Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Wednesday, April 2, 2025

หะยีวันอะหมัด ชื่อฉายา “โต๊ะชายนาย” หรือ “โต๊ะหยังนาย”

 


29 มีนาคม 2568

สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาบางกอก เป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับสยาม มีการลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452 และได้รับสัตยาบันจากรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมปีเดียวกัน

สาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ การที่สยามยกสิทธิในการปกครองและบังคับบัญชาเหนือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเปอลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียง ให้แก่อังกฤษ

ในเดือนนี้ เป็นวาระครบรอบ 119 ปีของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว—และยังคงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ของผู้คนในคาบสมุทรมลายูจวบจนปัจจุบัน

หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าวันที่สนธิสัญญานี้จะเกิดขึ้นราว 100 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หรือเมื่อราว 200 ปีก่อน

“ฮัจญีหวังอาหมัด” ชาวมลายูมุสลิมจากรัฐตรังกานู—ซึ่งขณะนั้นยังเป็นดินแดนหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม—ได้อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนด้วยเหตุผลทางการเมืองและความไม่สงบ

ท่านมีฉายาว่า “โต๊ะหยังนาย” หรือ “โต๊ะชายนาย” เนื่องจากดำรงตำแหน่ง “นายกองทหาร” แห่งรัฐตรังกานู และเคยนำกำลังเข้าร่วมกับเมืองสงขลาเพื่อปราบหัวเมืองที่แข็งข้อในพื้นที่ภาคใต้

เมื่อภารกิจทางการทหารเสร็จสิ้น ท่านเลือกที่จะไม่กลับคืนสู่ภูมิลำเนา แต่ตัดสินใจตั้งรกรากในพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลา ณ บ้านดอนทิง ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในเขตการปกครอง ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 

ท่านมีภรรยา 2 คน และมีลูกทั้งหมด 8 คน ซึ่งล้วนถือกำเนิดที่บ้านดอนทิง และเป็นต้นสายตระกูลสำคัญหลายสายในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง  ลูกหลานของท่านได้แต่งงานสลับสายในหมู่กันเอง เกิดเป็นเครือญาติอันแน่นแฟ้น มีทั้งชื่อสกุลและวัฒนธรรมร่วมกัน ลูกหลานของท่าน เมื่อมีครอบครัวแล้วก็อพยพโยกย้ายไปตั้งรกรากทั่วลุ่มทะเลสาบสงขลา ทั้งที่บ้านหัวปาบ  บ้านม่วงทวน  ดังนี้

1. หะยีสาเม๊าะ (1838–)

เมื่อแต่งงานได้อพยพโยกย้ายไปอยู่บ้านเกาะทาก ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้นตระกูล “หมานเหม๊าะ” และ “เส็นเด” และอีกหลายตระกูลในอำเภอจะนะ ศพของท่านฝังอยู่ที่บ้านเกาะทาก

2. ปะวะแหละ (1839–)

ลูกหลานใช้นามสกุล “เจ๊ะอาหวัง”, “ปูตีล่า” หรือ “ฤทธิ์โต” และบางสายสมรสกับตระกูล “ยีหวังกอง”

3. หะยีอุมาร์ (ยีหวังกอง) (1840–1915)

เป็นผู้ให้กำเนิดตระกูล “ยีหวังกอง” ซึ่งสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องถึงรุ่นปัจจุบัน

4. โต๊ะขุนฤทธิ์ (1841–)

ต้นตระกูล “ขุนฤทธิ์” และ “ฤทธิ์โต”

5. หวันยีเต๊ะ (1842–)

ต้นตระกูล “หวันยีเต๊ะ”

6. โต๊ะจูยำ (1843–)

ลูกหลานมีการสมรสไขว้กับสายของปะวะแหละ

7. โต๊ะเหล็บยาว (1844–)

ลูกหลานใช้นามสกุล “ปูตีล่า” หรือ “ฤทธิ์โต” และมีการแต่งงานไขว้สายกันกับลูกหลานของอีกหลายตระกูล

8. โต๊ะชายล่า (1845–)

ต้นตระกูล “ปูตีล่า”

(ตัวเลขแทนคริสต์ศักราชเป็นเพียงค่าประมาณการ)

แม้บทเรียนในห้องเรียนจะสอนให้เรารักชาติและภาคภูมิใจในความเป็น “ไทย” แต่เราก็ไม่ควรลืมรากเหง้าของตนเอง

ผมภูมิใจที่มีสายเลือดมลายู และเป็นคนไทยที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินนี้…

บรรพบุรุษของผม… หลับใหลอยู่ใต้ผืนดินนี้มาเกือบสองร้อยปีแล้วครับ


*******************************************


Version เขียนใหม่ 29 มี.ค.2568 ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบวันเกิดปีที่ 51 ของผม

No comments:

Post a Comment

RevolverMap