Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Monday, January 11, 2016

Nizamuddin Mosqe: ศูนยกลางดะอฺวะหฺโลกมุสลิม



#Nizamuddin

ช่วงบ่ายมีเวลาว่างอีกเหลือเฟือ ไม่รู้จะทำอะไร ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ผมตั้งใจไปเยือนให้ได้ ว่าแล้วก็รีบทำธุระส่วนตัวและทำละหมาดจนเรียบร้อยเดินลงมาถามพนักงานที่เคาน์เตอร์ว่า จะไป "Nizamuddin Markaz Masjid" ต้องขึ้นรถเมล์สายอะไร เจ้าตัวคงไม่รู้หรืออาจจะตัดความรำคาญจึงบอกว่า โบกตุ๊กตุ๊กไปจะดีกว่า ผมถามราคาว่าประมาณเท่าไหร่ เจ้าตัวบอกประมาณ 100 รูปี ได้ฟังดังนั้นผมจึงเดินลงออกมาหน้าโรงแรมเพียงลำพังคนเดียวโบกรถ Auto Rickshaw หรือตุ๊กตุ๊ก ปรากฎว่าได้ราคา 60 รูปี ผมรีบตกลงทันทีโดยไม่ได้ต่อรอง 

งานดะวะห์ของโลกมุสลิมห์มีศูนย์กลางระดับโลกที่มัสยิดนิซามุดดีน  ณ กรุงนิวเดลี  ประเทศอินเดีย สถานที่ที่ผมกำลังจะไปเยือนนั่นเอง ผู้ริเริ่มการฟื้นฟูงานดาวะห์คนล่าสุด คือ เมาลานา “อิลยาส” (คำว่าเมาลานาใช้เป็นคำยกย่องผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาคล้าย ๆ กับสมณศักดิ์หรือระดับความรู้) เป็นชาวตำบลเมวัต ที่ตั้งของมัสยิดนิซามุดดีน  กระบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลามในอินเดียหลังยุคการล่าอาณานิคมเริ่มต้นฟื้นฟูจากที่นี่จนแพร่กระจายไปทั่วโลก ที่นี่จึงเป็นศูนย์กลางของงานดะวะห์โลกมุสลิมในปัจจุบัน

นั่งรถมาสักอึดใจหนึ่งรถตุ๊กตุ๊กก็มาจอดยังจุดหมายปลายทาง พอลงจากรถยังไม่เห็นว่าสถานที่ที่ผมตั้งใจมานี้มีความยิ่งใหญ่และสำคัญเพียงใด แต่สังเกตเห็นผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมาล้วนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบมุสลิมสวมหมวกีขาวที่คนไทยเห็นกันอย่างชินตาอยู่ทั่วไปในเมืองไทย ผมเดินดุ่มๆ เข้าไปสายตาก็สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว มีขอทานเดินตาเข้ามาตามตื๊อขอเงินตลอดทางใจนึงก็อยากให้ใจนึงก็กลัวโดนรุมจึงแข็งใจเดินหน้าตาเฉยเข้าไปในซอยซึ่งเป็นทางเข้าของมัสยิด ผมใจร้ายไปมั้ยครับ 😅😅😅

เดินเข้ามาประมาณ 100 -200 เมตร พบอาคารคอนกรีต 7 ชั้นด้านขวามือดูเด่นเป็นสง่า ผมเข้าใจได้ด้วยตัวเองทันทีในขณะนั้นว่า  นั่นคืออาคารส่วนที่เป็น "Nizamuddin Markaz Masjid" ศูนย์กลางดะอฺวะห์ของโลกมุสลิมนั่นเอง ผมหยุดแวะที่นี่เดินเข้าไปข้างในพบว่ามีห้องหับต่างๆ สลับซับซ้อนแลดูยิ่งใหญ่โอฬาร ทำให้พอจะเห็นร่องรอยว่ามีมุสลิมออกจาริกแสวงบุญมาปฏิบัติศาสนกิจที่นี่จำนวนมหาศาลในแต่ละปี ผมกล่าวทักทายโดยการให้สลามใครสักคนหนึ่งที่พบเป็นคนแรกในนั้น ยืนสำรวจภายในอาคารอยู่ครู่ใหญ่ ดื่มด่ำรู้สึกได้ถึงแรงใจความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนที่ดั้นด้นมาพักค้างแรมร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาที่นี่ แต่เนื่องจากวันนี้ผมแต่งตัวมาเป็นชุดสแล็คไม่เข้าพวกจึงรู้สึกเกรงใจไม่กล้าเข้าไปเดินเพ่นพ่านข้างในจึงเดินออกมา แต่เอาน่า!!  อย่างน้อยในชั่วชีวิตของผมได้ชื่อว่าเดินทางดั้นด้นมาถึงสถานที่ที่มีความสำคัญยิ่งและทรงอิทธิพลของงานดะอฺวะห์ที่สุดของโลกมุสลิมแล้ว

ผมเดินต่อเข้าไปในซอยลึกเข้าไปข้างใน ตลอดสองข้างทางเป็นร้านรวงประเภทต่างๆ ทั้งร้านอาหาร ดารดาษไปด้วยเครื่องประดับ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหลากสีสัน สังเกตเห็นมีร้านขายดอกกุหลาบสีแดงอยู่เป็นระยะๆ นึกแปลกใจว่าทำไมจึงมีดอกกุหลาบสีแดงขายจำนวนมากในบริเวณนี้ ตลอดระยะทางประมาณ 200-300 เมตร ผู้คนเดินเบียดเสียดกันอย่างหนาแน่น บางช่วงของถนนในซอยพูดได้ว่าหากเป็นการจราจรก็ถึงขั้นรถติดบรรลัย  ก่อนถึงประตูทางเข้า มีคนชี้มาที่รองเท้าผมหลายครั้ง แรกๆ ยังไม่เก็ต หลายครั้งเข้าก็เริ่มเอะใจ เมื่อเดินเข้าไปถึงประตูทางเข้าจึงรู้ว่าต้องถอดรองเท้าไว้ข้างนอกซึ่งมีผู้ให้บริการรับฝากรองเท้าหลายเจ้าด้วยกัน คนที่ทักผมโดยการชี้มาที่รองเท้ามาตลอดทางคงต้องการให้ผมใช้บริการฝากรองเท้ากับตัวเองกระมัง ผมฝากรองเท้าไว้กับคุณลุงคนหนึ่ง ถามราคาเท่าไหร่ คุณลุงตอบว่า ค่อยให้ตอนขาออกแล้วแต่ผมจะให้? เอาแล้วสิ! ผมนึกคำนวณในใจว่าควรจะให้ค่าฝากรองเท้าเท่าไหร่ดี...

พอเดินเข้าไปข้างในก็พบบริเวณกลุ่มอาคารส่วนที่เป็น "Dargah Hazrat Khwaja Syed Nizamuddin Aulia R.A" ซึ่งมีมัสยิดเล็กๆ อีกหลังหนึ่งซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งหญิงชาย  เด็กและคนชรา บริเวณหน้ามัสยิดมีอาคารชั้นเดียวหลังคาโดมตั้งอยู่ ใต้หลังคาโดมเป็นกุบูร์ (สุสาน) ของใครสักคนหนึ่งซึ่งคงจะเป็นบุคคลที่เคยมีคุณูปการยิ่งต่อสถานที่แห่งนี้  มีการนำกลีบดอกกุหลาบสีแดงและสิ่งต่างๆ วางบนกุบูร์นั้นในลักษณะคล้ายการสักการะบูชา ผมเพิ่งถึงบางอ้อเรื่องดอกกุหลาบสีแดงในวินาทีนี่เอง มีหญิงชายหลายคนเข้าไปโปรยดอกกุหลาบสีแดงบนกุบูร์แล้วสูญูด (ก้มกราบ) ต่อกุบูร์ ซึ่งเข้าข่ายการกระทำชิริก (การตั้งภาคีต่อพระเจ้าโดยยกสิ่งอื่นขึ้นมาเสมอเหมือนพระองค์) อันเป็นบาปใหญ่ในศาสนาอิสลามอย่างชัดแจ้ง มีกุบูร์เล็กกุบูร์น้อยตั้งเรียงรายอยู่บริเวณหน้ามัสยิด บางกุบูร์มีเทียนซึ่งจุดไว้แล้วปักบูชาอยู่ ผมนึกในใจ ไม่ใช่ล่ะ ไม่ถูกต้อง ก็เลยไม่ได้เข้าไปดูกุบูร์ใต้หลังคาโดมนั้น  เข้าใจได้ว่าคนที่ทำเช่นนั้นอาจทำไปด้วยอวิชชา หรือเจ้าของผู้ดูแลพื้นที่ที่ปล่อยให้มีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นอาจมีเหตุผลทางธุรกิจซ่อนเร้นอยู่  ผมเดินอ้อมไปอาบน้ำละหมาดแล้วเข้าไปในมัสยิดเพื่อละหมาดตะฮิยาตุลมัสยิด (ละหมาดสุนัตเคารพให้เกียรติมัสยิด - ละหมาดรายบุคคล) 2 รอกาอัต (ก้มกราบ 2 ครั้ง) ผมละหมาดด้วยความรู้สึกสงบและสบายใจ หลังละหมาดก่อนเดินออกจากมัสยิดผมเดินไปจับมือกล่าวทักทายให้สลามผู้อาวุโส 3-4 คนแล้วเดินออกมา

ผมเดินดูรอบๆ มัสยิดอยู่พักใหญ่ จนมาถึงห้องห้องหนึ่งมีผู้หญิงผู้ชายทั้งเด็ก คนหนุ่มสาวและคนชรา นั่งบ้างนอนบ้างรวมแล้วประมาน 20-30 คน ที่ไม่ปกติคือ คนเหล่านั้นบางคนอยู่ในสภาพวิกลจริตคล้ายผีเข้า มีชายวัยกลางคนคนหนึ่งกำลังทำพิธีที่มีลักษณะคล้ายการไล่ญิน (ภูติผี) สายตาของชายหญิง 2-3 คนที่กำลังคลุ้มคลั่งอยู่เหลือบมาสบตาผมแว่บหนึ่งแล้วเลี่ยงหลบสายตาแสดงอาการคลุ้มคลั่งต่อไปอย่างเป็นระเบียบ สัญชาติญาณตำรวจบอกผมว่า "นั่นคือการแสดง" หลังจากยืนดูต่อสักอึดใจหนึ่งก็รีบเดินออกมาเพื่อจะกลับโรงแรม 

เดินกลับมาเอารองเท้าที่ฝากไว้กับคุณลุงพร้อมกับควักเงินให้ 30 รูปี คุณลุงรับเงินแล้วยิ้มไม่ได้ว่าอะไร ผมขอถ่ายรูปคุณลุงก็แอ็คท่าถ่ายรูปให้อย่างดี ระหว่างเดินออกมาพบร้านอาหารร้านหนึ่งน่าสนใจ มีของหวานด้วย อยากลองชิมดู ปกติตอนอยู่เมืองไทยผมไม่กินข้าว ไม่กินแป้ง  ไม่กินของหวาน อาหารมื้อหลักของผมเป็นผักกับผลไม้ แต่พอมาอยู่อินเดียต้องปรับตัวเองเล็กน้อยเพื่อทดลองชิมอาหารแปลกๆ

ผมสั่งเคบาบ 1 ที่ ไม่รู้ว่าเนื้ออะไรแต่เดาว่าน่าจะเป็นเนื้อแพะ และสั่งของหวานที่เห็นวางอยู่หน้าร้านทั้ง 4 อย่างรวมมาในถ้วยเดียวกัน ชิมเคบาบดูพบว่ากลิ่นเครื่องเทศแรงมาก ส่วนของหวานก็หวานมากรสชาติแปลกดีบอกไม่ถูกว่าเหมือนอะไร กินมากๆ อ้วนแน่ๆ มื้อนี้บิลราคา 170 รูปี ผมขอถ่ายรูปหน้าร้านเจ้าของร้านก็อนุญาตให้ถ่ายด้วยความภาคภูมิใจ 

เดินออกมาเกือบพ้นซอยก็มีขอทานเป็นเด็กผู้หญิงอายุสักประมาณ  6-7 ขวบมาจับแขนพร้อมขอตังค์หน้าตาน่าสงสาร ใจนึงก็อยากให้เพราะสงสาร แต่ใจนึงก็กลัวปัญหาต่อเนื่องจะตามมา  ตอนนั้นเห็นว่าเดินใกล้จะถึงปากซอยแล้ว คงไม่เป็นไร ผมทำท่าล้วงเอาเงินเพื่อจะยื่นให้เด็กหญิงคนนั้น เท่านั้นแหละได้เรื่อง มีขอทานคนอื่นอีก 3-4 คนไม่รู้โผล่มาจากไหน เดินตามมาเป็นพรวน งานเข้าแระ พอให้เงินขอทานคนหนึ่งขอทานคนที่เห็นจะเข้ามาร่วมวงรุมสกรัมด้วย ผมรีบควักเงินให้ขอทานทั้งเด็กหญิง และหญิงชรารวม 4 คนคนละ 10 รูปี แล้วรีบเดินผละออกมา ยังโชคดีที่ไม่มีใครเดินตามออกมาอีก 

ออกมายืนเรียกตุ๊กตุ๊กไป East of Kailash บริเวณ Stop Kailash บล็อก B  ตุ๊กตุ๊กจะเอา 300 รูปีบ้าง 200 รูปีบ้าง ผมต่อรองในราคา 100 รูปีไม่มีใครยอม หนักที่สุดแค่เอ่ยถึงจุดหมายปลายทางยังไม่ทันพูดถึงราคาทุกคนส่ายหัวหมด แปลกใจทำไมขามาถูกจัง ขากลับถึงได้ยเกเย็นแบบนี้ ยืนโบกตุ๊กตุ๊กอีกนับสิบคันก็ไม่มีใครยอมไปส่งเลยจนมาเจอคันสุดท้ายบอกราคา 70 รูปี ผมรีบตกลง ในที่สุดก็ได้กลับมานอนตีพุงที่ห้องพัก เกือบงานเข้าแล้วมั้ยล่ะนายศุภชัช

No comments:

Post a Comment

RevolverMap