ปัจจุบัน มีการพูดถึง “DNA” ในฐานะที่เป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กันบ่อยครั้งขึ้น ตามสื่อต่าง ๆ หลายกรณีมีการพิสูจน์ข้อพิพาทความเป็นพ่อแม่ลูกกันทางสายเลือดจนเป็นข่าวครึกโครมปรากฎทางสื่อโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ ในขณะเดียวกันมีคุณหมอบางท่านออกมาโหนกระแสสังคม กระหน่ำซ้าเติมการทำงานของตำรวจ และสำแดงตนเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนี้ จนสังคมต่างพากันเข้าใจว่า ถ้าพูดถึงเรื่อง DNA แล้ว ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดเห็นจะไม่พ้นคุณหมอคนดังท่านดังกล่าวเป็นแน่
ย้อนกลับมาดูกระบวนการสืบสวนคดีอาญาของตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรื่อยมา การสืบสวนคดีต้องประสบปัญหาความยุ่งยากในการแสวงหาพยานหลักฐานทั้งประจักษ์พยาน และพยานบุคคล หลายต่อหลายคดีที่เกิดขึ้น เหตุเกิดในละแวกบ้านเรือนของประชาชนกลางวันแสก ๆ แท้ ๆ แต่แทบจะไม่มีใครกล้าออกมาให้การเป็นพยานเลย การตรวจหาพยานวัตถุ และการตรวจหาตัวอย่าง DNA ต้องสงสัยจากบริเวณสถานที่เกิดเหตุ หรือจากพยานวัตถุจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการสืบสวนคดีอาญา
ฐานข้อมูล DNA ของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยจากพยานวัตถุุประเภทต่าง ๆ นั้น ปัจจุบันอยู่ในระยะเริ่มต้น แม้ในปัจจุบันจะตรวจพบการ “matching” กันในฐานข้อมูลน้อยครั้งไม่เหมือนกับการตรวจพยานวัตถุประเภทลูกกระสุนปืนของกลาง (คนทั่วไปมักจะเรียกติดปากกันว่า "หัวกระสุนปืน") ที่ยิงออกมาจากอาวุธปืนกระบอกเดียวกันในฐานข้อมูลที่ตรวจพบบ่อยครั้งมากกว่า แต่กระนั้นก็ตาม ทุก ๆ “record” ของข้อมูล DNA ที่เพิ่มขึ้นในฐานข้อมูล จะยิ่งพัฒนากลายเป็นฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่โตขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ทำให้ "ความน่าจะเป็น" ของการตรวจพบข้อมูลที่ตรงกัน (matching) ของ DNA ในอนาคต ก็ "น่าจะ" มีมากขึ้นด้วย
ตัวอย่างเช่น กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวนคดีสำคัญได้ตรวจพบข้อมูลความสัมพันธ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ต่อมาได้นำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา สามารถจับกุมนายยาลี อีแต สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ เนื่องจากต้องสงสัยว่า นายยาลีฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี “ซุ่มโจมตี และฆ่าหมวดตี้” ควบคุมตัวตามอำนาจกฎอัยการศึกไว้ที่หน่วยเฉพาะกิจ ยะลา 15 (ฉก.15) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากเหตุการณ์และคดีสำคัญในอดีต เชื่่อว่านายยาลีฯ น่าจะมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ “ซุ่มโจมตีและฆ่าตัดคอทหาร 2 ศพ” ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหตุเกิดเมื่อประมาณต้นปี 2552 ด้วย จึงประสานให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน (วท.) จาก จ.ยะลา เดินทางไปเก็บตัวอย่าง DNA ของนายยาลีฯ ถึงที่ทำการ ฉก.15 ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เบื้องต้นนายยาลีฯ ปฏิเสธไม่รู้เห็นเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
จากการสอบสวน พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานเพียงพอจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายยาลีฯ ใน “คดีซุ่มโจมตีและฆ่าหมวดตี้” ต่อมาจากการซักถามขยายผล ประกอบกับมีพยานบุคคลซึ่งเป็นหนึ่งในคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุ “คดีซุ่มโจมตีและยิงหมวดตี้” ที่ตำรวจกันไว้เป็นพยานให้การยืนยัน นายยาลีฯ จึงให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และให้รายละเอียดว่า ตนเองเป็น 1 ในกลุ่มคนร้ายนับสิบคนที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ “คดีซุ่มโจมตีและฆ่าหมวดตี้” ขณะเกิดเหตุตนได้ใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงซุ่มโจมตีรถยนต์ร่วมกับคนร้ายคนอื่น ๆ อีกนับสิบคนด้วย จนเป็นเหตุให้ "หมวดตี้" หรือ “ร.ต.ต.กฤติกุล บุญลือ” เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
คล้อยหลังมาอีก 2 – 3 เดือนต่อมา ผลการตรวจ DNA ของนายยาลีฯ ปรากฎผลอออกมาว่า ตรงกับ DNA จากก้นบุหรีก้นกรอง ซึ่งตกอยู่ในบริเวณที่พักแรมของคนร้ายใกล้ที่เกิดเหตุ “คดีฆ่าตัดคอทหาร 2 ศพ” เหตุเกิดเมื่อต้นปี 2552 ข้างต้น ทำให้พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มแก่นายยาลีฯ ใน “คดีฆ่าตัดคอทหาร 2 ศพ” ด้วย
ฉะนั้น อย่าเพิ่งถอดใจที่ผล DNA ยังตรวจหากันไม่ค่อยพบ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติ เมื่อมีเหตุก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เริ่มตั้งแต่การตรวจสถานที่เกิดเหตุ รักษาสถานที่เกิดเหตุ ไม่สร้างพยานหลักฐานเพิ่ม หรือทำลายพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะมีส่วนร่วมทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบคลี่คลายลงไปในทางที่ดีได้
No comments:
Post a Comment