Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Friday, September 23, 2011

เสียงจากชาวบ้าน-อดีตแนวร่วม-ผู้นำศาสนา...ไม่ปักใจ "แก๊งค้ายา" เบื้องหลังบึมโก-ลก

clip_image001
ที่มา: สำนักข่าวอิศรา
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า หลังเหตุระเบิดครั้งรุนแรงที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ดูเหมือนฝ่ายทางการจะให้ข้อมูลตรงกันทั้งทหารและตำรวจว่า เป็นฝีมือของขบวนการค้ายาเสพติดที่ปฏิบัติการตอบโต้รัฐ ทั้งยังโหมกระแสว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลือนไหวอยู่ในพื้นที่และเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงตลอดกว่า 7 ปีที่ผ่านมานั้น แท้ที่จริงแล้วมีส่วนเกี่ยวพันกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดอย่างแยกไม่ออก
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พูดชัดว่ามีหลักฐานยืนยันว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับกลุ่มค้ายาใช้คนชุดเดียวกันในการก่อเหตุรุนแรง
ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ให้ข้อมูลสอดรับกันว่า สถานการณ์ความไม่สงบในขณะนี้มีสาเหตุจาก “ภัยแทรกซ้อน” คือกลุ่มอิทธิพลมืด ค้ายาเสพติด น้ำมันเถื่อน และสินค้าเถื่อนมากถึง 80% ส่วนสาเหตุจากการแบ่งแยกดินแดนจริงๆ มีเพียง 20% เท่านั้น
แต่ทั้งหมดนั้น โดยเฉพาะการโหมกระแสช่วงหลังเหตุการณ์ “บอมบ์โก-ลก” เป็นข้อมูลจากฝ่ายรัฐเพียงด้านเดียว ฉะนั้นน่าจะลองฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่จริงๆ บ้างว่าพวกเขาคิดเหมือนกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือเปล่า
หลายประเด็นที่ "คนพื้นที่" หยิบขึ้นมาพูดหรือตั้งข้อสังเกตนับว่าน่าสนใจ แม้จะมองเป็นเรื่องความรู้สึก ไม่ได้มีข้อมูลหลักฐานเอกสารประกอบเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม แต่ความรู้สึกเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งในสงครามแย่งชิงมวลชน
น่าสังเกตว่าภายใต้สถานการณ์ร้ายที่กลายเป็นฝุ่นตลบอบอวลอยู่ที่ชายแดนใต้นั้น มีข้อมูลจากบางฝ่ายยืนยันชัดว่าไม่ใช่เรื่องแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว แต่หลายเหตุการณ์เป็นเรื่องส่วนตัว อีกหลายเหตุการณ์เป็นประเด็นขัดแย้งและขัดผลประโยชน์กันของการเมืองท้องถิ่น และแน่นอนหลายกรณีเป็นเรื่องยาเสพติด
แต่คำถามก็คือเหตุใดเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจำนวนกว่าครึ่งแสนที่อยู่ในพื้นที่จึงไม่สามารถสกัดกั้นได้ นั่นหมายถึงรัฐคุมพื้นที่ไม่ได้จริงใช่หรือไม่ และช่องโหว่ช่องว่างเหล่านั้นทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงกันได้อย่างเสรีไม่ต่างอะไรกับดินแดน “มิคสัญญี” ใช่หรือเปล่า
นี่ต่างหากคือโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐต้องเร่งตอบให้ชาวบ้านหายคาใจ!
ผู้นำศาสนา : ยาเสพติดไม่ใช่ปัจจัยหลักหนุนขบวนการ
โต๊ะอิหม่ามรายหนึ่งจาก จ.ยะลา กล่าวว่า จุดแข็งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนคือบอกว่าทำเพื่อศาสนา ซึ่งศาสนาอิสลามไม่ถูกกับคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยตรง แต่ถ้าเป็นการสนับสนุนทางการเงินบางส่วนก็อาจเป็นไปได้
       “อย่างที่หลายฝ่ายรู้ว่ากลุ่มแนวร่วมในพื้นที่ถูกหลอกลวง มีการบิดเบือนศาสนาและปลุกระดม เพราะฉะนั้นการที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาจรับเงินสนับสนุนจากกลุ่มค้ายาเสพติดก็มีความเป็นไปได้ เพราะขนาดการปลุกระดมเพื่อดึงแนวร่วมเข้าขบวนการยังบิดเบือนศาสนาได้ เรื่องเอาเงินจากที่ไหนมาคงง่ายที่จะทำ"
อย่างไรก็ตาม อิหม่ามรายนี้ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ในพื้นที่เกิดจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จับมือกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด
       “การก่อเหตุแต่ละครั้งไม่ใช่ง่ายๆ เจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในพื้นที่เยอะแยะ ผมเชื่อว่ามันมีอะไรซับซ้อนมากกว่าที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนกับกลุ่มยาเสพติดทำ ยิ่งช่วงนี้กำลังอยู่ระหว่างโยกย้ายข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ด้วย”
อิหม่ามจาก จ.ยะลา บอกด้วยว่า ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ขยายตัวเพราะยาเสพติด เพราะในพื้นที่นี้มีปัญหาชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ์ ไม่ได้รับความเป็นธรรม และรู้สึกไม่ดีกับรัฐ ตรงนั้นต่างหากที่เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนไหลเข้าขบวนการ และรัฐยังไม่ได้แก้ไขเลย ฉะนั้นรัฐไม่ควรพุ่งเป้าหรือโหมกระแสไปที่ยาเสพติดเรื่องเดียว
ภรรยาผู้ต้องขัง : ต่างฝ่ายต่างก่อเหตุ
ภรรยาผู้ต้องขังคดีความมั่นคง บอกว่า ไม่อยากเชื่อสิ่งที่รัฐพยายามโหมกระแสอยู่ในขณะนี้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับเรื่องยาเสพติด และขบวนการค้ายาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
       “แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นเยอะฉันก็ยังไม่อยากเชื่อ เพราะในพื้นที่มีทหารอยู่เต็มไปหมด แต่ยังมีเหตุเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นฝีมือกลุ่มค้ายาจริงๆ ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่มาช่วย เพราะการเคลื่อนย้ายระเบิดหรืออาวุธเข้าไปก่อเหตุต้องผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ก่อน”
       “ส่วนตัวคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นลักษณะแต่ละกลุ่มต่างก็ก่อเหตุกันเอง กลุ่มยาเสพติดก็ก่อเหตุไป เมื่อมีคนขวางก็ทำ ส่วนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็ก่อเหตุไปเช่นกัน กลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ก็ก่อเหตุไป นี่ยังไม่นับที่ว่าเจ้าหน้าที่ก่อเองอีกนะ มันจึงทำให้เหตุรุนแรงในบ้านเราเยอะ ชาวบ้านเชื่อกันอย่างนั้น แต่เจ้าหน้าที่มักพูดทุกครั้งว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทำ โดยมีกลุ่มยาเสพติดสนับสนุน มันเป็นไปไม่ได้”
ภรรยาผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ให้ข้อมูลด้วยว่า ในพื้นที่ยังมีปัญหาความไม่เป็นธรรมมากมาย ชาวบ้านเดือดร้อนแต่ไม่มีใครช่วย อย่างเวลาเกิดเหตุรุนแรงและเจ้าหน้าที่ต้องการตัวคนร้าย ก็มากวาดจับเอาไปโดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แล้วค่อยเลือกว่าคนไหนใช่ คนไหนไม่ใช่
       “แม้สุดท้ายคนที่ไม่ใช่จะได้รับการปล่อยตัว แต่ก็ต้องเสียเวลา ถูกจับขังเป็นเดือนๆ บางคนมีหนี้นอกระบบ พอสามีถูกจับก็ไม่มีเงินจ่าย เจ้าหนี้ก็มายึดโน่นยึดนี่ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงและไม่มีใครรู้ น่าสงสารมาก รัฐเองเหมือนยิ่งซ้ำเติม”
อดีตแนวร่วม : ไม่เชื่อขบวนการรับเงินแก๊งค้ายา
ด้านอดีตแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งเคยเคลื่อนไหวในพื้นที่ จ.ยะลา ให้ความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่กลุ่มขบวนการจะรับเงินสนับสนุนจากผู้ค้ายาเสพติด เพราะไม่มีเหตุผลที่กลุ่มขบวนการจะต้องรับเงิน เนื่องจากเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เพื่อศาสนา ต้องสะอาดบริสุทธิ์เท่านั้น ไม่ใช่เอาบาปหรือสิ่งไม่ดีมาปะปนให้สิ่งดีๆ สกปรกไปด้วย
       “จริงๆ ทุกวันนี้กลุ่มแยกดินแดนแทบไม่ต้องก่อเหตุเอง แค่นั่งมองเฉยๆ ก็มีชื่อติดเป็นผู้ก่อเหตุแล้ว เพราะรัฐให้น้ำหนักมาที่กลุ่มเดียว ทั้งๆ ที่ในพื้นที่นี้ยังมีอะไรอีกมากมาย แค่พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีอิทธิพลขัดผลประโยชน์กันแล้วก่อเหตุรุนแรงเพื่อจัดการอีกฝ่ายก็กลายเป็นเรื่องของการก่อความไม่สงบ กลายเป็นว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนเก่ง แม้ทหารอยู่เต็มพื้นที่ก็ก่อเหตุได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่เลย”
ฝ่ายปกครอง : กอ.รมน.ภาค 4 อย่าด่วนสรุป
ขณะที่ข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงรายหนึ่งซึ่งปฏิบัติงานอยู่ใน จ.ยะลา กล่าวว่า เหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจมีบางเหตุการณ์ที่เกิดจากเรื่องยาเสพติด แต่ไม่ใช่ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อย่างที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังพยายามให้ข่าวอยู่ในขณะนี้
       “ผมคิดว่าเราไปฟันธงขนาดนั้นไม่ได้ เพราะปัญหาภาคใต้ต้องดูหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แค่ห่วงเก้าอี้แล้วรีบพูดออกไป ฉะนั้นคนอื่นมองอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ไม่ใช่เรื่องยาเสพติดทั้งหมดแน่นอน”
คนมาเลย์ : รัฐไทยต้องแก้ความไม่เป็นธรรม
ด้านความเห็นของชาวมาเลเซีย นายอับดุลรอมาน อิบราเฮม กล่าวว่า เหตุรุนแรงครั้งล่าสุดที่ อ.สุไหงโก-ลก น่ากลัวมาก และมีชาวมาเลย์เสียชีวิตด้วย ทำให้คิดว่าเขาและครอบครัวคงไม่กล้ามาเที่ยวประเทศไทยอีกแล้ว
       “ความรุนแรงที่ยืดเยื้อทำให้อะไรๆ เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนคนทางบ้านผมจะส่งลูกหลานมาเรียนปอเนาะที่สามจังหวัดกันเยอะ แต่พอเกิดเหตุการณ์รุนแรงบ่อยครั้งเข้าก็ไม่มีใครส่งมาอีกเลย ยิ่งคราวนี้ระเบิดที่สุไหงโก-ลกมีชาวมาเลเซียเสียชีวิตด้วย ย่อมกระทบความรู้สึกของคนมาเลย์มากยิ่งขึ้นไปอีก”
นายอับดุลรอมาน กล่าวด้วยว่า เท่าที่รับฟังจากญาติซึ่งอาศัยอยู่ในสามจังหวัด ทราบว่าพื้นที่ชายแดนใต้มีปัญหาหลายอย่าง ไม่ใช่แค่แบ่งแยกดินแดนเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความเป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบประชาชนด้วย ซึ่งเป็นจุดที่ผมเห็นว่ารัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ ไม่อย่างนั้นปัญหาจะบานปลายต่อไป

No comments:

Post a Comment

RevolverMap