![]() |
ผมรับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายอำเภอแล้วครับ ตั้งแต่ บรรจุครั้งแรก ยศ “นายร้อยตำรวจตรี“ ที่อำเภอสายบุรี จากนั้นโยกย้ายไปรับตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ผ่านงานสืบสวน ป้องกันปราบปราม ไปจนถึงสารวัตรใหญ่ และรองผู้กำกับการตามสถานีตำรวจหลากหลายแห่ง หลายพื้นที่ ผมอยู่มาหลายปีจนซึมซับทุกลมหายใจของบ้านของเมือง คนของพื้นที่ กลิ่นฝน กลิ่นดิน วัฒนธรรมที่ยังเต้นอยู่ในจังหวะของชีวิตประจำวัน
ระหว่างทางผมมีโอกาสได้ไปอบรมหลักสูตรอินเตอร์จากหลากหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อินเดีย เกาหลีใต้ มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย ผมเคยนอนโรงแรมห้าดาว เคยฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก แต่สิ่งที่ทำให้ผมหยุดคิดจริง ๆ ไม่ได้มาจากห้องประชุมหรูเหล่านั้น แต่มาจากการนั่งขับรถคนเดียวระหว่างภารกิจ — บนถนนสายเลียบภูเขาในยะลา หรือทางราบที่ทอดไปสู่ทะเลนราธิวาส
อยู่ ๆ ผมก็นึกถึงห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในสมัยเด็ก ผมจำได้ว่าเราเคยเรียนเรื่องอาณาจักรโบราณของไทยอย่างทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ ตามพรลิงค์ แต่ในวันนั้น…ผมไม่เคยถามเลยว่า “คนในอาณาจักรเหล่านั้นคือใคร?” เราถูกสอนให้เชื่อมโยงพวกเขากับ “ความเป็นไทย” โดยอัตโนมัติ ทั้งที่จริงแล้ว คนในอาณาจักรทวารวดีอาจเป็นชาวมอญ คนในอาณาจักรศรีวิชัยก็คือชาวมลายู และพวกเขาพูดภาษาของตน ไม่ใช่ภาษาไทย
ถ้าเช่นนั้น…ทำไมคนภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไทย (14 จังหวัดภาคใต้) ซึ่งเคยอยู่ใต้ร่มเงาอาณาจักรศรีวิชัยถึงสูญเสียภาษาและอัตลักษณ์มลายูไปเกือบสิ้น? ทำไมในพื้นที่ที่เคยพูดภาษามลายูเป็นหลัก กลับกลายมาใช้ชื่อไทย พูดไทย และบางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารากเหง้าของตัวเองอยู่ตรงไหน?
คำถามพวกนี้ทำให้ผมนึกถึงคำหนึ่งในวิชามานุษยวิทยา — “#การกลืนกลาย” (assimilation) และนั่นแหละ…คือจุดเริ่มต้นที่ผมอยากจะชวนทุกคนเดินทางย้อนกลับไปสำรวจอดีตที่เราไม่เคยได้มองอย่างลึกซึ้ง
คนไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด พวกเขามีทั้งคนที่เป็น “#มลายูพุทธที่ถูกกลืนกลาย” และ “#สยามพุทธที่เข้ามาทีหลัง” บางกลุ่มคือชาวมลายูที่เคยนับถือพุทธ แล้วถูกรัฐรวมศูนย์ผ่านศาสนา จนค่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้ภาษาไทย มีชื่อไทย และกลายเป็นไทยพุทธ
อีกบางกลุ่มคือคนจากภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่รัฐส่งลงมาเพื่อสร้างชุมชนไทยพุทธใหม่ และคานอำนาจในพื้นที่ พวกเขาคือ “สยามพุทธ” ที่รักษาอัตลักษณ์ไทยพุทธแบบภาคกลาง และรวมตัวเป็นชุมชนคนไทยพุทธในชายแดนใต้
ในกลุ่มหลังนี้เองที่รวมถึงคนไทยพุทธในกลุ่มตากใบ–เจ๊ะเห ซึ่งกินพื้นที่อานาบริเวณไปจนถึงชาวสยามพลัดถิ่นใน รัฐต่างๆ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจากแผนภาพที่ผมได้ดู (ตัวเลขด้านบนระบุปีพุทธศักราช ไม่ใช่คริสต์ศักราช) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสืบสายของเมืองต่าง ๆ เช่นสงขลา พัทลุง ไชยา ฯลฯ ล้วนเป็นกลุ่มที่รัฐสยามส่งลงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ผ่านนครศรีธรรมราช
ทว่า ภาษาไทยของกลุ่ม “ตากใบ–เจ๊ะเห” กลับเป็นภาษาไทยที่ถูกนำเข้ามาจากศูนย์กลาง ไม่ได้พัฒนาขึ้นจากภาษาถิ่นในพื้นที่ พวกเขาไม่ได้เคยพูดมลายูแล้วกลายเป็นไทย แต่เป็นคนไทยที่พูดไทยมาตั้งแต่ต้น และลงมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชายแดนเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองและวัฒนธรรม
ถึงกระนั้น… แม้พวกเขาจะเป็นผู้ที่ “ลงมาทีหลัง” แต่พวกเขาก็ “ลงมานานแสนนาน” มากแล้ว จนในปัจจุบัน คนกลุ่มเดียวกันนี้ที่อยู่ในฝั่งมาเลเซีย ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ภูมิบุตร” (bumiputera) เช่นเดียวกับชาวมาเลย์ เพราะพวกเขาอยู่ที่นั่นก่อนรัฐชาติจะมีพรมแดน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างลึกซึ้งกับชุมชนมลายูในพื้นที่
นี่คือความงดงามของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในคาบสมุทรมลายู — ไม่มีใครบริสุทธิ์โดยสายเลือด ไม่มีใครเป็นเจ้าของดินแดนโดยกำเนิด มีเพียงผู้คนที่หยั่งราก และฝากวิถีชีวิตไว้กับผืนแผ่นดินนี้เท่านั้น
#ความเข้าใจในศาสนาและประวัติศาสตร์คือหนทางในการดับไฟใต้
No comments:
Post a Comment