Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Saturday, February 27, 2010

การฝึก CQB โดยเจ้าหน้าที่จาก LASD

IMG_6202
 
Police Emergency Response Tactics & Techniques
(28 Sep - 1 Oct 2009)

เมื่อ 28 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปฝึก “หลักสูตรเทคนิคและยุทธวิธีการปฏิบัติการตอบโต้แบบฉับพลัน (จู่โจม)" (หรือ "CQB" Close Quarter Battle: การรบในระยะประชิด) พร้อมกับเพื่อนข้าราชการตำรวจสังกัดศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) รวม 65 นาย หลักสูตรการฝึกฯ เป็นหลักสูตรระยะสั้น ๆ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง
Transnational Crime Affairs Embassy of The United States" กับ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” สถานที่ฝึก “ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8” อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ระยะการเวลาฝึก 3 วัน ตั้งแต่ 29 ก.ย. – 1 ต.ค. 2552 การฝึกเป็นไปอย่างเข้มข้น มีวิทยากรเป็น จนท.จาก “Los Angeles County Sheriff's Department” ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 6 นาย มาเป็นครูฝึก

 
ความเป็นมาของการฝึก
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะงบประมาณด้านป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแก่รัฐบาลไทยเป็นจำนวนมาก (ทั้งเงิน คน อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือเศษ การฝึกอบรมบุคลากร) เนื่องจากในระยะนั้น “เฮโรอีน” จาก “สามเหลี่ยมทองคำ” แพร่ระบาดมากในสหรัฐฯ คนอเมริกันติดเฮโรอีนงอมแงม รัฐบาลสหรัฐอเมริกาถึงกับต้องส่งหน่วย DEA (Drug Enforcement Administration) หรือ “หน่วยปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ” เข้ามาฝังตัวสืบสวนหาข่าวในประเทศไทย ทำงานร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. และ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) อย่างใกล้ชิด
 
IMG_6140
 
หัวข้อการฝึกตลอด 3 วัน มีดังนี้
วันแรก (29 Sep 2009)
- Covert Team Movement
- Tactical Breaching
- Warrant Service Movement
- Officer Rescue Techniques
- Tactical Medicine
วันที่สอง (30 Sep 2009)
- Crisis Entry Principles
- Hostage Rescue Operations
- Hostage Rescue Movement
- Hostage Rescue/Evacuations

วันที่สาม (1 Oct 2009)
- Active Shooter Response – Contact Teams and Rescue Teams
- Active Shooter Movement
- Office Down/Citizen Down Response
- Casuality Evacation

 
IMG_6257
 
 
IMG_7178
 
IMG_7195
 
นับตั้งแต่เหตุการณ์ 911 เป็นต้นมา ปัจจุบัน ปัญหายาเสพติดดูเหมือนจะลดบทบาทความสำคัญลงไป รัฐบาลสหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสนใจและช่วยเหลือกิจการด้านการต่อต้านการก่อการร้ายแก่นานาประเทศมากขึ้น รวมทั้งสนใจกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการฝึกในครั้งนี้
 
IMG_6403
 
ความจริง ผู้รับการฝึกทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีศูนย์ฝึกอบรมเป็นของตัวเอง (อยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา) สถานที่กว้างขวาง แต่ผู้จัดการฝึกกลับเลือกจัดที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี มองในแง่ดี ถือเสียว่าให้โอกาสกำลังพลใน 3 จชต.ได้ออกไปผ่อนคลาย ยืดเส้นยืดสายนอกพื้นที่เสี่ยงภัยบ้าง แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน ก็บ่งบอกถึงการขาดความเชื่อมันของครูฝึกจากสหรัฐฯ 6 นาย ที่มีต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง

IMG_7331

การฝึกมีประโยชน์มากสำหรับพวกเรา เพราะครูฝึกสอนเทคนิคการเข้าจู่โจมตรวจค้นภายในอาคาร รวมทั้งการต่อสู้ในระยะประชิด ซึ่งเป็นมาตรการที่พวกเราต้องใช้อยู่บ่อยครั้งในการทำงาน แต่ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ บ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นเรือไม้ยกพื้น หลังคามุงสังกะสี ไม่สามารถใช้กำบังกระสุนได้ ในขณะที่ครูฝึกมีประสบการณ์ทำงานในเมืองเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามพวกเราสามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่ยากเย็น
 
IMG_7307

ในโอกาสต่อไป ผมจะมาเล่าถึงรายละเอียด ความเป็นมาของหน่วย Los Angeles County Sheriff's Department” หรือ “LASD ที่มาเป็นครูฝึกให้แก่พวกเราฟังครับ

Thursday, February 25, 2010

DNA กับการสืบสวนคดีความไม่สงบ


ปัจจุบัน มีการพูดถึง DNA ในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กันบ่อยครั้งขึ้น ตามสื่อต่าง ๆ หลายกรณีมีการพิสูจน์ข้อพิพาทความเป็นพ่อแม่ลูกกันทางสายเลือดจนเป็นข่าวครึกโครมปรากฎทางสื่อโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์  ในขณะเดียวกันมีคุณหมอบางท่านออกมาโหนกระแสสังคม กระหน่ำซ้าเติมการทำงานของตำรวจ และสำแดงตนเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนี้ จนสังคมต่างพากันเข้าใจว่า ถ้าพูดถึงเรื่อง DNA แล้ว ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดเห็นจะไม่พ้นคุณหมอคนดังท่านดังกล่าวเป็นแน่

ย้อนกลับมาดูกระบวนการสืบสวนคดีอาญาของตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรื่อยมา การสืบสวนคดีต้องประสบปัญหาความยุ่งยากในการแสวงหาพยานหลักฐานทั้งประจักษ์พยาน และพยานบุคคล  หลายต่อหลายคดีที่เกิดขึ้น เหตุเกิดในละแวกบ้านเรือนของประชาชนกลางวันแสก ๆ แท้ ๆ แต่แทบจะไม่มีใครกล้าออกมาให้การเป็นพยานเลย การตรวจหาพยานวัตถุ และการตรวจหาตัวอย่าง DNA ต้องสงสัยจากบริเวณสถานที่เกิดเหตุ หรือจากพยานวัตถุจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการสืบสวนคดีอาญา

ฐานข้อมูล DNA ของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยจากพยานวัตถุุประเภทต่าง ๆ นั้น ปัจจุบันอยู่ในระยะเริ่มต้น แม้ในปัจจุบันจะตรวจพบการ “matching” กันในฐานข้อมูลน้อยครั้งไม่เหมือนกับการตรวจพยานวัตถุประเภทลูกกระสุนปืนของกลาง (คนทั่วไปมักจะเรียกติดปากกันว่า "หัวกระสุนปืน") ที่ยิงออกมาจากอาวุธปืนกระบอกเดียวกันในฐานข้อมูลที่ตรวจพบบ่อยครั้งมากกว่า  แต่กระนั้นก็ตาม ทุก ๆ  “record” ของข้อมูล DNA ที่เพิ่มขึ้นในฐานข้อมูล จะยิ่งพัฒนากลายเป็นฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่โตขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ทำให้ "ความน่าจะเป็น" ของการตรวจพบข้อมูลที่ตรงกัน (matching) ของ DNA ในอนาคต ก็ "น่าจะ" มีมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างเช่น กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวนคดีสำคัญได้ตรวจพบข้อมูลความสัมพันธ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา  ต่อมาได้นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา สามารถจับกุมนายยาลี อีแต สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ เนื่องจากต้องสงสัยว่า นายยาลีฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี “ซุ่มโจมตี และฆ่าหมวดตี้” ควบคุมตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกไว้ที่หน่วยเฉพาะกิจ ยะลา 15 (ฉก.15) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากเหตุการณ์และคดีสำคัญในอดีต เชื่่อว่านายยาลีฯ น่าจะมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ “ซุ่มโจมตีและฆ่าตัดคอทหาร 2 ศพ” ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหตุเกิดเมื่อประมาณต้นปี 2552 ด้วย จึงประสานให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน (วท.) จาก จ.ยะลา เดินทางไปเก็บตัวอย่าง DNA ของนายยาลีฯ ถึงที่ทำการ ฉก.15 ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เบื้องต้นนายยาลีฯ ปฏิเสธไม่รู้เห็นเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

จากการสอบสวน พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานเพียงพอจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายยาลีฯ ใน “คดีซุ่มโจมตีและฆ่าหมวดตี้” ต่อมาจากการซักถามขยายผล ประกอบกับมีพยานบุคคลซึ่งเป็นหนึ่งในคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุ “คดีซุ่มโจมตีและยิงหมวดตี้” ที่ตำรวจกันไว้เป็นพยานให้การยืนยัน  นายยาลีฯ จึงให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และให้รายละเอียดว่า ตนเองเป็น 1 ในกลุ่มคนร้ายนับสิบคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ “คดีซุ่มโจมตีและฆ่าหมวดตี้” ขณะเกิดเหตุตนได้ใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงซุ่มโจมตีรถยนต์ร่วมกับคนร้ายคนอื่น ๆ อีกนับสิบคนด้วย จนเป็นเหตุให้ "หมวดตี้" หรือ “ร.ต.ต.กฤติกุล บุญลือ” เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

คล้อยหลังมาอีก 2 – 3 เดือนต่อมา ผลการตรวจ DNA ของนายยาลีฯ ปรากฎผลอออกมาว่า ตรงกับ DNA จากก้นบุหรีก้นกรอง ซึ่งตกอยู่ในบริเวณที่พักแรมของคนร้ายใกล้ที่เกิดเหตุ “คดีฆ่าตัดคอทหาร 2 ศพ” เหตุเกิดเมื่อต้นปี 2552 ข้างต้น  ทำให้พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มแก่นายยาลีฯ ใน “คดีฆ่าตัดคอทหาร 2 ศพ” ด้วย

ฉะนั้น อย่าเพิ่งถอดใจที่ผล DNA ยังตรวจหากันไม่ค่อยพบ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติ เมื่อมีเหตุก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่การตรวจสถานที่เกิดเหตุ รักษาสถานที่เกิดเหตุ ไม่สร้างพยานหลักฐานเพิ่ม หรือทำลายพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะมีส่วนร่วมทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบคลี่คลายลงไปในทางที่ดีได้

Monday, February 22, 2010

มนุษย์กับสงคราม…


Filipino casualties on the first day of war
…ไม่มีถ้อยคำสวยหรูอันใดที่จะอ้างความชอบธรรมในการทำสงคราม..

นับแต่บรรพกาล มนุษย์ต่อสู้กันเพื่่อแย่งชิงอาหารและปัจจัยสี่เพื่อความอยู่รอด..

ต่อมาเพื่อสร้างอาณาจักรและขยายดินแดน
ในยุคที่ยังห่างไกลซึ่งความศิวิไลซ์ มนุษย์ยังต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่..
 
มาบัดนี้ ในโลกยุคใหม่อันเรืองรอง มวลมนุษยชาติยังรบราฆ่าฟันกันด้วยข้ออ้างและเหตุผลเดิม....

Friday, February 12, 2010

การสืบสวนคดีอาญาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและอย่างยาวนานนับร้อย ๆ ปี ความรุนแรงได้ปะทุขึ้นมาเป็นระลอก ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสริมในแต่ละยุคสมัย  ความรุนแรงระลอกใหม่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 – 8 ปี ยังไม่มีทีท่าว่าจะIMG_8884สงบลง   สภาพความเป็นอยู่วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ มีสภาพเหมือนแดนสนธยาเข้าไปทุกที ยากที่คนนอกจะจินตนาการได้ว่า พวกเขาอยู่กันอย่างไร ยังมีความหวังเหลืออยู่หรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งเงินและกำลังคนลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่สืบสวนติดตามคดีอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำงานกันอย่างไร ?

การสืบสวนสอบสวนคดีอาญาหลังเกิดเหตุซึ่งเป็นหนึ่งในงานหลักของตำรวจนั้น โดยทั่วไปการทำงานก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับงานของนักวิจัย คือ อาศัยธรรมชาติของเหตุและผลเพื่อตอบคำถามของเหตุการณ์หรือคดีที่เกิดขึ้น ในคดีอาญา มูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุก็มักจะสัมพันธ์กับเหตุที่เกิด ตัวอย่าง ในคดีฆาตกรรม มักมีสาเหตุ หรือแรงจูงใจจากความโกรธแค้นที่มีต่อกัน (ยกเว้นบางกรณี เช่นฆาตกรโรคจิต หรือก่อเหตุจากความมึนเมา) เช่น นายแดง โกรธแค้นนายดำที่ถูกนายดำโกง จึงลงมือฆ่านายดำตาย การสืบสวน นักสืบจะศึกษาลงไปถึงปูมหลังของนายดำ ว่ามีความสัมพันธ์กับใครบ้าง มีสาเหตุโกรธเคืองกับใคร หรือมีสาเหตุอื่นที่พอจะเป็นเหตุจูงใจให้มาฆ่านายดำ  นักสืบจะเริ่มต้นสืบสวนจากสถานที่เกิดเหตุ คนใกล้ตัว คนรู้จัก เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือคู่อริ เป็นต้น ทำให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับผู้ต้องสงสัย เชื่อมโยงกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จากสถานที่เกิดเหตุ  อันจะนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำผิดต่อไป
แต่การสืบสวนคดีคดีฆาตกรรมจากการก่อเหตุความไม่สงบนั้น แตกต่างจากการสืบสวนคดีฆาตกรรมในพื้นที่อื่น กล่าวคือ  แทบจะไม่สามารถนำหลักการดังกล่าวมาใช้ได้ เนื่องจากผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นสมาชิก “ขบวนการ” กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบซึ่งไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองใด ๆ กับผู้ตายมาก่อนเลย  ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุไม่ได้รู้จักกับเหยื่อมาก่อนด้วยซ้ำไป  สาเหตุที่ฆ่า ก็เพียงเพื่อก่อเหตุสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น “กับใคร” “ที่ใด” “เมื่อใด” ก็ได้ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของ “องค์กร” ที่ต้องการสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุ เก็บรวบรวมพยานหลักฐานหรือร่องรอยของคนร้ายที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ นำส่งไปตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ตัวบุคคลผู้กระทำผิด เก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูล ส่วนการสอบสวนปากคำญาติผุู้ตายหรือคนรู้จักเพื่อสืบสวนถึงมูลเหตุจูงใจของคนร้าย กลับไม่สามารถสาวไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับคนร้ายได้ ประการที่สำคัญก็คือ แทบจะไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานในคดีที่เกิดขึ้นใด้เลย ถ้าผู้ตายไม่ได้เป็นญาติหรือเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดโดยตรง

Tuesday, February 9, 2010

เมื่อตำรวจถูกสาย (ลับ) หลอก

spy_vs_spy_counterserveilla-2
“จง! จง!  ผู้การเรียกพบ”  ผมละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์โน้ตบุคที่อยู่ตรงหน้าหันมองไปตามเสียงเรียกของ “รองน้ำ”ซึ่งกำลังเปิดประตูเดินเข้ามาในห้อง “รองน้ำ” เป็นรองผู้กำกับการของหน่วยที่ผมสังกัดอยู่ เป็นผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปจากผม 1 ลำดับชั้น  "ครับ พี่น้ำ" ผมขานรับแล้วลุกจากเก้าอี้เดินตามรองน้ำไปพบ “ผู้การ” ตามคำสั่ง


ข้อมูลที่ผมได้รับจาก “ผู้การหรือผู้บังคับการ” ก็คือวันนี้ (8 ก.พ. 2552) ยังไม่ทราบเวลาที่แน่นอน ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่่เขตงาน อ.เมือง จ.ยะลา จะลักลอบขนอาวุธสงคราม จำนวน 14 กระบอก (หะ หา! 14 เลยเหรอ แค่ 3 - 4 กระบอกก็เยอะแล้วนะ ผมนึกในใจ) จากนอกพื้ันที่ขนลำเลียงเข้ามาส่งให้ชุดอาร์เคเค (หน่วยจรยุทธ์ขนาดเล็กของผู้ก่อความไม่สงบ) ในพื้นที่ ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา  โดยใช้รถยนต์กระบะตอนครึ่งวีโก้ สีเทา คันทะเบียน “xxx” ซึ่งดัดแปลงเป็นรถบรรทุกผลไม้ เพื่อนำไปก่อเหตุซุ่มโจมตีหน่วยทหารหรือหน่วยตำรวจที่ออกลาดตระเวนตามเส้นทาง  สายลับอ้างว่า ตนจะเป็นคนรับช่วงขับรถยนต์กระบะขนอาวุธสงครามด้วยตนเอง (เอ..! ชักแหม่ง ๆ แล้วสิ) จากจุดนัดหมายในตัวเมืองยะลา ส่วนเส้นทางในการขนลำเลียงอาวุธสงคราม ยังไม่ทราบเนื่องจากจะมีสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบคนอื่นนั่งควบคุมมาในรถด้วย จุดหมายสุดท้ายคือจุดใดจุดหนึ่งบนถนนสายท่าสาป -ลำใหม่ ในพื้นที่ ต.พร่อน

สายลับเป็นคนมุสลิมในพื้นที่ ติดต่อให้ข้อมูล “ดาบเพียร” ตชด.ลูกน้องเก่าของผู้การ ดาบเพียรพาสายลับมาพบผู้การ และกลับออกไปแล้ว เหลือแต่ผมกับรองน้ำดำเนินการต่อ ร่วมกันวางแผนนำกำลังชุดปฏิบัติการเข้าตรวจค้นจับกุมการขนส่งอาวุธสงครามล็อตนี้ให้ได้ งานดูเหมือนจะง่ายแต่ก็หินเอาการ เพราะผมไม่ได้เป็นคนควบคุมสายลับเอง
ผมกับรองน้ำ แบ่งกำลังชุดปฏิบัติการ (ชป.) ออกเป็น 6 ชป. แต่ละ ชป.ประมาณ 3 – 5 นาย  วางกำลังพล็อตจุดในแผนที่ตามเส้นทางที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางการขนส่งอาวุธสงครามล็อตนี้ ทุก ชป.ใช้รถยนต์กระบะของทางราชการซึ่งอำพรางสีรถ ติดฟิล์มกรองแสงสีเข้มซักซ้อมการปฏิบัติจนแต่ละ ชป.เข้าใจตรงกันแล้ว  เวลาบ่าย 3 โมงครึ่งทุก ชป.เข้าประจำจุดเรียบร้อย  ผมนำ ชป.ในส่วนที่กำกับดูแลอยู่เข้าไปประสานงานกับทหาร ฉก.ร้อย ร.5034 ในพื้นที่ พักคอยอยู่ในหน่วย ไม่สามารถไปจอดซุ่มตามเส้นทางได้ เนื่องจากอาจผิดสังเกต เพราะพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการจัดตั้งมวลชนเป็นหูเป็นตาของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เวลาเดินไปเรื่อย ๆ จากนาทีเป็นชั่วโมง หลายชั่วโมงผ่านไปกระทั่ง 1 ทุ่มเศษ จนหมดกาแฟไปหลายถ้วย ก็ยังไม่มีวี่แววการติดต่อกลับจากสายลับ จนในที่สุดก็ได้รับคำสั่งยกเลิกภารกิจจากผู้การ เนื่องจากสายลับแจ้งว่า “เป้าหมายรู้ตัวและไหวตัวก่อน” (อืมมม นะ ให้ตูมานั่งรออยู่ 4 – 5 ชั่วโมงเนี่ยนะ) ผมไม่แปลกใจกับคำสั่งยกเลิกภารกิจของผู้การ เพราะเอะใจตั้งแต่ได้รับข่าวสารและคำสั่งให้ปฏิบัติการต้ังแต่แรกแล้ว มีความรู้สึกว่า “สายลับ ไม่ชอบมาพากล” แต่วินัย 2 ประการที่สำคัญยิ่งของตำรวจคือ ข้อ 1 “คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์” ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัด และ ข้อ 2 คือ หากสงสัยก็ให้ดูข้อ 1
สิ่งที่ผมสันนัษฐานเอาไว้ ก็คือ “สายลับ” ต้องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากทหารตำรวจที่ต้องการข้อมูลลับ ผลประโยชน์อาจเป็นเงินสด หรือยาเสพติดที่เจ้าหน้าที่เก็บรักษาไว้ (กรณีสายลับติดยา) หรือผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ การให้ข้อมูลของสายลับโดยธรรมเนียมปฏิบัติ แม้ข้อมูลที่ให้บางคร้งอาจจะไม่ได้มีค่าทางการข่าวมากมายนัก แต่ด้วยสปิริตของผู้นำหน่วยทหารตำรวจ ก็มักจะให้ “ทิป” แก่ “สายลับ” ไปพอสมควรตามแต่กรณี  สำหรับในเรื่องนี้ผมไม่ทราบหรอกครับ ว่า สายลับได้อะไรเป็นรางวัลบ้าง เพราะไม่กล้าถามผู้การ คงจะคุ้มค่ากับตัวสายลับเองที่ยอมเสี่ยงเอาตัวเข้าแลกตามหลักเศรษฐศาสตร์ง่าย ๆ นั่นเอง (ถ้ามาหลอกผมอีก รับรอง เจอตื้บแน่ ๆ ครับ..)
อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติการครั้งนี้คือ ผมไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับสายลับรายนี้เลยตั้งแต่เริ่มต้นรับข่าวสารและในขณะปฏฺบัติการ  ทำให้เสียโอกาสในการวิเคราะห์คน ประเมินสถานการณ์ คงจะพูดได้ว่า “ไม่รู้หน้า ไม่รู้ใจ” นั่นเอง

Saturday, February 6, 2010

แนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัญหา

บทเรียนจากสงครามการใช้กำลังแบบเก่าที่กองทัพไทยได้ต่อสู้กับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมืองในอดีตได้เจือจางและเลือนลางหายไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคม หรือแม้แต่นักการทหารในกองทัพ

ผู้คนในยุคใหม่มองเห็นภาพการทำสงครามของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มีอำนาจกำลังรบ อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีล้ำสมัยกระทำต่อชาติเล็ก ๆ เช่น ในสงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอัฟกานิสถาน หรือแม้แต่ในอิรัก ผ่านทางสื่อประเภทต่าง ๆ ที่ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยี  จนผู้คนต่างจินตนาการไปว่า หากเกิดความขัดแย้งภายใน "รัฐ" ขึ้นมา “รัฐ” ก็อาจแก้ปัญหาโดยการใช้งานยุทธการทางทหารหรือการใช้กำลังที่เหนือกว่า
99-huntington_thumb

Samuel Huntington

เข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างไม่ยากเย็น แต่เมื่อพิจารณาธรรมชาติและความเป็นไปของปัญหาแล้ว พบว่ายุคปัจจุบันมีความซับซ้อนและความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง และปัญหาที่ยังคงดำรงอยู่ในทุกมิติคือเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและสังคมจิตวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านสังคมจิตวิทยาเป็นเรื่องที่มีความละเอียอดอ่อนเป็นอย่างมาก

ดัง ที่ “Samuel Huntington” นักวิชาการชาวอเมริกันเคยกล่าวเตือนไว้ในบทความเรื่อง “The Clash of Civilization” (1993) มาแล้วว่า “ปัญหาในอนาคต จะเป็นเรื่องของ “สงครามอารยธรรม”

ข้อพิจารณา
การที่รัฐจะต้องเตรียมยุทธศาสตร์และองค์ความรู้เพื่อเตรียม รองรับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดวงจรทางยุทธวิธีในการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ขบวนการก่อ ความไม่สงบนั้น จะต้องทำความเข้าใจกับสภาพธรรมชาติของสถานการณ์เสียก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ สุรชาติ บำรุงสุข (2547, 120-121) ได้ให้ข้อคิดทางยุทธศาสตร์ไว้ว่า

Image ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

1. การก่อความไม่สงบ (insurgency) เป็นลักษณะของ “สงครามการเมือง” (political warfare) ไม่ใช่ “สงครามการทหาร” (military warfare) ดังนั้นรัฐที่ต่อสู้จะต้องตระหนักถึงมิติทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสงครามนี้มิใช่การใช้มาตรการทางทหารในรูปของการค้นหาและทำลาย (search and destroy) หรือจับกุมและปราบปรามด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างสุดขั้ว

2. ชัยชนะในสงครามนี้เป็น “ชัยชนะทางการเมือง” (political victory) กล่าวคือ การเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาด การทหารเป็นปัจจัยสนับสนุน

3. การเอาชนะจิตใจประชาชน (to win over heart and mind) เป็นส่วนสำคัญของชัยชนะในสงคราม

4. รัฐจะต้องดำเนินการในมิติอื่น ๆ ทั้งในรูปของโครงการทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อก่อให้เกิดการ “ดึงมวลชน” มาเป็นพวก

นอกจากนี้ “หวอ เหงียนย้าป” นักการทหารเวียดนามชื่อก้องโลก ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเอาชนะสงครามปลดแอกจากระบบอาณานิคมของ ฝรั่งเศส ได้กล่าวเอาไว้ในวาระเฉลิมฉลองชัยชนะต่อเมืองเดียนเบียนฟู ประจำปี ค.ศ.1984 ว่า

“ประชาชนเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญที่สุดในสงครามประชาชน”

จากข้อคิดทางยุทธศาสตร์ข้างต้น พิจารณาถึงแง่คิดในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะเอาชนะความคิดและจิตใจของประชาชน รวมถึงแม้กระทั่งเอาชนะความคิดของสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อที่จะตัดวงจรในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกขบวนการ ดังนี้

1. การแก้ปัญหาด้วยกำลังบังคับ หรือการใช้ความรุนแรงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา จะต้องใช้หลักสันติวิธีเป็นธงนำ แต่ไม่ใช่่ โดย "ลัทธิสันติวิธียอมจำนน"

2. การเอาชนะที่สำคัญที่สุด คือ “การเอาชนะที่ความคิดและจิตใจของประชาชน” (heart and mind)

3. บทเรียนจากประวัติศาสตร์สงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างฝรั่งเศษ -อัลจีเรีย สงครามเวียดนาม สงครามในอัฟกานิสถาน หรือแม้แต่กระทั่งในอิรัก ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า รัฐที่ใช้อำนาจกำลังรบเป็นหลักไม่เคยเอาชนะสงครามได้เลย

4. การบังคับใช้กฎหมาย จะต้องบังคับใช้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม สร้างหลักนิติรัฐให้เข้มแข็ง

ข้อเสนอแนะ

ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอดระยะเวลานับสิบปี ผมมีข้อเสนอแนะไว้กว้าง ๆ ดังนี้

1. ต้องเร่งสร้างทัศนคติใหม่ให้แก่บุคลากร ข้าราชการ พนักงานของรัฐ หรือแม้แต่กระทั่งประชาชนในพื้นที่ให้ยอมรับและตระหนักถึงแนวคิดเรื่อง “เอกภาพบนความต่าง” (unity among diversity) ทลายกำแพงทางสังคมและสร้างสัมพันธภาพเชื่อมต่อระหว่างชุมชนมุสลิมและที่ไม่ใช่มุสลิมในพื้นที่ โดยผลักดันให้เป็นนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่รัฐประชาชาติที่ชนในชาติมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันภายใต้ร่มธงเดียวกัน

2. เน้นการบริหารแบบบูรณาการทุกมิติ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จิตวิทยา และความมั่นคง การแก้ไขปัญหาทุกกระทรวงทบวงกรม จะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กันทุกมิติ มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทหารตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการสืบสวนจับกุม ปราบปราม หลังเกิดเหตุ โดยละเลยปัญหาทางการศึกษา สภาพสังคม และปัญหาปากท้องของประชาชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

3. จัดกระบวนการสร้างมวลชนใหม่ ให้ความสำคัญกับงานมวลชนและการรุกทางการเมือง ด้วยการเอาชนะความคิดและจิตใจ “heart and mind” หรือ “เพื่อแยกน้ำออกจากปลา” ทำอย่างไรที่จะทำให้ปลาอยู่ในน้ำไม่้ได้ ให้ความสำคัญกับงานทางการเมืองงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ดึงผู้รู้ ผู้นำ ศาสนา หรือผู้นำท้องถิ่นมาเป็นพวก เผยแพร่ความรู้หรือหลักการศาสนาที่ถูกต้อง ใช้การปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO) หักล้างการปลูกฝังแนวความคิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่บิดเบือนหลักการศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์เพื่อนำมารับใช้อุดมการณ์ทางการเมือง

4. สร้างองค์กรใหม่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนในเรื่องของ “การสั่งการและการควบคุม” (command and control) โดยยึดหลัก “การเมืองนำการทหาร” เพื่อจะก่อให้เกิดผลในรูปของแนวความคิดใหม่ ๆ เน้นการสร้างมวลชนใหม่ และสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในเรื่อง “Otop” หรือ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” และรวมถึงการดำเนินการของภาครัฐในกรอบบูรณาการ รวมทั้งสร้างเอกภาพและประสิทธิภาพของการบริหารภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ องค์กรที่มีลักษณะการทำงานเป็นทีม (Team Work) มีเอกภาพ (unity) ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นพระเอกฉายเดี่ยวเพียงคนเดียว (one man show)

5. สร้างประสิทธิภาพและระบบของการศึกษาใหม่ ที่สอดคล้องและเอื้อต่อสภาพชีวิตและ ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ สร้างระบบการจัดการ ร.ร.เอกชนสอนศาสนาอิสลามให้มีมาตรฐาน เข้าสู่ระบบธรรมาภิบาล (good governance) การบริหารจัดการ หลักสูตรการเรียนการสอน สามารถตรวจสอบกำกับดูแลได้ รวมทั้งต้องกล้าที่จะจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม การสำแดงข้อมูลจำนวนนักเรียนอันเป็นเท็จของบางโรงเรียนอย่างเด็ดขาด  รวมทั้งจะต้องบริหารจัดการให้เยาวชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาของรัฐได้อย่างทั่วถึง

6. เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) ทั้งในแง่ของการพัฒนาศักยภาพการสืบสวนสอบสวน การข่าวกรอง การบริหารจัดการ การพัฒนาบุคลากร  เครื่องมือพิเศษ และนิติวิทยาศาสตร์ ตลอดจนคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ โดยยึดถือหลักการทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสถาปนาอำนาจรัฐให้เข้มแข็ง และในขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจในการดำเนินงาน

นี่เป็นเพียงแนวความคิดเล็ก ๆ ของฟันเฟืองเล็ก ๆ ตัวหนึ่งเท่านั้นเองครับ…..

RevolverMap