#จากเงามืดสู่การค้นพบ
เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าที่ผมตามหาร่องรอยข้อมูลตัวตนและเครือญาติของ “แก่หยัง“ (ตาทวด) พ่อของแก่ม๊ะคุณยายผมจนเจอ ซึ่งทั้งชีวิตที่ผ่านมา พวกเราลูกหลานรู้แต่เพียงชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าท่านเป็นใคร มีเครือญาติอยู่ที่ไหน และใช้นามสกุลอะไร เพราะท่านเสียชีวิตตอนที่แก่ม๊ะ บุตรคนเล็ก อายุได้เพียงแค่ 4 ปี
ทุกครั้งที่มีโอกาส เมื่อผมกลับไปเยี่ยมท่านที่บ้านลำธาร์ ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ผมมักจะนั่งสนทนา และหยอกล้อเล่นกับ “แก่ม๊ะ บินหมาด” คุณยายของผมอยู่เสมอ
ท่านเป็นหญิงชราท่าทางใจดี ที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายคนจีน ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะท่านมีเชื้อสายจีนจากคุณยายของท่าน “แก่ดวง” อดีตหญิงม่าย “มุอัลลัฟ” ลูกครึ่งจีน จากบ้านแพรกหา อำเภอควนขนุน แก่ม๊ะเสียชีวิตเมื่อปลายปี 2564 ด้วยอายุ 94 ปี
เมื่อผมยังเด็ก ท่านยังมีกำลังวังชา แก่ม๊ะเป็นคนขยันมาก ชอบขุดดินยกร่องปลูกผักสวนครัว และมีงานอดิเรกคือ “การสานตับจาก” โดยไปตัดใบสาคูจากป่าพรุใกล้บ้านมาสานตับจากทำเป็นหลังคา มีทั้งทำซ่อมแซมบ้านของตัวเองบ้าง หรือแบ่งขายแก่ญาติพี่น้องในราคาย่อมเยาบ้าง ตั้งแต่เล็กจนโต ผมไม่เคยเห็นใครมีทักษะนี้อีก
ผมเคยส่องดูสมุดทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของแก่ม๊ะ ทราบว่า ในทะเบียนบ้าน ระบุชื่อพ่อของแก่ม๊ะว่า “นายบ่าว” ไม่ระบุนามสกุล
#ย้อนกลับไปเมื่อก่อนหน้านั้น
หลังจากแก่สัน โส๊ะสมาคม แต่งงานกับแก่ดวง ม่ายสาวลูกสอง ท่านนำแก่ดวง เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม พาภรรยาไปตั้งบ้านเรือนเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านหัวปาบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง ตำบลห้วยลึก อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา) บ้านเกิด ซึ่งเป็นชุมชนมลายูมุสลิมมาแต่โบราณ มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนคือ “หน๊ะ โส๊ะสมาคม” เมื่อถึงวัยออกเรือน แก่หน๊ะ แต่งงาน 2 ครั้ง
ครั้งแรก ไม่ปรากฏว่าแต่งงานด้วยความรัก หรือโดยการจัดการของผู้ใหญ่ ชีวิตคู่จบลงไม่นาน เพราะ “โต๊ะหีม ราชกิจ” สามี ทิ้งท่านกับบุตรชาย คือ “แก่ฝีน โส๊ะสมาคม” (พี่ชายคนโตของแก่ม๊ะ) ไปมีภรรยาใหม่ที่บ้านตันหยงดาหวัย เมืองชาวประมงเล็กๆ เขตเมืองไทรบุรี ปัจจุบัน คือรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ครั้งที่สองแต่งงานกับนายบ่าว ไม่ทราบนามสกุล ราษฎรบ้านหัวปาบ ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ 1.สัน (ตั้งชื่อเหมือนพ่อ) 2.หะเยาะ (เปลี่ยนชื่อเป็น “สมจิตต์”) และ 3.แก่ม๊ะ
แต่นายบ่าวจากไปก่อนวัยอันควร ทิ้งภรรยาและลูกน้อยทั้งสามให้เผชิญโชคชะตาตามลำพัง สองตายาย แก่สันและแก่ดวง โส๊ะสมาคม พาหลาน ๆ อพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านลำธาร์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง) ทิ้งความขมขื่นเอาไว้เบื้องหลัง
อาจจะด้วยสาเหตุตรอมใจจากการสูญเสียสามีทั้ง 2 ครั้ง แก่หน๊ะอายุสั้น ท่านจากไปหลังจากสามีเสียชีวิตได้ไม่นาน ในขณะที่ลูกทั้ง 4 คนยังเล็ก เป็นภาระของแก่ดวง หญิงมุอัลลัฟ แม่ของแก่หน๊ะ เป็นผู้เลี้ยงดูหลานๆ ทั้ง 4 คนจนเจริญเติบโต ท่านมีอายุยืนถึงเกือบ 100 ปี
กาลเวลาผ่านไป แก่ม๊ะพบรักกับ “แก่โหด บิลหมาด” สามี (คุณตาของผม) จนมีแม่มีน้องๆ (น้า 2 คน) จนมีผม ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยเห็นเธอกลับไปเหยียบย่างที่บ้านหัวปาบอีกเลย ไม่เคยไปร่วมงานบุญ งานเลี้ยง งานศพ หรืองานแต่งใด ๆ ไม่แม้แต่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านหัวปาบ ให้ลูกหลานฟังทั้งสิ้น
ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตไม่นาน ผมเคยถามเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้
เธอจำได้เพียงว่า พ่อชื่อ “บ่าว” หรือมีฉายาว่า “บ่าวอุง” และจากไปเพราะถูกฆาตกรรมเมื่อเธออายุได้เพียง 4 ขวบ
แก่ม๊ะเล่าว่า “คนที่ฆ่าพ่อของแก่ม๊ะ คือ “หวาหนุด” ทะเลาะกันเรื่องที่ดิน (หมายเหตุ: คำว่า ”หวา“ เป็นสรรพนามใช้เรียก “ลุง” หรือ “ป้า” ในภาษามลายู แต่ผมไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสอง) หวาหนุด แทงนายบ่าวด้วยมีดกริชยาวคล้ายดาบจนถึงแก่ความตาย
ผมถามเธอต่อ “พ่อของแก่ม๊ะมีนามสกุลว่าอะไร?”
เธอหลับตาลงเหมือนพยายามนึก แต่สุดท้ายก็ส่ายหัวตอบว่า “ไม่รู้”
#ข้อเท็จจริงที่เลือนหาย
ข้อเท็จจริงที่ว่าพ่อของแก่ม๊ะเป็นใคร ไม่ได้เป็นความลับพิสดาร หรือมหัศจรรย์พันลึกอะไร แต่มันมีอายุความ ญาติพี่น้องคนรู้จัก นอกจากจะห่างเหินกันไปแล้ว ยังหมดอายุขัยพากันล้มหายตายจากกันไปหมดสิ้น สิ่งนี้จึงกลายเป็นปริศนาเงามืดของลูกหลาน
#การพบปะญาติและการเปิดเผยข้อมูล
1 พฤษภาคม 2566 – จุดเริ่มต้นของการไขปริศนา
วันนั้นผมได้รับข่าวการเสียชีวิตของพี่อารียา (หน๊ะ) สุวรรรส ซึ่งเป็นลูกของหวาเต๊ะ ยีหวังกอง คุณลุง (ลูกผู้พี่ของพ่อผม) ผมจึงเดินทางไปร่วมพิธีศพพี่หน๊ะที่ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
ที่นั่น ผมได้พบกับ หวาสุไหลมาน บาวกูล ซึ่งเป็นญาติทางฝั่งย่าของผู้วายชนม์ ท่านยังเป็นพ่อตาของอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของผมคนหนึ่งที่ สภ.ตากใบ
หลังเสร็จพิธีศพ หวาสุไหลมานฯ เชิญผมไปนั่งจิบน้ำชาที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กัน และเล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องของแม่ผม เมื่อได้ฟังดังนั้นรู้สึกตื่นเต้นเพราะผมสืบสายตระกูลญาติพี่น้องมามากมายแล้วแต่ไม่เคยได้ยินว่ามีญาติฝั่งแม่อยู่ที่นี่
แต่เมื่อถามรายละเอียดเพิ่มเติม หวาสุไหลมานฯ กลับบอกได้แต่เพียงว่ามีพ่อชื่อ “มูสา บาวกูล” ซึ่งเสียชีวิตไปหลายสิบปีแล้ว ท่านไม่สามารถระบุ หรือลำดับสายตระกูลอย่างชัดเจนว่าเกี่ยวพันกับแม่ผมอย่างไร
7 กรกฎาคม 2567 – เบาะแสที่ทำให้ขนลุก
ต่อมา ผมได้รับเชิญไปร่วมงานบุญที่บ้านเกาะหมี ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามคำเชิญของบังฮับ ญาติลูกพี่ลูกน้อง หลานโต๊ะเดด บิลหมาด พี่ชายคนโตของแก่โหด บิลหมาด คุณตาผู้ล่วงลับของผม
พี่หวันหย๊ะ ภรรยาของบังฮับเข้ามาทักทายและแนะนำตัวว่า เป็นญาติทางฝั่งแม่ของผม คำบอกเล่าของพี่หวันหย๊ะฯ ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้น
แต่เมื่อสอบถามรายละเอียด เธอเล่าให้ฟังว่ามีพ่อชื่อ “มูสา บาวกูล” แต่ก็ไม่สามารถระบุความสัมพันธ์กับแม่ผมได้อย่างชัดเจน ผมสะดุดใจกับชื่อ “มูสา บาวกูล” เพราะเหมือนกับชื่อ พ่อของ หวาสุไหลมาน บาวกูล ที่ ต.กำแพงเพชร แต่ผมไม่ได้ถามว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า (ผมมาทราบในภายหลังว่า หวาสุไหลมาน บาวกูล กับพี่หวันหย๊ะ บินหมาด เป็นพี่น้องกัน มีพ่อคนเดียวกัน คือ “โต๊ะมูสา บาวกูล” แต่คนละแม่)
ต่อมาสักครู่ หวาราลิขอ (ป้าขอ) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพี่หวันหย๊ะ เดินเข้ามาแนะนำตัวเอง ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่ผม และได้อธิบายลำดับถึงพ่อแม่ และปู่ย่าตายายของเธอ ว่า พ่อของเธอเป็นชาวอินโดนีเซียที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นบังคับเกณฑ์แรงงานเข้ามาเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อ “นายหวัน“ ใช้นามสกุล “บุญจ่าง” ส่วนแม่ ชื่อ “โต๊ะมิด๊ะ บาวกูล” เป็นน้องสาวของโต๊ะมูสา บาวกูล พ่อของพี่หวันหย๊ะ ทั้งสองคนเป็นบุตรของ “โต๊ะยูหนุด บาวกูล” และได้เล่ารายละเอียดรายชื่อพี่น้องบุตรโต๊ะยูหนุด บาวกูล ให้ผมทราบทุกคน (ผมได้บันทึกข้อมูลเอาไว้เป็นแผนภูมิต้นไม้เรียบร้อยแล้ว)
ชื่อ “ยูหนุด” ทำให้ ผมสะดุดใจและขนลุกซู่ หวนคิดถึงเหตุการณ์ที่แก่ม๊ะเล่าให้ฟัง
ผมเริ่มสงสัยว่า พ่อของแก่ม๊ะอาจเกี่ยวข้องกับตระกูล “บาวกูล”
เธอยังเล่าต่อว่า เมื่อตอนที่แม่กับพ่อผมแต่งงานกัน ท่านได้มาร่วมงานที่บ้านลำธาร์ ตำบลโคกสัก ด้วย
19 ตุลาคม 2567 – ความจริงที่เริ่มปรากฏ
ขณะที่เดินทางไปเยี่ยมบังฮับ อีกครั้ง ที่บ้านท่ามะปราง เนื่องจากวางแผนไว้ว่าจะไปสัมภาษณ์หวาราลิขอ กับพี่หวันหย๊ะฯ อย่างละเอียดอีกครั้ง ระหว่างทางผมแวะเยี่ยมคุณลุงของผมสองท่าน “หวาหมาน หวาหมีด ยีหวังกอง” ซึ่งเป็นลูกชายของ โต๊ะหมัด ยีหวังกอง พี่ชายปู่ บ้านอยู่ที่บริเวณสามแยกท่าชะมวง ผมได้พบกับ “หวาเจะหวา” ภรรยาของหวาหมีด ผมเล่าให้หวาเจะหวาฟังว่าจะไปทำอะไร
เธอเล่าให้ฟังว่า พื้นเพเดิมของท่านเป็นคนบ้านหัวปาบ ท่านเคยได้ยินตำนานเรื่องเล่าโบราณ ระหว่างสองพี่น้องบ้านหัวปาบ “นายหนุด หรือยูหนุด เป็นพี่ชายของนายบ่าว บาวกูล” ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องเขตแดนที่ดิน จนนายหนุด หรือยูหนุด ใช้มีดแทงนายบ่าวน้องชายเสียชีวิต ญาติได้นำเอามีดนั้นขึ้นไปซุกซ่อนไว้บนยอดมะพร้าว ต่อมาต้นมะพร้าวต้นนั้นแห้งตายในภายหลัง
ผมคิดในใจว่า เหตุการณ์นี้คงเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2475 ตอนที่แก่ม๊ะยังเป็นเพียงเด็กน้อยวัย 4 ขวบ ในยุคนั้น การติดต่อสื่อสารแทบไม่มี กระบวนการยุติธรรมก็อยู่ห่างไกลเหลือเกิน สำหรับคนในชนบทอย่างบ้านหัวปาบ ความจริงจึงอาจดับสูญไปพร้อมกับความเงียบของคนในชุมชน และไม่มีใครสามารถเอ่ยถึงความเป็นธรรมได้เลย
นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่า มีเรื่องเล่าในหมู่บ้านอีกเรื่องหนึ่ง “โต๊ะยูหนุด หรือนายหนุด คนเดียวกัน ได้มอบหมายให้บุตรชายคนเล็ก อายุเพียง 7 ขวบ ไปเลี้ยงวัวในทุ่ง ปรากฏว่าฝูงวัวไปกินข้าวในทุ่งนาของเพื่อนบ้านที่กำลังแตกยอด เกิดความเสียหาย เจ้าของที่นามาต่อว่าโต๊ะยูหนุดฯ ท่านลงโทษบุตรชายด้วยการเฆี่ยนตีข้ามวันจนเสียชีวิต”
เมื่อได้ยินเรื่องนี้ หัวใจผมเหมือนถูกบีบแน่น ความเจ็บปวดที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนแล่นขึ้นมาจุกอยู่ที่อก น้ำตาไหลเอ่อไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว
23 พฤศจิกายน 2567 – การยืนยันจากญาติที่บ้านหัวปาบ
ผมเดินทางไปบ้านหัวปาบ และได้พบกับ “พี่ฉ๊ะ” อาฉ๊ะ เบ็ญฤทธิ์ ลูกสาวของ นางหะลิม๊ะ บาวกูล ซึ่งเป็นหลานของโต๊ะหมัด บาวกูล ได้ข้อมูลญาติพี่น้องสายตระกูล “บาวกูล” มาอีกสายหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังถึงเรื่องเล่าโบราณของบ้านหัวปาบ ว่า
“นายหนุด หรือ ยูหนุด แทงนายบ่าวเสียชีวิต ด้วยมีดกริชยาวคล้ายดาบ หลังเกิดเหตุญาติได้นำมีดกริชยาวเล่มนั้น ไปซุกซ่อนไว้บนยอดต้นมะพร้าว ต่อมาต้นมะพร้าวต้นนั้นแห้งตายยืนต้น โดยไม่ทราบสาเหตุ”
ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับที่หวาเจะหวาเล่า ทำให้ผมเริ่มมั่นใจว่า พ่อของยายมีนามสกุล “บาวกูล” และถูกโต๊ะยูหนุด หรือหนุด บาวกูล พี่ชายแท้ๆ ของตัวเองฆ่าตาย
จากเรื่องนี้ทำให้ผมฉุกใจคิดได้ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ ถึงแม้ว่าแก่สัน โส๊ะสมาคม ได้พาครอบครัวอพยพโยกย้ายออกจากบ้านหัวปาบมานานแสนนานมากแล้ว ด้วยกาลเวลาและระยะทาง ทำให้พวกเราไม่รู้จักญาติพี่น้องที่นั่นอีกต่อไป แม้เวลาจะผ่านไป ความทรงจำของคนหัวปาบที่มีต่อครอบครัวเรายังคงถูกเล่าขาน มีคนรู้จักผม เสมือนผมเดินอยู่ท่ามกลางไฟสปอร์ตไลท์ โดยมีสายตาของญาติพี่น้องเฝ้ามองดูอยู่เงียบๆ ตลอดมา
#การสืบค้นที่ประสบความสำเร็จ
จากการสืบค้นและการพบปะญาติ ๆ ทำให้ผมสามารถคลี่คลายปมปริศนาเกี่ยวกับตัวตน นามสกุลของพ่อของแก่ม๊ะได้
แม้จะใช้เวลานานและต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ ความพยายามนี้ทำให้ผมได้รู้จักรากเหง้าของตนเองมากขึ้น และสามารถส่งต่อเรื่องราวนี้ให้กับลูกชายและคนรุ่นหลังได้
#บทสรุปแห่งการให้อภัย
ปริศนาเกี่ยวกับพ่อของแก่ม๊ะ ที่เคยเป็นเงามืดมาหลายทศวรรษ ในที่สุดก็คลี่คลายลงจนกระจ่าง สิ่งที่ผมค้นพบ ไม่ใช่แค่ ‘#นามสกุลบาวกูล’ แต่ยังรวมถึงรากเหง้าและเรื่องราวของบรรพบุรุษที่ไม่มีใครเคยพูดถึง
เมื่อทุกอย่างกระจ่างชัด ผมกลับ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกอาฆาตแค้น
เพราะทันทีที่ผมได้รับรู้ว่า “โต๊ะยูหนุด บาวกูล” คือคนที่ลงมือปลิดชีวิตน้องชายของตัวเอง หัวใจของผมกลับไม่ได้เต็มไปด้วยความคั่งแค้นเหมือนที่เคยจินตนาการไว้
มีเพียงแต่ ความเงียบ ความเข้าใจ และความสงบในจิตใจ
โต๊ะยูหนุดอาจเป็นคนใจร้อน อาจเต็มไปด้วยโทสะ อาจถูกครอบงำด้วยอารมณ์เพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างลาลับจากโลกนี้ไป ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวและเงาของอดีต
และผมเลือกจะไม่ปล่อยให้เงานั้นเป็นเงาแห่งความโกรธแค้น
ผมให้อภัยโต๊ะยูหนุด บาวกูล ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้รับรู้ความจริง
เพราะท้ายที่สุดแล้ว เขาก็คือพี่ชายของนายบ่าว คือสายเลือดเดียวกันที่เคยเติบโตมาใต้ชายคาเดียวกัน กินข้าวจากหม้อเดียวกัน
ผมไม่ได้ค้นพบแค่นามสกุล “#บาวกูล” ของแก่หยัง (ตาทวด) แต่ผมค้นพบ “หัวใจของตัวเอง”
#ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาและให้อภัยต่อทุกดวงวิญญาณที่เคยเดินอยู่บนโลกนี้
No comments:
Post a Comment