วันนี้ (พุธที่ 27 ม.ค.2559) หลังเลิกเรียน ผมชวนเพื่อนๆ 4-5 คน ไปเยี่ยมชมหลุมฝังพระบรมศพของจักรพรรดิหุมายูง (Humayun's Tomb) กัน สถานที่นี้อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพักมากนัก เรียกตุ๊กตุ๊กราคา 100 รูปี ใช้เวลานั่งรถประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึง ค่าผ่านประตูเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติปกติ 250 รูปี แต่เช่นเคย ผมแสดงหนังสือเดินทางของประเทศไทยก็ได้ราคา 10 รูปี เท่าชาวอินเดียเช่นกัน (ราคา BIMSTEC)
หลุมฝังพระบรมศพของจักรพรรดิหุมายูง (Humayun's Tomb) เป็นสุสานหลวงที่บรรจุพระบรมศพของจักรพรรดิหุมายูงแห่งจักรวรรดิโมกุลอันยิ่งใหญ่ของอินเดีย ออกแบบโดยสถาปนิกชาวเปอร์เซีย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2108 (ประมาณ 400 ปีเศษล่วงมาแล้ว) ตรงกับช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ซึ่งจัดว่าเป็นสุสานและสวนแห่งแรกบนอนุทวีปอินเดีย ตั้งอยู่ที่นิซามุดดิน อีสต์ เดลี ใกล้กับป้อมปราการ "ดินา-ปานาห์" (Dina-panah) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "ปุรานากิลา" (Purana Qila) สถานที่แห่งนี้เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งแรกที่ใช้หินทรายสีแดงเป็นวัตถุดิบหลักในการก่อสร้าง ใช้เวลาในการก่อสร้างรวม 7 ปี
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างต่อเนื่องตลอดมาและยังคงดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากอาคารที่เป็นสุสานหลักแล้ว ภายในบริเวณ Humayun's Tomb แห่งนี้ ยังมีอนุสรณ์สถาน สุสานต่างๆ หลายแห่งซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ระหว่างทาง ตั้งแต่ประตูทางเข้าหลักทางทิศตะวันตก ยังมีอีกสถานที่หนึ่งซึ่งมีความเก่าแก่กว่าประมาณยี่สิบปี ได้แก่ สุสานของอิซา คาน นิยาซี (Isa Khan Niyazi) ซึ่งเป็นขุนนางชาวอัฟกันในราชสำนักของพระเจ้าเชอร์ชาห์สุรีแห่งราชวงศ์สุรี ซึ่งสร้างในปี พ.ศ.2090 อีกด้วยครับ
สุสานและสวนที่สถาปนิกชาวเปอร์เซียได้ออกแบบไว้ ภาษาฮินดีเรียกว่า จาร์บาค (Charbagh) หรือจตุรภาค เป็นสวนที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่มีสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กหลายอันซ้อนอยู่ ด้วยความงดงามและยิ่งใหญ่ของ Humayun's Tomb นี่เอง เป็นแรงบันแรงดาลใจให้พระเจ้าชาห์ จาฮัน ไปสร้าง “ทัชมาฮาล” ที่เมืองอัครา เพื่อเป็นสุสานที่ระลึกสำหรับพระนางมุมตัส มเหสีสุดที่รัก ซึ่งกลายเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ในเวลาต่อมา