Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Sunday, March 30, 2025

#แผ่นดินไหวกับ “#กำทอน” – #เมื่อจังหวะที่พอดีอาจทำลายล้างทุกอย่าง


 #แผ่นดินไหวกับ “#กำทอน” – #เมื่อจังหวะที่พอดีอาจทำลายล้างทุกอย่าง

แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568

กลายเป็นข่าวใหญ่ทันที เมื่ออาคารสูงที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาทั้งตึก

ภาพควัน ฝุ่น และซากโครงสร้าง ทำให้หลายคนตกใจ และคำถามก็ตามมาไม่หยุด

“โกงหรือเปล่า?”

“ก่อสร้างผิดแบบไหม?”

“วัสดุไม่ดีหรือยังไง?”

แน่นอนว่าทุกข้อสงสัยต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุด

แต่ในฐานะอดีตเด็กสายวิทย์ที่เคยเรียนทั้งที่อิสลามวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมทหาร

ถึงแม้จะหลับๆ ตื่นๆ ในห้องเรียนบ้าง แต่ผมอดนึกถึงบทเรียนในวิชาฟิสิกส์ เรื่อง “กำทอน” (Resonance) หรือ “ลั่นพ้อง” ไม่ได้

“กำทอน” คือปรากฏการณ์ที่วัตถุเกิดการสั่นรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  เมื่อได้รับแรงกระตุ้นในจังหวะที่ “ตรงกับความถี่ธรรมชาติ” ของมันพอดี

คล้ายการดันชิงช้าให้ถูกจังหวะ—มันจะไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้แรงแค่นิดเดียว

อาคารก็มีความถี่ของตัวมันเอง

ถ้าแผ่นดินไหวสั่นในจังหวะที่ “เข้าพอดี”

แม้อาคารจะสร้างได้ตามมาตรฐาน ก็อาจสั่นแรงเกินรับไหว และถล่มลงมาได้จริง ๆ

ดังนั้น บางครั้งการพังทลายอาจไม่ใช่เพราะโกง

แต่อาจเป็นเพราะธรรมชาติ… จังหวะพอดีเกินไปต่างหาก

หวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่ใช่แค่บทเรียนเรื่อง “ความผิดพลาด” แต่เป็นบทเรียนเรื่อง “ความเข้าใจ” ที่เราจะใช้เตรียมรับมือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

Wednesday, March 19, 2025

จากเงามืดสู่การค้นพบ





 


#จากเงามืดสู่การค้นพบ

เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องเล่าที่ผมตามหาร่องรอยข้อมูลตัวตนและเครือญาติของ “แก่หยัง“ (ตาทวด)  พ่อของแก่ม๊ะคุณยายผมจนเจอ ซึ่งทั้งชีวิตที่ผ่านมา พวกเราลูกหลานรู้แต่เพียงชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าท่านเป็นใคร มีเครือญาติอยู่ที่ไหน และใช้นามสกุลอะไร เพราะท่านเสียชีวิตตอนที่แก่ม๊ะ บุตรคนเล็ก อายุได้เพียงแค่ 4 ปี

ทุกครั้งที่มีโอกาส เมื่อผมกลับไปเยี่ยมท่านที่บ้านลำธาร์ ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง  ผมมักจะนั่งสนทนา และหยอกล้อเล่นกับ “แก่ม๊ะ บินหมาด” คุณยายของผมอยู่เสมอ

ท่านเป็นหญิงชราท่าทางใจดี ที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายคนจีน ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะท่านมีเชื้อสายจีนจากคุณยายของท่าน “แก่ดวง” อดีตหญิงม่าย “มุอัลลัฟ” ลูกครึ่งจีน จากบ้านแพรกหา อำเภอควนขนุน   แก่ม๊ะเสียชีวิตเมื่อปลายปี 2564 ด้วยอายุ 94 ปี

เมื่อผมยังเด็ก ท่านยังมีกำลังวังชา แก่ม๊ะเป็นคนขยันมาก ชอบขุดดินยกร่องปลูกผักสวนครัว และมีงานอดิเรกคือ “การสานตับจาก” โดยไปตัดใบสาคูจากป่าพรุใกล้บ้านมาสานตับจากทำเป็นหลังคา มีทั้งทำซ่อมแซมบ้านของตัวเองบ้าง หรือแบ่งขายแก่ญาติพี่น้องในราคาย่อมเยาบ้าง ตั้งแต่เล็กจนโต ผมไม่เคยเห็นใครมีทักษะนี้อีก

ผมเคยส่องดูสมุดทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของแก่ม๊ะ ทราบว่า ในทะเบียนบ้าน ระบุชื่อพ่อของแก่ม๊ะว่า “นายบ่าว” ไม่ระบุนามสกุล 

#ย้อนกลับไปเมื่อก่อนหน้านั้น

หลังจากแก่สัน โส๊ะสมาคม แต่งงานกับแก่ดวง ม่ายสาวลูกสอง ท่านนำแก่ดวง เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม พาภรรยาไปตั้งบ้านเรือนเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านหัวปาบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง ตำบลห้วยลึก อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา) บ้านเกิด ซึ่งเป็นชุมชนมลายูมุสลิมมาแต่โบราณ มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนคือ “หน๊ะ โส๊ะสมาคม” เมื่อถึงวัยออกเรือน แก่หน๊ะ แต่งงาน 2 ครั้ง

ครั้งแรก ไม่ปรากฏว่าแต่งงานด้วยความรัก หรือโดยการจัดการของผู้ใหญ่ ชีวิตคู่จบลงไม่นาน เพราะ “โต๊ะหีม ราชกิจ” สามี ทิ้งท่านกับบุตรชาย คือ “แก่ฝีน โส๊ะสมาคม” (พี่ชายคนโตของแก่ม๊ะ) ไปมีภรรยาใหม่ที่บ้านตันหยงดาหวัย เมืองชาวประมงเล็กๆ เขตเมืองไทรบุรี  ปัจจุบัน คือรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย  ครั้งที่สองแต่งงานกับนายบ่าว ไม่ทราบนามสกุล ราษฎรบ้านหัวปาบ  ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ 1.สัน (ตั้งชื่อเหมือนพ่อ) 2.หะเยาะ (เปลี่ยนชื่อเป็น “สมจิตต์”) และ 3.แก่ม๊ะ  

แต่นายบ่าวจากไปก่อนวัยอันควร ทิ้งภรรยาและลูกน้อยทั้งสามให้เผชิญโชคชะตาตามลำพัง   สองตายาย แก่สันและแก่ดวง โส๊ะสมาคม พาหลาน ๆ อพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านลำธาร์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครอง ตำบลโคกสัก อำเภอบางแก้ว  จังหวัดพัทลุง) ทิ้งความขมขื่นเอาไว้เบื้องหลัง

อาจจะด้วยสาเหตุตรอมใจจากการสูญเสียสามีทั้ง 2 ครั้ง  แก่หน๊ะอายุสั้น  ท่านจากไปหลังจากสามีเสียชีวิตได้ไม่นาน ในขณะที่ลูกทั้ง 4 คนยังเล็ก เป็นภาระของแก่ดวง หญิงมุอัลลัฟ แม่ของแก่หน๊ะ เป็นผู้เลี้ยงดูหลานๆ ทั้ง 4 คนจนเจริญเติบโต ท่านมีอายุยืนถึงเกือบ 100 ปี 

กาลเวลาผ่านไป แก่ม๊ะพบรักกับ “แก่โหด บิลหมาด” สามี (คุณตาของผม)  จนมีแม่มีน้องๆ (น้า 2 คน) จนมีผม ตั้งแต่จำความได้ ผมไม่เคยเห็นเธอกลับไปเหยียบย่างที่บ้านหัวปาบอีกเลย ไม่เคยไปร่วมงานบุญ งานเลี้ยง งานศพ หรืองานแต่งใด ๆ ไม่แม้แต่จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านหัวปาบ ให้ลูกหลานฟังทั้งสิ้น

ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตไม่นาน ผมเคยถามเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้

เธอจำได้เพียงว่า พ่อชื่อ “บ่าว” หรือมีฉายาว่า “บ่าวอุง” และจากไปเพราะถูกฆาตกรรมเมื่อเธออายุได้เพียง 4 ขวบ

แก่ม๊ะเล่าว่า “คนที่ฆ่าพ่อของแก่ม๊ะ คือ “หวาหนุด” ทะเลาะกันเรื่องที่ดิน  (หมายเหตุ: คำว่า ”หวา“ เป็นสรรพนามใช้เรียก “ลุง” หรือ “ป้า” ในภาษามลายู แต่ผมไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสอง)  หวาหนุด แทงนายบ่าวด้วยมีดกริชยาวคล้ายดาบจนถึงแก่ความตาย

ผมถามเธอต่อ “พ่อของแก่ม๊ะมีนามสกุลว่าอะไร?”

เธอหลับตาลงเหมือนพยายามนึก แต่สุดท้ายก็ส่ายหัวตอบว่า “ไม่รู้”

#ข้อเท็จจริงที่เลือนหาย

ข้อเท็จจริงที่ว่าพ่อของแก่ม๊ะเป็นใคร  ไม่ได้เป็นความลับพิสดาร หรือมหัศจรรย์พันลึกอะไร แต่มันมีอายุความ   ญาติพี่น้องคนรู้จัก นอกจากจะห่างเหินกันไปแล้ว ยังหมดอายุขัยพากันล้มหายตายจากกันไปหมดสิ้น สิ่งนี้จึงกลายเป็นปริศนาเงามืดของลูกหลาน

#การพบปะญาติและการเปิดเผยข้อมูล

1 พฤษภาคม 2566 – จุดเริ่มต้นของการไขปริศนา

วันนั้นผมได้รับข่าวการเสียชีวิตของพี่อารียา (หน๊ะ) สุวรรรส ซึ่งเป็นลูกของหวาเต๊ะ ยีหวังกอง คุณลุง (ลูกผู้พี่ของพ่อผม) ผมจึงเดินทางไปร่วมพิธีศพพี่หน๊ะที่ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา

ที่นั่น ผมได้พบกับ หวาสุไหลมาน บาวกูล ซึ่งเป็นญาติทางฝั่งย่าของผู้วายชนม์ ท่านยังเป็นพ่อตาของอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของผมคนหนึ่งที่ สภ.ตากใบ 

หลังเสร็จพิธีศพ หวาสุไหลมานฯ เชิญผมไปนั่งจิบน้ำชาที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กัน และเล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องของแม่ผม  เมื่อได้ฟังดังนั้นรู้สึกตื่นเต้นเพราะผมสืบสายตระกูลญาติพี่น้องมามากมายแล้วแต่ไม่เคยได้ยินว่ามีญาติฝั่งแม่อยู่ที่นี่

แต่เมื่อถามรายละเอียดเพิ่มเติม หวาสุไหลมานฯ กลับบอกได้แต่เพียงว่ามีพ่อชื่อ  “มูสา บาวกูล” ซึ่งเสียชีวิตไปหลายสิบปีแล้ว  ท่านไม่สามารถระบุ หรือลำดับสายตระกูลอย่างชัดเจนว่าเกี่ยวพันกับแม่ผมอย่างไร

 7 กรกฎาคม 2567 – เบาะแสที่ทำให้ขนลุก

ต่อมา ผมได้รับเชิญไปร่วมงานบุญที่บ้านเกาะหมี ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามคำเชิญของบังฮับ ญาติลูกพี่ลูกน้อง หลานโต๊ะเดด บิลหมาด พี่ชายคนโตของแก่โหด บิลหมาด คุณตาผู้ล่วงลับของผม

พี่หวันหย๊ะ ภรรยาของบังฮับเข้ามาทักทายและแนะนำตัวว่า เป็นญาติทางฝั่งแม่ของผม คำบอกเล่าของพี่หวันหย๊ะฯ ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้น

แต่เมื่อสอบถามรายละเอียด เธอเล่าให้ฟังว่ามีพ่อชื่อ  “มูสา บาวกูล” แต่ก็ไม่สามารถระบุความสัมพันธ์กับแม่ผมได้อย่างชัดเจน ผมสะดุดใจกับชื่อ “มูสา บาวกูล” เพราะเหมือนกับชื่อ พ่อของ หวาสุไหลมาน บาวกูล ที่ ต.กำแพงเพชร แต่ผมไม่ได้ถามว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า (ผมมาทราบในภายหลังว่า หวาสุไหลมาน บาวกูล กับพี่หวันหย๊ะ บินหมาด เป็นพี่น้องกัน มีพ่อคนเดียวกัน คือ “โต๊ะมูสา บาวกูล” แต่คนละแม่)

ต่อมาสักครู่  หวาราลิขอ (ป้าขอ) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพี่หวันหย๊ะ เดินเข้ามาแนะนำตัวเอง ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับแม่ผม  และได้อธิบายลำดับถึงพ่อแม่ และปู่ย่าตายายของเธอ ว่า  พ่อของเธอเป็นชาวอินโดนีเซียที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นบังคับเกณฑ์แรงงานเข้ามาเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อ “นายหวัน“ ใช้นามสกุล “บุญจ่าง” ส่วนแม่ ชื่อ “โต๊ะมิด๊ะ บาวกูล” เป็นน้องสาวของโต๊ะมูสา บาวกูล พ่อของพี่หวันหย๊ะ  ทั้งสองคนเป็นบุตรของ “โต๊ะยูหนุด บาวกูล” และได้เล่ารายละเอียดรายชื่อพี่น้องบุตรโต๊ะยูหนุด บาวกูล ให้ผมทราบทุกคน (ผมได้บันทึกข้อมูลเอาไว้เป็นแผนภูมิต้นไม้เรียบร้อยแล้ว)

ชื่อ “ยูหนุด” ทำให้ ผมสะดุดใจและขนลุกซู่  หวนคิดถึงเหตุการณ์ที่แก่ม๊ะเล่าให้ฟัง

ผมเริ่มสงสัยว่า พ่อของแก่ม๊ะอาจเกี่ยวข้องกับตระกูล “บาวกูล”

เธอยังเล่าต่อว่า เมื่อตอนที่แม่กับพ่อผมแต่งงานกัน ท่านได้มาร่วมงานที่บ้านลำธาร์ ตำบลโคกสัก ด้วย

 19 ตุลาคม 2567 – ความจริงที่เริ่มปรากฏ

ขณะที่เดินทางไปเยี่ยมบังฮับ อีกครั้ง ที่บ้านท่ามะปราง  เนื่องจากวางแผนไว้ว่าจะไปสัมภาษณ์หวาราลิขอ กับพี่หวันหย๊ะฯ อย่างละเอียดอีกครั้ง  ระหว่างทางผมแวะเยี่ยมคุณลุงของผมสองท่าน “หวาหมาน หวาหมีด ยีหวังกอง” ซึ่งเป็นลูกชายของ โต๊ะหมัด ยีหวังกอง พี่ชายปู่ บ้านอยู่ที่บริเวณสามแยกท่าชะมวง  ผมได้พบกับ “หวาเจะหวา” ภรรยาของหวาหมีด ผมเล่าให้หวาเจะหวาฟังว่าจะไปทำอะไร

เธอเล่าให้ฟังว่า พื้นเพเดิมของท่านเป็นคนบ้านหัวปาบ  ท่านเคยได้ยินตำนานเรื่องเล่าโบราณ ระหว่างสองพี่น้องบ้านหัวปาบ  “นายหนุด หรือยูหนุด เป็นพี่ชายของนายบ่าว บาวกูล” ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องเขตแดนที่ดิน จนนายหนุด หรือยูหนุด ใช้มีดแทงนายบ่าวน้องชายเสียชีวิต ญาติได้นำเอามีดนั้นขึ้นไปซุกซ่อนไว้บนยอดมะพร้าว ต่อมาต้นมะพร้าวต้นนั้นแห้งตายในภายหลัง

ผมคิดในใจว่า เหตุการณ์นี้คงเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2475 ตอนที่แก่ม๊ะยังเป็นเพียงเด็กน้อยวัย 4 ขวบ ในยุคนั้น การติดต่อสื่อสารแทบไม่มี กระบวนการยุติธรรมก็อยู่ห่างไกลเหลือเกิน สำหรับคนในชนบทอย่างบ้านหัวปาบ ความจริงจึงอาจดับสูญไปพร้อมกับความเงียบของคนในชุมชน และไม่มีใครสามารถเอ่ยถึงความเป็นธรรมได้เลย

นอกจากนี้ เธอยังเล่าว่า มีเรื่องเล่าในหมู่บ้านอีกเรื่องหนึ่ง “โต๊ะยูหนุด หรือนายหนุด คนเดียวกัน ได้มอบหมายให้บุตรชายคนเล็ก อายุเพียง 7 ขวบ ไปเลี้ยงวัวในทุ่ง ปรากฏว่าฝูงวัวไปกินข้าวในทุ่งนาของเพื่อนบ้านที่กำลังแตกยอด เกิดความเสียหาย เจ้าของที่นามาต่อว่าโต๊ะยูหนุดฯ ท่านลงโทษบุตรชายด้วยการเฆี่ยนตีข้ามวันจนเสียชีวิต”

เมื่อได้ยินเรื่องนี้ หัวใจผมเหมือนถูกบีบแน่น ความเจ็บปวดที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนแล่นขึ้นมาจุกอยู่ที่อก น้ำตาไหลเอ่อไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

 23 พฤศจิกายน 2567 – การยืนยันจากญาติที่บ้านหัวปาบ

ผมเดินทางไปบ้านหัวปาบ และได้พบกับ “พี่ฉ๊ะ” อาฉ๊ะ เบ็ญฤทธิ์ ลูกสาวของ นางหะลิม๊ะ บาวกูล ซึ่งเป็นหลานของโต๊ะหมัด บาวกูล ได้ข้อมูลญาติพี่น้องสายตระกูล “บาวกูล” มาอีกสายหนึ่ง  เธอเล่าให้ฟังถึงเรื่องเล่าโบราณของบ้านหัวปาบ ว่า

 “นายหนุด หรือ ยูหนุด แทงนายบ่าวเสียชีวิต ด้วยมีดกริชยาวคล้ายดาบ  หลังเกิดเหตุญาติได้นำมีดกริชยาวเล่มนั้น ไปซุกซ่อนไว้บนยอดต้นมะพร้าว ต่อมาต้นมะพร้าวต้นนั้นแห้งตายยืนต้น โดยไม่ทราบสาเหตุ”

ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับที่หวาเจะหวาเล่า  ทำให้ผมเริ่มมั่นใจว่า พ่อของยายมีนามสกุล “บาวกูล” และถูกโต๊ะยูหนุด หรือหนุด บาวกูล พี่ชายแท้ๆ ของตัวเองฆ่าตาย

จากเรื่องนี้ทำให้ผมฉุกใจคิดได้ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ  ถึงแม้ว่าแก่สัน โส๊ะสมาคม ได้พาครอบครัวอพยพโยกย้ายออกจากบ้านหัวปาบมานานแสนนานมากแล้ว ด้วยกาลเวลาและระยะทาง ทำให้พวกเราไม่รู้จักญาติพี่น้องที่นั่นอีกต่อไป แม้เวลาจะผ่านไป ความทรงจำของคนหัวปาบที่มีต่อครอบครัวเรายังคงถูกเล่าขาน มีคนรู้จักผม เสมือนผมเดินอยู่ท่ามกลางไฟสปอร์ตไลท์ โดยมีสายตาของญาติพี่น้องเฝ้ามองดูอยู่เงียบๆ ตลอดมา

#การสืบค้นที่ประสบความสำเร็จ

จากการสืบค้นและการพบปะญาติ ๆ ทำให้ผมสามารถคลี่คลายปมปริศนาเกี่ยวกับตัวตน นามสกุลของพ่อของแก่ม๊ะได้

แม้จะใช้เวลานานและต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ ความพยายามนี้ทำให้ผมได้รู้จักรากเหง้าของตนเองมากขึ้น และสามารถส่งต่อเรื่องราวนี้ให้กับลูกชายและคนรุ่นหลังได้

#บทสรุปแห่งการให้อภัย

ปริศนาเกี่ยวกับพ่อของแก่ม๊ะ ที่เคยเป็นเงามืดมาหลายทศวรรษ ในที่สุดก็คลี่คลายลงจนกระจ่าง  สิ่งที่ผมค้นพบ ไม่ใช่แค่ ‘#นามสกุลบาวกูล’ แต่ยังรวมถึงรากเหง้าและเรื่องราวของบรรพบุรุษที่ไม่มีใครเคยพูดถึง

เมื่อทุกอย่างกระจ่างชัด ผมกลับ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกอาฆาตแค้น

เพราะทันทีที่ผมได้รับรู้ว่า “โต๊ะยูหนุด บาวกูล” คือคนที่ลงมือปลิดชีวิตน้องชายของตัวเอง หัวใจของผมกลับไม่ได้เต็มไปด้วยความคั่งแค้นเหมือนที่เคยจินตนาการไว้

มีเพียงแต่ ความเงียบ ความเข้าใจ และความสงบในจิตใจ

โต๊ะยูหนุดอาจเป็นคนใจร้อน อาจเต็มไปด้วยโทสะ อาจถูกครอบงำด้วยอารมณ์เพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างลาลับจากโลกนี้ไป ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวและเงาของอดีต

และผมเลือกจะไม่ปล่อยให้เงานั้นเป็นเงาแห่งความโกรธแค้น

ผมให้อภัยโต๊ะยูหนุด บาวกูล ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้รับรู้ความจริง

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เขาก็คือพี่ชายของนายบ่าว คือสายเลือดเดียวกันที่เคยเติบโตมาใต้ชายคาเดียวกัน กินข้าวจากหม้อเดียวกัน

ผมไม่ได้ค้นพบแค่นามสกุล “#บาวกูล” ของแก่หยัง (ตาทวด) แต่ผมค้นพบ “หัวใจของตัวเอง”

#ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาและให้อภัยต่อทุกดวงวิญญาณที่เคยเดินอยู่บนโลกนี้

Wednesday, March 12, 2025

ชาวมลายูพุทธ: อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไป แต่วัฒนธรรมที่ยังฝังรากในคนใต้







ชาวมลายูพุทธ: อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนไป แต่วัฒนธรรมที่ยังฝังรากในคนใต้

แม้วันนี้คนใต้ไทยพุทธจะมองว่าตัวเองเป็นไทยโดยสมบูรณ์ พูดภาษาไทย นับถือพุทธศาสนา และใช้ชีวิตแบบไทยทุกประการ แต่เชื่อหรือไม่ว่า รากเหง้ามลายูยังคงอยู่ในทุกมิติของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาษา ศิลปะ อาหาร และขนบธรรมเนียมที่พวกเขาสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ร่องรอยของมลายูในภาษาไทยปักษ์ใต้

สำเนียงปักษ์ใต้มีจังหวะการพูดที่รวดเร็ว หนักแน่น และแตกต่างจากไทยกลางอย่างชัดเจน คำศัพท์หลายคำที่ใช้กันเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ล้วนมีรากจากภาษามลายู เช่น

 “เกลอ” (เพื่อน) จาก Keluluh
 “ตะเบะ” (วันทยหัตถ์) จาก Tabei
 “บูดู” (น้ำปลาหมัก) จาก Budu
 “ดะ” (อย่า) จาก Tak
 “อาจาด” (แตงกวาดอง) จาก Acar

ทำไมภาษาไทยปักษ์ใต้ถึงแตกต่างจากไทยกลาง?

เมื่อรัฐสยามขยายอำนาจลงมาสู่ภาคใต้ ลูกหลานชาวมลายูต้องเรียนรู้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง (L2) เพื่อใช้ในการปกครองและสื่อสารกับทางการไทย ด้วยพื้นฐานเสียงจากภาษามลายู ทำให้ภาษาไทยสำเนียงปักษ์ใต้มีเอกลักษณ์ เช่น
 เสียงสระถูกลดรูปและกระชับขึ้น เช่น “ไปไหน” → “ไปไน”
 จังหวะการพูดที่รวดเร็วและหนักแน่น คล้ายกับภาษามลายู
 เสียง “ร” ยังชัดเจนและกลิ้งลิ้น เช่น “โรงเรียน”, “ร้อน”, “รถไฟ” ซึ่งแตกต่างจากบางสำเนียงไทยกลาง

#สำเนียงจากทั่วโลก: #ประสบการณ์ตรงจากห้องเรียนที่อินเดีย

กระบวนการนี้ คล้ายกับสิ่งที่ผมได้สัมผัสระหว่างการอบรมฝึกอบรมภาษาอังกฤษที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในปี 2559 ผมได้พบเพื่อนร่วมชั้นเรียนจากหลายประเทศ และทุกคน พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่สะท้อนรากภาษาแม่ของตนเอง

 #เอเชียใต้: อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน และเนปาล มีจังหวะการพูดที่ได้รับอิทธิพลจากสันสกฤตและฮินดี

 #เอเชียกลาง: คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน มีสำเนียงที่สะท้อนรากของภาษาตระกูลเตอร์กิก

 #แอฟริกา: ไอวอรีโคสต์ คองโก เอธิโอเปีย แคเมอรูน ซิมบับเว เซียร่าลีโอน มีจังหวะการพูดที่สะท้อนรากของภาษาท้องถิ่น

 #ตะวันออกกลาง: เพื่อนจากโอมาน มีสำเนียงที่สะท้อนเอกลักษณ์ของภาษาอาหรับ

#แคริบเบียน: เพื่อนจากเฮติ มีสำเนียงที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาฝรั่งเศสและครีโอล (Haitian Creole) ทำให้บางเสียงออกเสียงแตกต่างจากภาษาอังกฤษมาตรฐาน โดยเฉพาะการออกเสียงตัว “h” และจังหวะการพูดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 #โอเชียเนีย: เพื่อนจากปาปัวนิวกินี มีสำเนียงที่สะท้อนรากภาษาออสโตรนีเซียนของชนเผ่าพื้นเมือง

#ยุโรปตะวันออกและบอลข่าน: รัสเซีย: ภาษาอังกฤษของเพื่อนจากรัสเซียมีจังหวะการพูดที่หนักแน่น และมักไม่มีเสียง “th” ในภาษาอังกฤษ ทำให้บางคำถูกออกเสียงใกล้เคียงกับ “z” หรือ “d” แทน  ลิทัวเนีย: เพื่อนจากลิทัวเนียพูดภาษาอังกฤษด้วยจังหวะของภาษาบอลติก ซึ่งมีเสียงสระที่หนักแน่นและจังหวะการพูดที่มั่นคง  เบลารุส: สำเนียงภาษาอังกฤษของเพื่อนจากเบลารุสได้รับอิทธิพลจากรัสเซีย มีเสียงพยัญชนะที่เด่นชัดและการออกเสียงที่เน้นหนักในพยางค์ต้นของคำ

#เอเชียตะวันออก: มองโกเลีย: เพื่อนจากมองโกเลียพูดภาษาอังกฤษด้วยจังหวะที่สะท้อนลักษณะของภาษามองโกลิก ซึ่งเป็นภาษาที่มีเสียงพยัญชนะหนักแน่นและมีการลงน้ำหนักในพยางค์ต้นของคำ สำเนียงของพวกเขามักจะมีเสียงที่แน่นและชัดเจนมากกว่าภาษาอังกฤษสำเนียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

#เอเชียตะวันออกเฉียงใต้:  เพื่อนจากเวียดนาม กัมพูชา (รุ่นผมไม่มีพม่า) มีสำเนียงที่สะท้อนรากภาษาออสโตรเอเชียติก  ลาว: ภาษาอังกฤษของเพื่อนจากลาวได้รับอิทธิพลจากภาษาลาว ซึ่งมีโครงสร้างเสียงคล้ายกับภาษาไทย มีโทนเสียงสูงต่ำที่ชัดเจน และบางครั้งออกเสียง “r” เป็น “l”

แม้แต่ผมเอง ก็พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงไทยโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับที่สำเนียงไทยปักษ์ใต้เกิดขึ้นจากการที่ลูกหลานมลายูต้องเรียนรู้ภาษาไทย แล้วพูดออกมาด้วยจังหวะและเสียงของตนเอง

#ย้อนกลับมาดูที่รากเหง้าของตัวเอง

ศิลปะ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมที่เราสืบทอดมาไม่ใช่สิ่งที่เราได้รับจากมลายู แต่มันเป็นของเราเองมาตั้งแต่ต้น

 หนังตะลุง มีรากเดียวกับ “วายัง กูลิต” ของมลายู แต่เราไม่ได้รับมาในภายหลัง เพราะมันเป็นของเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษ
 มโนราห์ เดิมเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับจิตวิญญาณของชาวมลายู และแม้ว่าวันนี้มันถูกมองว่าเป็นศิลปะของไทยพุทธ แต่มัน ฝังอยู่ในรากของเรา

อาหารใต้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น  ข้าวยำกับบูดู ที่เรากินมาตั้งแต่เด็ก  แกงกะทิและเครื่องเทศ ที่เป็นรสชาติของบ้านเรา

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เรารับมา ไม่ใช่สิ่งที่เราหยิบยืมมาจากใคร แต่มันเป็นสิ่งที่เรา “เป็น”

แม้ว่าวันนี้คนใต้ไทยพุทธจะมองว่าตัวเองเป็นไทยโดยสมบูรณ์ แต่แท้จริงแล้ว ความเป็นมลายูไม่เคยหายไปจากสายเลือด

เราไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้มาจากมลายู แต่ “เรา” คือมลายูมาตั้งแต่ต้น เราคือผู้สืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้มาโดยสายเลือด เราเติบโตมากับมันโดยไม่เคยรู้สึกว่าเป็นของแปลกแยก  นี่คือร่องรอยของความเป็นมลายูที่ยังคงอยู่ในคนใต้ โดยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อน

#ลูกหลานปู่ย่าตายายมรดกจากอาณาจักรศรีวิชัย

Friday, March 7, 2025

“รำลึกถึงครูจูหลิง ปงกันมูล”

 “รำลึกถึงครูจูหลิง ปงกันมูล”





วันนี้ผมมีโอกาสเดินทางมายังสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นอนุสรณ์ของเหตุการณ์สำคัญในอดีต “มัสยิดบ้านกูจิงลือปะ และ อาคารเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกูจิงลือปะ” พร้อมทั้งได้ร่วมละหมาดวันศุกร์กับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ครูจูหลิง ปงกันมูล เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และวันนี้ ผมได้เห็นกับตาตัวเองว่าชาวบ้านที่นี่ต่างรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ในอดีต พวกเขาล้วนเป็นคนดี มีน้ำใจ และใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุข

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ได้สะท้อนตัวตนของชุมชนทั้งหมด แต่เป็นการกระทำของคนเพียงกลุ่มน้อย… กลุ่มที่มีอาวุธและอิทธิพลในหมู่บ้าน ณ เวลานั้น ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว

วันนี้แม้เวลาจะผ่านไป 14 ปี แต่เรื่องราวของครูจูหลิงยังคงอยู่ในใจของพวกเราทุกคน ขอรำลึกถึงเธอ ผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษา และขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกคนที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่

“ขอให้เรื่องราวในอดีตเป็นบทเรียน และขอให้สังคมเราเดินไปข้างหน้าด้วยสันติและความเข้าใจ”

#ครูจูหลิงปงกันมูล #รำลึกถึงครูผู้เสียสละ #สามจังหวัดชายแดนใต้ #ความดีไม่มีวันตาย #สันติภาพและความเข้าใจ

จากมลายูพุทธสู่ไทยพุทธ และมลายูมุสลิมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

จากมลายูพุทธสู่ไทยพุทธ และมลายูมุสลิมที่เปลี่ยนแปลงไป

คนไทยพุทธในภาคใต้แทบทั้งหมดในปัจจุบันมีบรรพบุรุษเป็นชาวมลายูพุทธมาก่อน ย้อนกลับไปเมื่อกว่าพันปีที่แล้ว ดินแดนภาคใต้เคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกมลายู ซึ่งเคยถูกปกครองโดยอาณาจักรสำคัญสองแห่ง ได้แก่ อาณาจักรศรีวิชัย และ อาณาจักรตามพรลิงก์

ศรีวิชัย เป็นอาณาจักรมลายูพุทธที่รุ่งเรืองในช่วง ศตวรรษที่ 7-13 ค.ศ. (พ.ศ. 1143-1843) โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่บริเวณเกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู อาณาจักรแห่งนี้มีอิทธิพลครอบคลุมดินแดนที่เป็นภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ภาษามลายูเป็นภาษาหลักของอาณาจักรนี้ ซึ่งถูกใช้ในการติดต่อค้าขาย ศาสนา และการปกครอง

หลังจากที่อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลง อาณาจักรตามพรลิงก์ ก็เข้ามามีบทบาทแทน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช ตามพรลิงก์ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมมลายูพุทธไว้ก่อนที่อิทธิพลของอาณาจักรไทยจากภาคกลางจะแผ่ขยายลงมาในช่วง ศตวรรษที่ 14-15 ค.ศ. (พ.ศ. 1843-2043)

เมื่อรัฐไทยเข้ามาปกครอง กระบวนการกลืนกลายของมลายูพุทธสู่ไทยพุทธเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากศาสนาพุทธเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง ในที่สุดชาวมลายูพุทธก็ผนวกรวมเป็นไทยพุทธโดยสมบูรณ์ อัตลักษณ์ดั้งเดิมค่อยๆ เลือนหายไปจนแทบไม่มีใครระลึกได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาคือมลายู

ในขณะที่มลายูพุทธสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ มลายูมุสลิมยังคงสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ได้เนื่องจากศาสนาอิสลามเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากไทยพุทธ อย่างไรก็ตาม มลายูมุสลิมในหลายจังหวัดที่อยู่นอกสามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ และสตูล ค่อยๆ สูญเสียภาษามลายูไป คนรุ่นใหม่พูดภาษาไทยเป็นหลักและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น

ภาพลักษณ์ของคนใต้ กับร่องรอยทางพันธุกรรมจากอดีต

รูปร่างหน้าตาของคนใต้ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการผสมผสานทางชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน คนใต้จำนวนมากมีลักษณะ ผิวสองสี ตาคม จมูกโด่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในกลุ่มประชากรมลายูและชาติพันธุ์อื่นๆ ในคาบสมุทรมลายู

แม้ว่าผลการศึกษาดีเอ็นเอจะพบว่าคนไทยในปัจจุบันมีร่องรอยทางพันธุกรรมของกลุ่มชาวไท-กระไดและชาวมอญอยู่บ้าง แต่โครงสร้างทางกายภาพของคนใต้ก็แตกต่างจากคนไทยในภาคเหนือและภาคอีสานอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของชาวมลายู ชาวอินเดียตอนใต้ และชนกลุ่มอื่นๆ ที่เคยมีบทบาทในภูมิภาคนี้

ชาติพันธุ์ไม่มีความบริสุทธิ์ ไทยและมลายูต่างก็เป็นลูกผสมทางประวัติศาสตร์

หากมองให้ลึกลงไป ประวัติศาสตร์ของทั้งไทยและมลายูต่างก็เต็มไปด้วยการผสมผสานของผู้คนและวัฒนธรรม ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยกล่าวไว้ว่า “คนไทยมาจากคนไม่ไทยหลายชาติพันธุ์” เช่นเดียวกับ อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า “คนไทยมาจากชาวสยาม ซึ่งเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์”

ในลักษณะเดียวกัน ไม่มีมลายูแท้ในปัจจุบัน เพราะชาวมลายูก็เป็นลูกผสมของกลุ่มชนต่างๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตลอดหลายพันปี

ดังนั้น ไม่ว่าภูมิหลังของเราจะเป็นไทยหรือมลายู แท้จริงแล้วเราทุกคนล้วนเป็นผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์แห่งการผสมผสาน ไม่มีชาติพันธุ์ใดที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ เพราะทุกสังคมล้วนเกิดจากการหลอมรวมของผู้คนที่เดินทางและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

คนไทยพุทธในภาคใต้ทุกวันนี้อาจไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับมลายูอีกแล้ว แต่ในแง่ของเชื้อสาย บรรพบุรุษของพวกเขาก็คือชาวมลายูที่ครั้งหนึ่งเคยนับถือศาสนาพุทธมาก่อน เช่นเดียวกับที่ชาวมลายูในปัจจุบันเองก็สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่มาจากหลากหลายแหล่งเช่นกัน


RevolverMap