคม ผิวสองสี แล้วสงสัยว่าทำไมหน้าตาไม่เหมือนคนไทยไท-กระได แบบคนภาคเหนือสุโขทัย คนภาคกลาง หรืออีสาน เลย… คำตอบก็คือ ท่านอาจเป็นลูกหลานชาวมลายูโบราณอย่างแน่นอน!

ประชากรชาวมลายูในอาณาจักรโบราณยังคงอยู่หรือไม่ หรือหายไปไหนกันหมด

 


ตามข้อมูลในประวัติศาสตร์ พื้นที่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นอาณาจักรของคนมลายู เมื่อครั้งที่ยังนับถือศาสนาฮินดู-พุทธมหายาน เช่นเดียวกันกับอาณาจักรลังกาสุกะ ตามพรลิงค์ หรืออาณาจักรมลายูอื่นๆ

ในปัจจุบันประชากรในภาคใต้ของไทยนอกจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4อำเภอของจังหวัดสงขลาแล้ว จังหวัดอื่นแทบจะไม่เหลือคนที่พูดภาษามลายูได้อีกต่อไป

สงสัยไหมครับว่า ลูกหลานคนมลายูจากอาณาจักรมลายูโบราณเดิมหายไปไหนกันหมด พวกเขาถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือถูกขับไล่จนพ้นออกไปจากแผ่นดิน หรืออพยพถอยร่นออกไป  หรือถูกกวาดก้อน เทครัวมา เอาผู้คนไปไว้ ในภูมิภาคต่างๆ ในกรุงเทพหรือปริมณฑล หรือผสมกลมกลืนเข้ากับคนไทยหรืออย่างไร 

หรือ อย่างผมเป็นคนมลายู โดยเชื้อสาย แต่อัตลักษณ์ภายนอกเป็นคนไทยไปแล้วเพราะได้รับการศึกษาการกล่อมเกลามาตั้งแต่เด็ก

ผมจะทยอยเล่าให้ฟังครับ InshaAllah أَن يَشَاءَ اللَّهُ

Tuesday, February 25, 2025

ชนชาติมลายู “นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่”

 ชนชาติมลายู “นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่”



หลายครั้งที่ผมมีได้ไปเยี่ยมเยียนพบปะพี่น้องประชาชนตามหมู่บ้านหรือตามมัสยิดต่างๆ เมื่อมีโอกาสมักจะเล่าให้พี่น้องฟังอยู่เสมอว่า ผมภูมิใจที่เป็นลูกหลานชาวมลายู แม้กาลเวลาและระยะทางจะทำให้ผม และญาติพี่น้องที่ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ในปัจจุบัน ไม่สามารถพูดมลายูได้อีกต่อไปแล้ว แต่เมื่อสืบค้นบรรพบุรุษย้อนหลังกลับไป พบว่า ปู่ย่าตายาย ที่แม้บางสายอาจจะเป็นคนจีน (อำแดงสร้อย ณ สงขลา, แก่ดวง ณ ไพรี) คนสยาม หรือแม้แต่เปอร์เซียบ้าง (ณ พัทลุง) แต่บรรพบุรุษส่วนใหญ่ของผมมาจาก 4 รัฐมาลัยในอดีต  ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย คือ “ปะลิศ (แก่หรอ บิลยีหลี) กลันตัน (แก่แอ ดลระหมาน) ตรังกานู (หะยีอุมาร์ บินหะยีวันอะหมัด (โต๊ะชายนาย)) และไทรบุรี (บิลหมาด-เพ็ญอำมาศ)

หลายคนคงจะสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร???

เหตุผลที่ชาวมลายูเป็นนักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่:

-ชนชาติมลายู มีต้นกำเนิดจากหมู่เกาะและชายฝั่งทะเล

-ชาวมลายูตั้งถิ่นฐานบริเวณคาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ

-ชาวมลายูในยุคบรรพกาล ใช้เรือแบบดั้งเดิม (Perahu และ Jong) – สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกได้ 

-เป็นผู้ควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญ – อาณาจักรศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 7-13) ควบคุมช่องแคบมะละกา ทำให้ชาวมลายูเป็นผู้เชื่อมโยงการค้าระหว่างจีน อินเดีย และโลกอาหรับ 

-อีกทั้งได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับและอินเดีย – พัฒนาเทคนิคการเดินเรือและการค้า

ตัวอย่างความสามารถของชาวมลายูในประวัติศาสตร์:

-อาณาจักรศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 7-13) – เป็นศูนย์กลางการเดินเรือและพุทธมหายาน

-อาณาจักรมะละกา (ศตวรรษที่ 15-16) – เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลและการเผยแพร่อิสลาม

-ชาวมลายูในมาดากัสการ์ – เป็นหลักฐานว่าชาวมลายูสามารถเดินเรือข้ามมหาสมุทรไปตั้งถิ่นฐานในแอฟริกาได้

ด้วยเหตุนี้ ชาวมลายูจึงได้รับฉายาว่าเป็น “นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่” เพราะเป็นผู้ควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญที่สุดของเอเชีย และสามารถเดินเรือไปยังดินแดนไกลโพ้นได้

Monday, February 24, 2025

กระชับสัมพันธ์ ไทย-มาเลเซีย 🇹🇭🇲🇾

 🤝 กระชับสัมพันธ์ ไทย-มาเลเซีย 🇹🇭🇲🇾






📅 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น.

นายซันตารา นูซันตารา นายกเทศมนตรีเมืองตากใบ พร้อมด้วย

 พ.ต.อ.ศุภชัช ณ พัทลุง ผกก.สภ.ตากใบ และ นายอาเฟนดี บินปูเต๊ะ สมาชิกสภา อบจ.นราธิวาส (อ.ตากใบ เขต 1) พร้อมด้วยบุคลากรเทศบาลเมืองตากใบ ร่วมให้การต้อนรับ Mr. Mohamed Yusoff Khan Bin Mohd Hassan ผู้อำนวยการกองตรวจคนเข้าเมืองรัฐกลันตัน และ Mr. Suhaizan Bin Abdullah หัวหน้าตรวจคนเข้าเมือง Pengkalan Kubor, Kelantan ประเทศมาเลเซีย

การเยือนครั้งนี้จัดขึ้น ณ เทศบาลเมืองตากใบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมืองชายแดน ไทย-มาเลเซีย บรรยากาศเต็มไปด้วยมิตรไมตรี พร้อมการหารือข้อราชการเพื่อกระชับความร่วมมือด้านตรวจคนเข้าเมืองและความมั่นคงชายแดน

อนึ่ง กรมตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย (Jabatan Imigresen Malaysia) เป็นหน่วยงานพลเรือนที่รับผิดชอบด้านการตรวจคนเข้าเมืองและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีโครงสร้างการบริหารงานแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าสูงสุดของกรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียมีตำแหน่งเป็น “อธิบดี” (Director-General) ปัจจุบันคือ ดาโต๊ะ รุสลิน บิน ยูโซะ (Dato’ Ruslin Bin Jusoh)  

สำหรับการดำเนินงานในระดับรัฐและเขตแดน กรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียมีสำนักงานสาขาในแต่ละรัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและควบคุมการเข้าออกของบุคคลตามจุดผ่านแดนต่าง ๆ ซึ่งโครงสร้างการบริหารงานนี้แตกต่างจากประเทศไทยที่การตรวจคนเข้าเมืองอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

#ตากใบ #ไทยมาเลเซีย #กระชับสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

Monday, February 17, 2025

แผ่นดินงอก: เรื่องราวจากลังกาสุกะสู่ปัตตานีและปัญหาในปัจจุบัน

 




แผ่นดินงอก: เรื่องราวจากลังกาสุกะสู่ปัตตานีและปัญหาในปัจจุบัน

แผ่นดินไม่ได้หยุดนิ่ง  เหมือนกับที่ชีวิตคนเราก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มันมีพลวัต บางครั้งมันหายไปใต้คลื่น บางครั้งมันก็งอกขึ้นมาจากทะเล และทุกครั้งที่แผ่นดินเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนชะตากรรม และชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนนั้น

วันนี้ผมจะเล่าถึงเรื่องราวของ “อาณาจักรลังกาสุกะ” เมืองท่าของชาวมลายูโบราณ เมื่อครั้งที่ยังนับถือศาสนาพุทธ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ก่อนจะจมหายไปเพราะแผ่นดินงอก จนกระทั่ง “ปัตตานี” ก้าวขึ้นมาแทนที่ และเรื่องของแผ่นดินงอกใน ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่ผมเคยรับราชการอยู่ที่นั่นถึง 4 ปี เคยเป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

ลังกาสุกะ: เมืองท่าที่ถูกคลื่นแห่งกาลเวลากลืนหาย

ย้อนกลับไปกว่า พันปีที่แล้ว ลังกาสุกะเคยเป็นเมืองท่าสำคัญ ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นจุดเชื่อมการค้าระหว่าง อินเดีย จีน และอาหรับ มีสินค้าหรูหราเดินทางผ่านที่นี่ ทั้งเครื่องเทศ ไม้หอม และทองคำ

แต่ความรุ่งเรืองนั้น ไม่จีรัง แผ่นดินที่เคยติดทะเลกลับถูก ตะกอนจากแม่น้ำและทะเลพัดพามาทับถม จนชายฝั่งทะเลถอยร่นออกไปเรื่อย ๆ เรือสินค้าที่เคยมาจอดที่นี่เริ่ม มุ่งหน้าไปยังท่าเรือแห่งใหม่ ที่สะดวกกว่า เช่น มะละกา และปัตตานี ลังกาสุกะที่เคยคึกคักจึงถูกทิ้งร้างในที่สุด

แผ่นดินงอกในเทพา: ปัญหาของวันนี้ที่สะท้อนอดีต

#ข้ามกาลเวลามาหารักแท้ เอ๊ย!!!!  มาสู่ ศตวรรษที่ 21 เรื่องราวของแผ่นดินงอกยังไม่จบ เมื่อ พื้นที่ใหม่กว่า 300 ไร่ งอกขึ้นมาจากทะเลใน ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แต่แทนที่จะเป็นโอกาส กลับกลายเป็นปัญหา เมื่อประชาชนบางส่วนเข้าไปครอบครองพื้นที่นี้

ที่มาของแผ่นดินงอก

 • เกิดขึ้นจากตะกอนสะสมหลังการสร้างเขื่อนกันคลื่น บริเวณปากคลองสะกอมในปี พ.ศ. 2535 (พิกัดอยู่ในภาพถ่ายทางอากาศ)

 • แผ่นดินงอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 25-30 เมตร โดยกัดเซาะจากพื้นที่อื่นใกล้เคียงซึ่งถูกคลื่นกัดเซาะหายไป

 • จนปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่กว่า 300 ไร่

ปัญหาที่เกิดขึ้น

 • ประชาชนบางส่วนเข้าไปครอบครองทำให้เกิดข้อพิพาท ระหว่างประชาชนต่อประชาชนและระหว่างประชาชนต่อหน่วยงานราชการ

 • หน่วยงานรัฐรับรู้มาตั้งแต่ปี 2556 แต่เพิ่งเริ่มกระบวนการรังวัดที่ดิน

 • ชาวบ้านที่ไม่ได้บุกรุกต้องการให้ที่ดินเป็นสมบัติสาธารณะ เพื่อจัดสรรให้กับรัฐและผู้ยากไร้

ในครั้งนั้น เมื่อ 16 กรกฎาคม 2561 นายสว่าง กองอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 6 (สงขลา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ในขณะนั้น)

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดพญาเสือ และเจ้าที่หน้าที่ฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งทหาร ฝ่ายปกครองที่ไม่ได้เอ่ยนาม ได้เข้าร่วมปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่แผ่นดินงอก 300 ไร่นั้น

อดีตและปัจจุบัน: แผ่นดินเปลี่ยน คนต้องปรับตัว

เรื่องของ ลังกาสุกะ และแผ่นดินงอกในเทพา เป็นตัวอย่างของ อำนาจของธรรมชาติ ที่ไม่มีใครควบคุมได้

 • ลังกาสุกะ สูญเสียเมืองท่าเพราะชายฝั่งหดหาย

 • เทพา เกิดพื้นที่ใหม่แต่กลายเป็นปัญหาการบุกรุก

สิ่งที่เหมือนกันคือ มนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน หากเราจัดการไม่ดี เราจะกลายเป็นแค่ผู้เฝ้าดูอดีตที่สูญหายไป เช่นเดียวกับลังกาสุกะที่เหลือเพียงซากเมืองโบราณ

บทสรุป: บทเรียนจากอดีตสู่ปัจจุบัน

แผ่นดินงอก ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเปลี่ยนโชคชะตาของลังกาสุกะ และวันนี้มันกำลังเปลี่ยนโชคชะตาของเทพา

หากเราวางแผนให้ดี แผ่นดินงอก อาจกลายเป็นโอกาส ให้รัฐและประชาชนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ มันอาจกลายเป็นอีกหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่สูญหาย เหมือนลังกาสุกะที่เคยรุ่งเรืองแต่ล่มสลายไปตามกาลเวลา



Saturday, February 15, 2025

Garden of Five Senses: สวนแห่งความรู้สึกและความรัก

 Garden of Five Senses: สวนแห่งความรู้สึกและความรัก







ควันหลงจากวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก


เมื่อระหว่าง 6 มกราคม - 16 เมษายน 2559 เมื่อครั้งที่ผมยังรับราชการอยู่ที่ สภ.บูเก๊ะตา จว.นราธิวาส ผมมีโอกาสได้เดินทางไปฝึกอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ Certificate of proficiency in English and IT skills Course ตามโครงการ ITEC/SCAAP Programme/TCS of Colombo Plan/ICCR/Hindi Scholarship ณ กรุงนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย เป็นระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง ระหว่างฝึกอบรมมีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ และดินแดนต่างๆ ภายในประเทศ


วันนี้เพิ่งผ่านพ้นวันแห่งความรักมาได้หนึ่งวัน ผมหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนี้ในอดีต “วันแห่งความรัก” 14 กุมภาพันธ์ 2559 


ในวันนั้น ผมกับเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ ร่วมชั้นเรียน มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม Garden of Five Senses: สวนแห่งความรู้สึกและความรัก


เพียงแค่ได้ยินชื่อ Garden of Five Senses ก็คงพอจะเดาได้ว่าสวนแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นสัมผัสทั้งห้า ดึงดูดให้ผู้มาเยือนได้ดื่มด่ำไปกับความงามของธรรมชาติ ความหอมของมวลดอกไม้ เสียงกระซิบของสายลม และบรรยากาศที่อบอุ่นและรื่นรมย์


สวนแห่งนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 80,000 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวเดลี Pradeep Sachdeva และพัฒนาโดยการท่องเที่ยวเมืองเดลี ด้วยงบประมาณมหาศาลกว่า 105 ล้านรูปี ใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2546 สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม แต่ยังเป็นงานศิลปะที่ผสมผสานความงดงามของธรรมชาติและงานออกแบบไว้อย่างลงตัว


สวนถูกแบ่งออกเป็นหลายโซน ตั้งแต่สวนสไตล์โมกุล สวนน้ำ สวนสมุนไพร ไปจนถึงสวนพลังงานแสงอาทิตย์ ทุกมุมล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับอารมณ์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสงบ ความสดชื่น หรือความรู้สึกตื่นเต้นจากความงามรอบตัว


ค่าธรรมเนียมเข้าชมเพียง 30 รูปี ถือว่าคุ้มค่ากับการเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม ทว่าระหว่างที่เราเยี่ยมชม สวนแห่งนี้กลับขาดน้ำ บ่อน้ำและสระน้ำต่างๆ แห้งเหือด ทำให้ต้นไม้และแปลงดอกไม้บางส่วนเหี่ยวเฉา ความงดงามที่ควรจะมีจึงลดลงไปบ้าง แต่ถึงกระนั้น สวนสาธารณะแห่งนี้ ก็ยังเต็มไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลังและบรรยากาศที่ชวนให้หลงใหล


สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจที่สุดคือ ขณะที่เดินไปในสวนวันนั้น เกือบลืมไปแล้วว่า วันนี้คือ 14 กุมภาพันธ์—วันวาเลนไทน์! วันแห่งความรัก  กลิ่นไอความรักอบอวลไปทั่วสวน เมื่อเดินเข้าไปลึกขึ้น ภาพที่ปรากฏต่อสายตาคือคู่รักนับไม่ถ้วนที่นั่งใกล้ชิด กอดกันกระหนุงกระหนิง บ้างก็นั่งจับมือกันใต้ต้นไม้ บ้างก็กระซิบถ้อยคำหวานๆ ให้กันและกัน บรรยากาศรอบตัวเต็มไปด้วยความรักและความโรแมนติก


แต่สิ่งที่ทำให้ผมทั้งขำและเขินไปพร้อมกันก็คือ คู่รักบางคู่ดูจะลืมไปว่านี่คือสวนสาธารณะ ไม่ใช่ห้องส่วนตัว หลายคนหลบมุมกันในพุ่มไม้ นั่งซบกันแนบแน่นจนแทบจะหลอมรวมเป็นร่างเดียว ไม่ใช่แค่คู่สองคู่ แต่มีเป็นร้อย! และดูเหมือนว่าแต่ละคู่ก็ไม่ได้สนใจว่ามีคนอื่นเดินผ่านไปผ่านมา มีเพียงผมและเพื่อนๆ เท่านั้นที่เดินไปก็เขินไป


มีบางครั้งที่เราเดินไปเจอมุมที่ไม่ควรเข้าไป แล้วต้องรีบถอยหลังกลับออกมาแทบไม่ทัน ขณะที่ผมมองดูภาพตรงหน้าก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเขาไม่ไปเปิดโรงแรมให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลยนะ?


แม้ว่าธรรมชาติของสวนจะดูแห้งแล้งไปบ้างในวันนี้ แต่ความรักของผู้คนที่มาเยือนกลับเบ่งบานอย่างเต็มที่ Garden of Five Senses จึงไม่ใช่แค่สถานที่ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ยังเป็นสวนแห่งความรู้สึก ที่ทำให้เราได้เห็นความรักในทุกรูปแบบ—ความหวาน ความลึกซึ้ง และบางครั้งก็ความขำขัน ที่ทำให้วันนี้กลายเป็นวันที่น่าจดจำอีกวันหนึ่ง

Monday, February 3, 2025

 เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 3-4 เมื่อถึงฤดูกาลการถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน มีนายตำรวจปกครองท่านหนึ่ง ท่านมีความเมตตากรุณากับนักเรียนนายร้อยตำรวจมุสลิมอย่างยิ่ง (พื้นฐานท่านก่อนย้ายเข้าไปรับราชการในโรงเรียนนายร้อยตำรวจท่านเคยรับราชการในพื้นที่จังหวัดยะลา มาก่อน) ท่านถามผมว่า “เข้าเดือนรอมฎอนแล้ว เอ็งปอซอหรือเปล่า” ผมฟังแล้วรู้สึกงงเพราะไม่รู้จักคำว่า “ปอซอ”  ในเวลาต่อมา จึงเข้าใจว่าท่านหมายถึง “การถือศีลอด”


คำว่า “ปอซอ” (ภาษามลายูท้องถิ่น) หรือ “ปูวาซา” (Puasa) (ภาษามลายูกลาง ) หมายถึง การถือศีลอดในศาสนาอิสลาม คำดังกล่าว มีรากศัพท์มาจาก ภาษาสันสกฤต และได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียก่อนที่จะกลายเป็นคำในภาษามลายู


ที่มาของคำว่า “ปูวาซา”

 • คำว่า “Puasa” ในภาษามลายูและอินโดนีเซีย หมายถึง การอดอาหารหรือการถือศีลอด

 • คำนี้มาจาก ภาษาสันสกฤต “Upavāsa” (उपवास) ซึ่งหมายถึง “การอยู่ใกล้ (upā) และการอุทิศตน (vāsa)” โดยใช้ในบริบทของการบำเพ็ญตบะหรือถือศีลอดทางศาสนา


 • ในอดีต ศาสนาพุทธและฮินดูมีแนวปฏิบัติการถือศีลอดแบบ “อุปวาสะ” เช่นกัน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อคำนี้ในหมู่ชาวมลายูก่อนการมาถึงของอิสลาม


การเปลี่ยนแปลงทางความหมายในโลกมลายู

 • หลังจากศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่คาบสมุทรมลายู คำว่า “Puasa” ถูกใช้แทนคำในภาษาอาหรับ “Ṣawm” (صَوْمٌ) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์อัลกุรอาน หมายถึง การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

 • ปัจจุบัน คำว่า “Puasa” เป็นคำมาตรฐานในภาษามลายูและอินโดนีเซียที่หมายถึง การถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน


#หมายเหตุ : #ภาพเก่าเมื่อปีที่แล้ว

ปัจจุบันท่าน พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4


Friday, January 31, 2025

รากเหง้าภาษาและวัฒนธรรมในดินแดนคาบสมุทรมลายูและภาคใต้ของไทย

 ความเข้าใจในศาสนาและประวัติศาสตร์คือหนทางดับไฟใต้

รากเหง้าภาษาและวัฒนธรรมในดินแดนคาบสมุทรมลายูและภาคใต้ของไทย


ในช่วงเวลากว่า 1,000 ปีที่ผ่านมา อาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya) ถือเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของชาวมลายูที่รุ่งเรืองทั้งในด้านการค้า ศาสนา และวัฒนธรรม ศูนย์กลางของอาณาจักรตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา แต่ขอบเขตอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วคาบสมุทรมลายู รวมถึงพื้นที่ทางใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน


ศรีวิชัย: รากฐานทางภาษาและวัฒนธรรม


อาณาจักรศรีวิชัยใช้ ภาษามลายูโบราณ (Old Malay) เป็นภาษาหลัก ซึ่งพบหลักฐานในจารึกต่าง ๆ เช่น

 • จารึกกูไต (Kutai Inscription) และ จารึกตัลางตูโอก (Telaga Batu Inscription) ในอินโดนีเซีย

 • จารึกคลองท่อม ในประเทศไทย


นอกจากภาษามลายูโบราณแล้ว ศรีวิชัยยังได้รับอิทธิพลจาก ภาษาสันสกฤต ซึ่งใช้ในศาสนาพุทธนิกายมหายาน รวมถึงภาษาชวาโบราณ ภาษาเขมรโบราณ และภาษาจีนที่ใช้ในการติดต่อค้าขาย


ก่อนการเปลี่ยนแปลง: พุทธและฮินดูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่หลายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุมชนในบริเวณนี้เคยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและฮินดู ซึ่งมีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญใน อำเภอยะรัง จังหวัดยะลา เช่น

 • สถูปจำลองดินดิบ – แสดงถึงความเชื่อทางศาสนาพุทธ

 • พระพิมพ์ดินดิบที่มีจารึก “เยธมฺมาฯ” – เป็นบทสวดในพระพุทธศาสนา

 • โบราณสถานและโบราณวัตถุแบบทวารวดีและคุปตะ – แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาฮินดูและพุทธในภูมิภาค


หลักฐานเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าในอดีต พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพุทธและฮินดูก่อนที่จะรับเอาศาสนาอิสลามเข้ามาภายหลัง


การเปลี่ยนแปลงของประชากรและภาษาในภาคใต้ของไทย


ในช่วงที่อาณาจักรไทยเริ่มขยายอำนาจลงสู่ภาคใต้ มีการส่งกำลังทหารและประชากรจากดินแดนสยามลงมาตั้งรกราก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองระลอกใหญ่ ๆ ได้แก่

(ดูแผนภูมิต้นไม้ประกอบ)

 1. ระลอกแรก – ลงมาตั้งถิ่นฐานในนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง

 2. ระลอกที่สอง – ลงมาถึงบริเวณตากใบ-เจ๊ะเห


การอพยพของชาวไทยจากภาคกลางและภาคเหนือทำให้เกิด ภาษาไทยปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นผลจากการผสมผสานระหว่างภาษามลายูที่ใช้ในศรีวิชัยกับภาษาไทยที่นำโดยผู้ตั้งรกรากใหม่


ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในภาคใต้ตอนบน


ประชากรในจังหวัด ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ตรัง และกระบี่ มีเชื้อสายจากทั้งชาวมลายูดั้งเดิมและชาวไทยที่อพยพลงมาจากภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งทำให้เกิดลักษณะเฉพาะทางภาษาและวัฒนธรรมที่ผสมผสานกัน เช่น

 • ชุมพร และ ระนอง – มีร่องรอยของอิทธิพลจากรัฐมลายู

 • นครศรีธรรมราช – เป็นจุดศูนย์กลางของภาษาและวัฒนธรรมไทยในภาคใต้

 • พังงา, ภูเก็ต, ตรัง, และกระบี่ – มีประชากรเชื้อสายมลายูที่อพยพมาผสมกับชาวไทย


สรุป


ภาษามลายูและวัฒนธรรมมลายูเป็นรากฐานที่สำคัญของภาคใต้ของไทย เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยเคยมีอิทธิพลเหนือพื้นที่นี้มาก่อน ภาษาไทยปักษ์ใต้ถือกำเนิดขึ้นจากการอพยพของชาวไทยจากดินแดนสยามลงสู่ภาคใต้และการผสมผสานกับภาษามลายูท้องถิ่น นอกจากนี้ หลักฐานทางโบราณคดียังยืนยันว่า ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่หลายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุมชนในภูมิภาคนี้เคยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและฮินดูมาก่อน


สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาคใต้ของไทยเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องมายาวนาน



RevolverMap