ทะเลสาบ Burley Griffin, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ Canberra, สถานเอกอัครราชฑูตไทย Canberra, Parliament House, War Memorial, Duntroon Military Academy, Darling Harbour, สถานกาสิโน
วันอังคารที่ 20 พ.ค. 2551
วันนี้ ตื่นนอนตั้งแต่ตีห้าครึ่ง อากาศหนาวมากกกก^^ อยากนอนซุกอยู่ใต้ผ้าห่มต่อจัง แทบไม่อยากลุกขึ้นจากเตียงเลยครับ อากาศหนาวจริง ๆ แต่ก็ต้องแข็งใจลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว เช้านี้แต่งสูทเต็มยศ ผูกไทด์เหลือง มีกำหนดการไปเยี่ยมคารวะเอกอัคราชฑูตไทยประจำกรุง Canberra และผู้ช่วยฑูตทหาร 3 ทั้งเหล่าทัพ ที่สถานฑูตฯ
(พวกเรามาทัศนศึกษาดูงานในฐานะหน่วยงานราชการ เมื่อเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองก็ต้องไปเยี่ยมคารวะเอกอัครราชฑูตไทย ณ ประเทศนั้นตามธรรมเนียม ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน) ลงมารับประทานอาหารมื้อเช้า (อาหารเช้ามื้อแรกใน Australia) มีทั้งขนมปังแซนวิช สลัดผักต่าง ๆ นม ฯลฯ เป็นบุฟเฟต์มื้อเช้าแบบฝรั่งครับ และคงเป็นแบบนี้ไปตลอดที่เหลืออีก 6 วันที่อยู่ใน Australia
หลังจากจัดการกับมื้อเช้าเรียบร้อยแล้วก็ไป Check out จากโรงแรม (พักที่ Canberra เพียงคืนเดียว ตอนบ่ายเราจะเดินทางไป Sydney กัน) ช่วยกันขนกระเป๋าสัมภาระขึ้นรถ แคชเชียร์ตรงหน้าฟร้อนท์เป็นสุภาพสตรีดูมีอัธยาศัยดี น่ารักครับ ก็เลยขออนุญาตถ่ายรูปคู่กับเจ้าหล่อนมาคนละรูป
เห็นว่ายังเช้าอยู่มาก มีหมอกลง ผมชวน “Zaid” เพื่อนนายทหารมาเลเซีย บั๊ดดี้ผม ไปสำรวจถ่ายรูปบริเวณรอบ ๆ โรงแรมกัน อากาศเย็นยะเยือก หนาวจนจับใจทีเดียว แต่ก็ บ่ ยั่นครับ ระหว่างที่ถ่ายรูปไป หนาวไป มือสั่นไป สักครู่ไกด์ของเราเดินมาสมทบบอกว่า “อุณหภูมิประมาณ 1 องศาเซลเซียส” o_O
ถึงเวลานัด 08.30 น. พวกเราขึ้นรถเรียบร้อยแล้วเตรียมออกเดินทางเพื่อไปชมความงามของ “ทะเลสาบ Burley Griffin” ที่เรามองเห็นระยะไกลจากบนยอดเขา Mt.Ainslie เมื่อวาน ระหว่างเดินทางตามท้องถนนที่รถแล่นไปมีหมอกลงจัดตลอดทาง สภาพท้องถนนของกรุง Canberra ยามเช้า การจราจรคล่องตัวมาก ๆ ถนนกว้างโล่ง มีรถน้อย ไม่มีรถติดให้เสียอารมณ์เลย
ผมสังเกตเห็นว่า การจัดรูปแบบถนนของกรุง Canberra สถาปนิกหรือวิศวกรการจราจรออกแบบถนนไว้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะถนนที่เป็นซอยเข้าไปยังที่อยู่อาศัยของประชาชน จะไม่เชื่อมต่อโดยตรงกับถนนสายหลัก แต่จะมีถนนสายรอง เชื่อมต่อถนนสายหลัก 1 ชั้นก่อน จึงจะเป็นถนนที่เชื่อต่อไปถึงที่อยู่อาศัย ทำให้รถได้ระบายออกไปตามลำดับชั้น ไม่เกิดสภาพ “คอขวด” ลักษณะเดียวกันกับที่เกิดในกรุงเทพฯ ผู้คนเคารพกฎจราจร การใช้รถใช้ถนนก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน
ระหว่างทางผมเห็นคนที่กำลังจะข้ามถนนแค่เพียงแสดงอาการกำลังจะก้าวลงจากฟุต บาธ ยังไม่ทันลงมาที่ถนน รถที่แล่นมาแต่ไกลก็ชะลอความเร็วแล้วหยุดรถให้คนข้าม ไม่ต้องรอให้คนต้องลงมาวัดดวงกับรถ ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายหยุด แสดงถึงความมีน้ำใจและความมีวินัยของชาวออสซี่ได้เป็นอย่างดี
เมื่อเดินทางถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ Canberra ก่อนที่จะเข้าไปชมภายใน ยังพอมีเวลาก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิดทำการ ผมเดินออกไปสำรวจบริเวณรอบ ๆ อาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาบ Burley Griffin วันนี้หมอกลงจัดมาก มองอะไรแทบไม่เห็น อากาศหนาวจนมือชา ผมต้องเอามือล้วงกระเป๋าสัมผัสไออุ่นของร่างกาย พอจะบรรเทาความหนาวลงไปได้นิดหน่อย^^
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ทางการออสเตรเลียได้จัดแสดงข้อมูล ประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งเมือง Canberra และประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งแสดงภูมิประเทศจำลองในการวางผังเมือง Canberra ตั้งแต่ยุคบุกเบิกการก่อตั้งอาณานิคม
การจัดแสดงนิทรรศการภายใน | การจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ฯ |
ประวัติการก่อตั้งเมือง Canberra
Canberra เป็นเมืองที่น่าอยู่มาก ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการจัดผังเมืองดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ก่อนเที่ยง พวกเราเดินทางไปยังสถานเอกอัครราชฑูตไทย ประจำกรุง Canberra เมื่อถึงบริเวณโซนสถานฑูต รถแล่นผ่านสถานฑูตประเทศต่าง ๆ หลายต่อหลายประเทศ แต่ละประเทศมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ของตัวเองแตกต่างกันไป ที่ใหญ่ที่สุดมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดก็เห็นจะเป็นสถานฑูตอเมริกา แต่ที่สวยที่สุดไกด์บอกว่า “สถานฑูตไทย” ครับ... (เอ..มันจะชาตินิยมไปถึงไหนวะเนี่ย..?)
เมื่อ เดินทางถึงสถานฑูตไทย จนท.สถานฑูตให้การต้อนร้บพวกเราอย่างอบอุ่น จากนั้นจึงมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะท่านเอกอัครราชฑูตไทย ประจำกรุง Canberra และผู้ช่วยฑูตทหารไทยทั้ง 3 เหล่าทัพ ฟังบรรยายสรุปภารกิจ สภาพปัญหา และตอบข้อซักถาม
สถานเอกอัครราชฑูตไทย Canberra | ภายในบริเวณสถานฑูตฯ |
ท่านเอกอัครราชฑูตฯ และ ผู้ช่วยฑูตทหารฯ | บรรยากาศในห้องประชุม |
อาหารไทยมื้อนี้อร่อยมาก ๆ ครับ..^^ | ขนมหวานน่ากิน..^^ |
ท่านเอกอัครราชทูตฯ ได้กรุณาเลี้ยงอาหารมื้อเที่ยงแก่พวกเรา นทน.หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 86 (อาหารไทยมีราคาค่อนข้างแพงในออสเตรเลีย) อาหารมื้อนี้เป็นอาหารไทยมื้อแรกในออสเตรเลียครับ อร่อยจัง ^^ ขอบคุณท่านเอกอัครราชฑูตฯ มาก ๆ ครับ ^^
หลังจากรับ ประทานอาหารมื้อเที่ยงเสร็จ ก่อนที่หนังท้องจะตึงหนังตาจะหย่อนไปซะก่อน ตอนบ่ายตัวแทนของพวกเราได้กล่าวขอบคุณ มอบของที่ระลึกและกราบลาท่านเอกอัครราชฑูตไทย เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมอาคารรัฐสภาออสเตรเลียกันครับ
อาคารรัฐสภา “Parliament House” ของออสเตรเลีย ดูยิ่งใหญ่มาก ๆ ครับ สมกับที่เป็นสถานที่ทำการของรัฐสภา ตัวอาคารเป็นตึกที่มีสถาปัตยกรรมทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศในแถบ ซีกโลกใต้ มีห้องต่าง ๆ มากถึง 4,500 ห้อง มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางถึง 250,000 ตารางเมตร แต่ละห้องตกแต่งอย่างทันสมัยเสริมด้วยงานศิลปะอะบอริจิ้นหลายพันชิ้น จุดเด่นของอาคารรัฐสภาอยู่ที่เสาธงขนาดใหญ่บนดาดฟ้าสูงเด่นเป็นสง่ามองเห็น ได้จากระยะไกล ผมไปค้นหาข้อมูลมาได้ว่า รัฐสภาแห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 8 ปีเลยทีเดียว
อาคารรัฐสภา ออสเตรเลีย | เด็ก ๆ ชาวออสซี่มาทัศนศึกษาที่รัฐสภา |
การจัด รปภ.เข้มงวดมาก ๆ ตรงบริเวณประตูทางเข้า มีอุปกรณ์ตรวจจับโลหะ วัตถุระเบิด ต้องถอดแจ็กเก็ตก่อนเข้าประตู ขณะที่ผมเดินผ่านประตูก็มีเสียงสัญญาณดังขึ้น รปภ.ให้ผมเดินกลับออกไปใหม่ แล้วก็ค้นหาที่มาของเสียง ปรากฎว่าเป็นเหรียญครับ อายเลย จนท.รปภ.ยิ้มที่มุมปากเล็กน้อยแต่ไม่ได้ว่าอะไร
ทางเดินภายในอาคารรัฐสภา | ห้องประชุมเก่า |
ระหว่างที่เดินเข้า ไป มี จนท.ของรัฐสภามาต้อนรับ แล้วแบ่งพวกเราออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อที่จะได้ดูแลได้อย่างทั่วถึง จนท.ที่ดูแลกลุ่มของผมเป็นสุภาพสตรี จำชื่อไม่ได้แล้ว ท่าทางดูเป็นคนใจดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส มีอัธยาศัยดี
เสาธงเด่นเป็นสง่าเหนือดาดฟ้า |
เธอนำพวกเราเข้าเยี่ยมชมตามห้องต่าง ๆ ที่สำคัญของรัฐสภา ทั้งห้องทำงานต่าง ๆ ห้องสมุด และรวมทั้งห้องประชุมรัฐสภาด้วย ครั้งนี้พวกเราโชคดีมาก ๆ ที่ทางรัฐสภาออสเตรเลียให้เกียรติคณะนายทหารนักเรียน ร.ร.เสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่86 ขึ้นไปชมทัศนียภาพบนดาดฟ้าของอาคารรัฐสภา ซึ่งโดยปกติจะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปขึ้นไป ถือเป็นความกรุณามาก ๆ
|
|
หลังจากเดินชมอาคารรัฐสภาจนทั่วแล้ว ต่อมาคณะ นทน.เดินทางต่อไปยัง “War Memorial” อนุสรณ์สงคราม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอาคารรัฐสภานัก (ตั้งอยู่ในแนวถนนสายหลักของ Canberra สายเดียวกัน) เพื่อรำลึกถึงทหารหาญผู้เสียสละของออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอาคารรัฐสภา ทาง War Memorial ได้จัดอดีตทหารผ่านศึกท่านหนึ่งมาคอยอำนวยความสะดวกและนำพาพวกเราชม
ทหารผ่านศึกออสเตรเลียทำหน้าที่ไกด์นำเยี่ยมชม War Memorial |
“War Memorial” แรกเมื่อได้เห็น รู้สึกได้ถึงการให้ความสำคัญแก่ทหารหาญของชาติที่เสียสละออกไปรบในสมรภูมิ ต่าง ๆ ของชาวออสซี่ ซึ่งแตกต่างจากทหารไทยที่มักจะทวงบุญคุณจากประชาชนอยู่เสมอ และทำให้ประชาชนผิดหวังด้วยการยึดรัฐประหารอำนาจจากปวงชนเป็นกิจวัตรครั้ง แล้วครั้งเล่า เพื่อตอบสนองตัณหา “ของอำมาตยาธิปไตย” หากทหารไทยอยากให้ประชาชนรักไว้วางใจและให้ความสำคัญกับทหาร ก็ควรมาศึกษาดูแบบอย่างจากประเทศออสเตรเลีย
|
ปิดท้ายการเดินทางในตอนเย็นที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน หรือ “Duntroon Military Academy” ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “The Royal Military College of Australia” ซึ่งเป็นสถาบันหลักผลิตนายทหารสัญญาบัตรของออสเตรเลีย ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมารฯ ทรงเป็นศิษย์เก่าที่นี่ (เพื่อนผมคนหนึ่งที่เรียนเตรียมทหารมาด้วยกัน ภายหลังได้ทุนกองทัพบกมาศึกษาต่อที่นี่จนสำเร็จการศึกษา)
ถ้าจำไม่ผิด อาคารนี้น่าจะเป็นอาคารกองบัญชาการฯ |
|
แต่เนื่องจาก “ The Royal Military College of Australia” หรือ “Duntroon Military Academy” อยู่ในระหว่างปิดภาคเรียน พวกเราจึงไม่มีโอกาสได้เข้าไปทัศนศึกษาดูงานอย่างใกล้ชิด ได้แต่เพียงนั่งรถผ่านชมสถานที่โดยมีนักเรียนนายร้อยออสเตรเลียคนหนึ่งขึ้น มาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศน์จำเป็นพาเที่ยวชมแนะนำสถานที่ รวมทั้งพาขึ้นไปชมทัศนียภาพบนยอดเขาของวิทยาลัยฯ
ทัศนียภาพบนยอดเขา Duntroon Military Academy
ทัศนียภาพบนยอดเขา Duntroon Military Academy
ทัศนียภาพ บนยอดเขา Duntroon Military Academy ที่มองเห็นไกล ๆ ซ้ายมือคือ อาคารรัฐสภา ส่วนขวามือคือ “Captain Cook Water jet” น้ำพุที่พุ่งสูงถึง 140 เมตร
จากนั้น พวกเราต้องเดินทางไกลต่อไปยังนคร Sydney โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 ชั่วโมง ความจริงระยะทางประมาณ 246 กิโลเมตรเท่านั้นเอง หากเป็นในเมืองไทยคงใช้เวลาประมาณ 2 ชม.เศษ แต่ที่นี่คนขับใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัย ก็ดีไปอย่าง ปลอดภัยดีครับ..
ระหว่างเดินทางก็เห็นจิงโจ้ออกหากินเป็นฝูง ๆ (มองเห็นไกล ๆ) ตลอดสองข้างทาง พวกเราเดินทางถึงนคร Sydney ก็ประมาณ 2 - 3 ทุ่มแล้ว
หลังจากรับประทานอาหารมื้อค่ำเสร็จ (อาหารจีนอีกแล้วครับ^^) ก็ check in เข้าพักที่ รร.Travelodge ระหว่างที่กำลังรอขนกระเป๋ากันอยู่นั้น ผมนัดกับพวกพี่ ๆ เพื่อน นทน. ประมาณ 15-16 คนวางแผนจะพากันไปเดินเล่นที่ย่าน Darling Harbour หรือ “อ่าวคู่รัก” ครับ (แอบสงสัยอยู่ในใจว่าทำไมถึงได้ชื่อนี้ ?) นัดกันไว้ 3 ทุ่มครึ่ง พอถึงเวลานัดไป ทุกคนต่างก็ลงมาพร้อมหน้าพร้อมตากันที่ล็อบบี้ของโรงแรม จากนั้นก็พากันเดินยกขโยงกันไปตามถนน ชมทัศนียภาพสองข้างทาง ชิมอาหารริมทาง อบอุ่นดีครับ
เดินครับ...^^ | ถนนหนทางที่เดินผ่าน ขณะมุ่งหน้าไป Darling Harbour |
แสงสียามราตรี | แสงสีจากตัวอาคารย่าน Darling Harbour |
หยุดถ่ายรูปเล่นกันเป็นระยะ ๆ | ยืนหันรีหันขวางว่าจะไปไหนต่อดี |
ถึงแล้วครับ Darling Harbour อ่าวคู่รัก^^
เดิมที่นี่เป็นทั้งชุมชนและที่ตั้งของท่าเรืออุตสาหกรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของ นคร Sydney ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมไม่เจริญหูเจริญตาแก่ผู้ที่พบเห็นเท่าใดนัก (คงจะแบบเดียวกันกับแถว ๆ ท่าเรือคลองเตยบ้านเรา)
ต่อมาในยุค1980 ทางเทศบาลได้วางแผนปรับปรุงเปลี่ยนโฉมท่าเรือเก่าแห่งนี้ให้กลายเป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจที่ประชาชนสามารถมาเที่ยวพักผ่อนแบบสบาย ๆ ได้ทั้งครอบครัว โดยทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล จึงมีสถานที่สารพัดให้ความบันเทิง ทั้งช้อปปิ้งมอลล์ โรงภาพยนต์ อควาเรี่ยม พิพิธภัณฑ์ฯ หอประชุมนานาชาติ และสวนสนุกสำหรับเด็ก ๆ
พอเดินถึง Darling Harbour พวกเราไปหาที่นั่งชมวิวกัน แถบนั้นมีร้านเหล้า ผับ บาร์ บรรยากาศดี ๆ ให้เลือกนั่งได้ตามใจชอบ พวกเราได้ที่นั่งกลางแจ้งของผับเล็ก ๆ ในบริเวณนั้นไว้ตั้งหลัก
|
|
|
|
พี่ ๆ ที่เดินมาด้วยกันสั่งเบียร์มาดื่มกันคนละขวด 2 ขวด ราคาขวดละ 7 เหรียญ (เอา 30 คูณเป็นเงินไทย ตกราคาขวดละประมาณ 210 บาท) แพงเอาการเหมือนกัน ถ้าดื่มไวก็หมดไว ต้องดื่มช้า ๆ ชมนกชมไม้ไปเรื่อยเปื่อยถึงจะได้อรรถรส ^^ ผมไม่ดื่มสุราครับ ดื่มแต่โคล่า.. (ปรากฎว่าตอนเช็คบิล เจ้าของร้านไม่คิดตังค์ คงจะอภินันทนาการให้ 555 สงสัยคงได้กำไรจากพี่ ๆ ที่ดื่มเบียร์บานเลย)
นั่งดื่มไปก็เหล่สาวไป เห็นสาวเอเชีย สาวออสซี่เดินควงคู่มากับชายหนุ่มเป็นคู่ ๆ ก็เริ่มเข้าใจโดยอัตโนมัติครับ ว่าทำไมคนที่นี่ถึงได้ตั้งชื่ออ่าวแห่งนี้ว่า “Darling Habour”
หลังจากนั่งดื่มเครื่องดื่มพร้อมกับคุยไปอย่างออกรส ก่อนจะดึกไปกว่านี้ พวกเรามีสถานที่ที่วางแผนกันไว้ในใจแล้วครับว่าจะไปต่อกัน พอเช็คบิลเรียบร้อยแล้วพวกเราทั้งหมดก็พากันเดินยกโขยงต่อไปที่ “สถานกาสิโน” ครับ.. ไปดูสักหน่อยว่า หน้าตามันเป็นยังไง ผมกับพี่ ๆ เข้าไปเดินดูตามมุมต่าง ๆ ในสถานกาสิโน เสียดายที่เขาห้ามนำกล้องเข้าไป ห้ามถ่ายรูป ก็เลยไม่มีรูปมาให้ชม^^
No comments:
Post a Comment