Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Friday, February 28, 2025

ลูกหลานชาวมลายูโบราณในภาคใต้ของไทย: พวกเขาหายไปไหน?

 


ลูกหลานชาวมลายูโบราณในภาคใต้ของไทย: พวกเขาหายไปไหน?

ภาคใต้ของไทยในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมลายูโบราณ เช่น ศรีวิชัย ลังกาสุกะ และตามพรลิงค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ศาสนา และการค้าของชาวมลายู ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่เข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 13-15 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ชาวมลายูที่ยังคงพูดภาษามลายูได้ในไทยเหลืออยู่เพียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของสงขลา

คำถามสำคัญคือ แล้วประชากรมลายูในจังหวัดอื่นๆ หายไปไหน? ทำไมหลายคนที่มีเชื้อสายมลายูกลับไม่มีอัตลักษณ์มลายูหลงเหลืออยู่เลย? 

มาครับผมจะเล่าให้ฟัง

1. การผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมไทย

ในอดีต ภาคใต้ของไทยเต็มไปด้วยประชากรที่เป็นชาวมลายูพุทธและมุสลิม ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประชากรมลายูจำนวนมาก ถูกหลอมรวมเข้าสู่สังคมไทยโดยสมบูรณ์

 - ชาวมลายูพุทธ: อาณาจักรมลายูโบราณ เช่น ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) เคยมีศาสนาพุทธมหายานเป็นศาสนาหลัก ก่อนที่พุทธเถรวาทจากสยามจะเข้ามา เมื่อรัฐไทยขยายอำนาจลงใต้ กลุ่มมลายูพุทธ ค่อยๆ ผสมกลมกลืนกับประชากรไทยพุทธที่เข้ามาภายหลัง พวกเขาเริ่มใช้ภาษาไทย เปลี่ยนไปใช้ชื่อไทย และแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ทำให้อัตลักษณ์มลายูเลือนหายไป

 - ชาวมลายูมุสลิมนอกสามจังหวัดชายแดนใต้: ชาวมุสลิมในจังหวัดอื่นๆ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ตรัง และกระบี่ แม้ว่ายังคงถือศาสนาอิสลาม แต่ ส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษามลายูได้อีกแล้ว พวกเขาค่อยๆ เปลี่ยนไปใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ทำให้สูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นมลายูไป

2. การกวาดต้อนและอพยพโยกย้ายจากสงคราม

ในอดีต การทำสงครามไม่ได้มีเป้าหมายแค่การยึดดินแดน แต่ยังรวมถึง การกวาดต้อนประชากรเพื่อนำไปเพิ่มพลเมืองขยายอาณาจักร

 - ช่วงอยุธยา - รัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยทำสงครามกับหัวเมืองมลายูหลายครั้ง เช่น ปัตตานี เคดะห์ และตรังกานู  ชาวมลายูจำนวนมากถูกกวาดต้อนเข้ามาในสยาม และถูกกระจายไปยัง กรุงเทพฯ ธนบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา  (คุณพ่อของย่าผมเป็นลูกหลานเชลยศึกชาวกลันตัน) เมื่อพวกเขาถูกย้ายเข้ามาในพื้นที่ที่คนไทยพุทธเป็นประชากรหลัก พวกเขาค่อยๆ กลายเป็นคนไทยพุทธโดยสมบูรณ์  บางส่วนอพยพหนีออกจากไทย  หลังสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบ ประชากรมลายูจำนวนมากอพยพไปอยู่ในรัฐมลายู เช่น กลันตันและตรังกานู  ทำให้จำนวนประชากรมลายูในภาคใต้ของไทยลดลง (ในปัจจุบัน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย) ราชวงศ์สุลต่านรัฐกลันตัน ถือว่าเป็นญาติใกล้ชิดกับเครือญาติอดีตราชวงศ์รัฐปัตตานี) 

3. นโยบายผสมกลมกลืนของรัฐไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูประบบปกครองแบบรวมศูนย์ ทำให้หัวเมืองมลายูถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และอัตลักษณ์มลายูค่อยๆ เลือนหายไป  การบังคับใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ:  ระบบโรงเรียนไทยแทนที่โรงเรียนที่ใช้ภาษามลายู ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องเรียนภาษาไทย  โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามถูกควบคุมโดยรัฐ ทำให้การเรียนภาษามลายูลดลง  การเปลี่ยนชื่อเมืองและชื่อบุคคล:  หลายเมืองที่เคยมีชื่อเป็นภาษามลายูถูกเปลี่ยนเป็นชื่อไทย เช่น “ปะลิส” กลายเป็น “สตูล”  ชาวมลายูเริ่มใช้ชื่อไทยและนามสกุลไทย ทำให้แยกไม่ออกจากคนไทยทั่วไป

4. ร่องรอยของมลายูที่ยังคงเหลืออยู่

แม้ว่าภาษามลายูจะเลือนหายไปจากหลายพื้นที่ แต่บางขนบธรรมเนียมและคำศัพท์จากภาษามลายูยังคงอยู่ในวัฒนธรรมภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะใน สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี

สถานที่ที่ยังมีร่องรอยของภาษามลายูในชื่อเมืองหรือหมู่บ้าน:

 “บาราโหม” (สงขลา) – มาจาก baruh ในภาษามลายู แปลว่า “ที่ลุ่ม”

 “เกาะตะลุเตา” (สตูล) – มาจาก telu laut แปลว่า “สามทะเล”

 “กะเปอร์” (ระนอง) – คล้ายกับ kapur แปลว่า “ปูนขาว”

 “ละงู” (สตูล) – มาจาก langkawi หรือ lagu ซึ่งหมายถึง “นกอินทรี”

คำศัพท์จากภาษามลายูที่ยังคงใช้ในภาษาถิ่นใต้:

 “โตฮัน” – หมายถึง พระเจ้า หรือ อัลลอฮฺ

 “บุหลัน” – หมายถึง ดวงจันทร์ (bulan)

 “ละมัย” – หมายถึง อ่อนเยาว์ สาวรุ่น (lemah แปลว่าอ่อนโยน)

 “เกลอ” – หมายถึง เพื่อนสนิท (kawan ในมลายู)

สรุป

ลูกหลานของชาวมลายูโบราณ ไม่ได้หายไปไหน แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่าน การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม การโยกย้ายถิ่นฐานจากสงคราม และนโยบายของรัฐไทย

 - ชาวมลายูพุทธส่วนใหญ่กลายเป็นไทยพุทธโดยสมบูรณ์

 - ชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรักษาอัตลักษณ์มลายูได้

 - ชาวมุสลิมนอกพื้นที่ดังกล่าว แม้จะยังเป็นมุสลิม แต่ก็สูญเสียอัตลักษณ์มลายูไป

 - บางขนบธรรมเนียม และคำศัพท์จากมลายูยังคงหลงเหลือในภาคใต้ของไทยจนถึงปัจจุบัน

และสุดท้าย… ถ้าเพื่อน พี่ น้อง ที่กำลังอ่านบทความอยู่นี้ เป็นคนใต้ หน้าคม ผิวสองสี แล้วสงสัยว่าทำไมหน้าตาไม่เหมือนคนไทยไท-กระได แบบคนภาคเหนือสุโขทัย คนภาคกลาง หรืออีสาน เลย… คำตอบก็คือ ท่านอาจเป็นลูกหลานชาวมลายูโบราณอย่างแน่นอน!

ประชากรชาวมลายูในอาณาจักรโบราณยังคงอยู่หรือไม่ หรือหายไปไหนกันหมด

 


ตามข้อมูลในประวัติศาสตร์ พื้นที่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นอาณาจักรของคนมลายู เมื่อครั้งที่ยังนับถือศาสนาฮินดู-พุทธมหายาน เช่นเดียวกันกับอาณาจักรลังกาสุกะ ตามพรลิงค์ หรืออาณาจักรมลายูอื่นๆ

ในปัจจุบันประชากรในภาคใต้ของไทยนอกจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4อำเภอของจังหวัดสงขลาแล้ว จังหวัดอื่นแทบจะไม่เหลือคนที่พูดภาษามลายูได้อีกต่อไป

สงสัยไหมครับว่า ลูกหลานคนมลายูจากอาณาจักรมลายูโบราณเดิมหายไปไหนกันหมด พวกเขาถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือถูกขับไล่จนพ้นออกไปจากแผ่นดิน หรืออพยพถอยร่นออกไป  หรือถูกกวาดก้อน เทครัวมา เอาผู้คนไปไว้ ในภูมิภาคต่างๆ ในกรุงเทพหรือปริมณฑล หรือผสมกลมกลืนเข้ากับคนไทยหรืออย่างไร 

หรือ อย่างผมเป็นคนมลายู โดยเชื้อสาย แต่อัตลักษณ์ภายนอกเป็นคนไทยไปแล้วเพราะได้รับการศึกษาการกล่อมเกลามาตั้งแต่เด็ก

ผมจะทยอยเล่าให้ฟังครับ InshaAllah أَن يَشَاءَ اللَّهُ

Tuesday, February 25, 2025

ชนชาติมลายู “นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่”

 ชนชาติมลายู “นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่”



หลายครั้งที่ผมมีได้ไปเยี่ยมเยียนพบปะพี่น้องประชาชนตามหมู่บ้านหรือตามมัสยิดต่างๆ เมื่อมีโอกาสมักจะเล่าให้พี่น้องฟังอยู่เสมอว่า ผมภูมิใจที่เป็นลูกหลานชาวมลายู แม้กาลเวลาและระยะทางจะทำให้ผม และญาติพี่น้องที่ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ในปัจจุบัน ไม่สามารถพูดมลายูได้อีกต่อไปแล้ว แต่เมื่อสืบค้นบรรพบุรุษย้อนหลังกลับไป พบว่า ปู่ย่าตายาย ที่แม้บางสายอาจจะเป็นคนจีน (อำแดงสร้อย ณ สงขลา, แก่ดวง ณ ไพรี) คนสยาม หรือแม้แต่เปอร์เซียบ้าง (ณ พัทลุง) แต่บรรพบุรุษส่วนใหญ่ของผมมาจาก 4 รัฐมาลัยในอดีต  ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย คือ “ปะลิศ (แก่หรอ บิลยีหลี) กลันตัน (แก่แอ ดลระหมาน) ตรังกานู (หะยีอุมาร์ บินหะยีวันอะหมัด (โต๊ะชายนาย)) และไทรบุรี (บิลหมาด-เพ็ญอำมาศ)

หลายคนคงจะสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร???

เหตุผลที่ชาวมลายูเป็นนักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่:

-ชนชาติมลายู มีต้นกำเนิดจากหมู่เกาะและชายฝั่งทะเล

-ชาวมลายูตั้งถิ่นฐานบริเวณคาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ

-ชาวมลายูในยุคบรรพกาล ใช้เรือแบบดั้งเดิม (Perahu และ Jong) – สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกได้ 

-เป็นผู้ควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญ – อาณาจักรศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 7-13) ควบคุมช่องแคบมะละกา ทำให้ชาวมลายูเป็นผู้เชื่อมโยงการค้าระหว่างจีน อินเดีย และโลกอาหรับ 

-อีกทั้งได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับและอินเดีย – พัฒนาเทคนิคการเดินเรือและการค้า

ตัวอย่างความสามารถของชาวมลายูในประวัติศาสตร์:

-อาณาจักรศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 7-13) – เป็นศูนย์กลางการเดินเรือและพุทธมหายาน

-อาณาจักรมะละกา (ศตวรรษที่ 15-16) – เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลและการเผยแพร่อิสลาม

-ชาวมลายูในมาดากัสการ์ – เป็นหลักฐานว่าชาวมลายูสามารถเดินเรือข้ามมหาสมุทรไปตั้งถิ่นฐานในแอฟริกาได้

ด้วยเหตุนี้ ชาวมลายูจึงได้รับฉายาว่าเป็น “นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่” เพราะเป็นผู้ควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญที่สุดของเอเชีย และสามารถเดินเรือไปยังดินแดนไกลโพ้นได้

Monday, February 24, 2025

กระชับสัมพันธ์ ไทย-มาเลเซีย 🇹🇭🇲🇾

 🤝 กระชับสัมพันธ์ ไทย-มาเลเซีย 🇹🇭🇲🇾






📅 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น.

นายซันตารา นูซันตารา นายกเทศมนตรีเมืองตากใบ พร้อมด้วย

 พ.ต.อ.ศุภชัช ณ พัทลุง ผกก.สภ.ตากใบ และ นายอาเฟนดี บินปูเต๊ะ สมาชิกสภา อบจ.นราธิวาส (อ.ตากใบ เขต 1) พร้อมด้วยบุคลากรเทศบาลเมืองตากใบ ร่วมให้การต้อนรับ Mr. Mohamed Yusoff Khan Bin Mohd Hassan ผู้อำนวยการกองตรวจคนเข้าเมืองรัฐกลันตัน และ Mr. Suhaizan Bin Abdullah หัวหน้าตรวจคนเข้าเมือง Pengkalan Kubor, Kelantan ประเทศมาเลเซีย

การเยือนครั้งนี้จัดขึ้น ณ เทศบาลเมืองตากใบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมืองชายแดน ไทย-มาเลเซีย บรรยากาศเต็มไปด้วยมิตรไมตรี พร้อมการหารือข้อราชการเพื่อกระชับความร่วมมือด้านตรวจคนเข้าเมืองและความมั่นคงชายแดน

อนึ่ง กรมตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซีย (Jabatan Imigresen Malaysia) เป็นหน่วยงานพลเรือนที่รับผิดชอบด้านการตรวจคนเข้าเมืองและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีโครงสร้างการบริหารงานแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าสูงสุดของกรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียมีตำแหน่งเป็น “อธิบดี” (Director-General) ปัจจุบันคือ ดาโต๊ะ รุสลิน บิน ยูโซะ (Dato’ Ruslin Bin Jusoh)  

สำหรับการดำเนินงานในระดับรัฐและเขตแดน กรมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียมีสำนักงานสาขาในแต่ละรัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและควบคุมการเข้าออกของบุคคลตามจุดผ่านแดนต่าง ๆ ซึ่งโครงสร้างการบริหารงานนี้แตกต่างจากประเทศไทยที่การตรวจคนเข้าเมืองอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

#ตากใบ #ไทยมาเลเซีย #กระชับสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

Monday, February 17, 2025

แผ่นดินงอก: เรื่องราวจากลังกาสุกะสู่ปัตตานีและปัญหาในปัจจุบัน

 




แผ่นดินงอก: เรื่องราวจากลังกาสุกะสู่ปัตตานีและปัญหาในปัจจุบัน

แผ่นดินไม่ได้หยุดนิ่ง  เหมือนกับที่ชีวิตคนเราก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มันมีพลวัต บางครั้งมันหายไปใต้คลื่น บางครั้งมันก็งอกขึ้นมาจากทะเล และทุกครั้งที่แผ่นดินเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนชะตากรรม และชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนนั้น

วันนี้ผมจะเล่าถึงเรื่องราวของ “อาณาจักรลังกาสุกะ” เมืองท่าของชาวมลายูโบราณ เมื่อครั้งที่ยังนับถือศาสนาพุทธ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ก่อนจะจมหายไปเพราะแผ่นดินงอก จนกระทั่ง “ปัตตานี” ก้าวขึ้นมาแทนที่ และเรื่องของแผ่นดินงอกใน ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่ผมเคยรับราชการอยู่ที่นั่นถึง 4 ปี เคยเป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น

ลังกาสุกะ: เมืองท่าที่ถูกคลื่นแห่งกาลเวลากลืนหาย

ย้อนกลับไปกว่า พันปีที่แล้ว ลังกาสุกะเคยเป็นเมืองท่าสำคัญ ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นจุดเชื่อมการค้าระหว่าง อินเดีย จีน และอาหรับ มีสินค้าหรูหราเดินทางผ่านที่นี่ ทั้งเครื่องเทศ ไม้หอม และทองคำ

แต่ความรุ่งเรืองนั้น ไม่จีรัง แผ่นดินที่เคยติดทะเลกลับถูก ตะกอนจากแม่น้ำและทะเลพัดพามาทับถม จนชายฝั่งทะเลถอยร่นออกไปเรื่อย ๆ เรือสินค้าที่เคยมาจอดที่นี่เริ่ม มุ่งหน้าไปยังท่าเรือแห่งใหม่ ที่สะดวกกว่า เช่น มะละกา และปัตตานี ลังกาสุกะที่เคยคึกคักจึงถูกทิ้งร้างในที่สุด

แผ่นดินงอกในเทพา: ปัญหาของวันนี้ที่สะท้อนอดีต

#ข้ามกาลเวลามาหารักแท้ เอ๊ย!!!!  มาสู่ ศตวรรษที่ 21 เรื่องราวของแผ่นดินงอกยังไม่จบ เมื่อ พื้นที่ใหม่กว่า 300 ไร่ งอกขึ้นมาจากทะเลใน ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แต่แทนที่จะเป็นโอกาส กลับกลายเป็นปัญหา เมื่อประชาชนบางส่วนเข้าไปครอบครองพื้นที่นี้

ที่มาของแผ่นดินงอก

 • เกิดขึ้นจากตะกอนสะสมหลังการสร้างเขื่อนกันคลื่น บริเวณปากคลองสะกอมในปี พ.ศ. 2535 (พิกัดอยู่ในภาพถ่ายทางอากาศ)

 • แผ่นดินงอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 25-30 เมตร โดยกัดเซาะจากพื้นที่อื่นใกล้เคียงซึ่งถูกคลื่นกัดเซาะหายไป

 • จนปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่กว่า 300 ไร่

ปัญหาที่เกิดขึ้น

 • ประชาชนบางส่วนเข้าไปครอบครองทำให้เกิดข้อพิพาท ระหว่างประชาชนต่อประชาชนและระหว่างประชาชนต่อหน่วยงานราชการ

 • หน่วยงานรัฐรับรู้มาตั้งแต่ปี 2556 แต่เพิ่งเริ่มกระบวนการรังวัดที่ดิน

 • ชาวบ้านที่ไม่ได้บุกรุกต้องการให้ที่ดินเป็นสมบัติสาธารณะ เพื่อจัดสรรให้กับรัฐและผู้ยากไร้

ในครั้งนั้น เมื่อ 16 กรกฎาคม 2561 นายสว่าง กองอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 6 (สงขลา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ในขณะนั้น)

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดพญาเสือ และเจ้าที่หน้าที่ฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งทหาร ฝ่ายปกครองที่ไม่ได้เอ่ยนาม ได้เข้าร่วมปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่แผ่นดินงอก 300 ไร่นั้น

อดีตและปัจจุบัน: แผ่นดินเปลี่ยน คนต้องปรับตัว

เรื่องของ ลังกาสุกะ และแผ่นดินงอกในเทพา เป็นตัวอย่างของ อำนาจของธรรมชาติ ที่ไม่มีใครควบคุมได้

 • ลังกาสุกะ สูญเสียเมืองท่าเพราะชายฝั่งหดหาย

 • เทพา เกิดพื้นที่ใหม่แต่กลายเป็นปัญหาการบุกรุก

สิ่งที่เหมือนกันคือ มนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน หากเราจัดการไม่ดี เราจะกลายเป็นแค่ผู้เฝ้าดูอดีตที่สูญหายไป เช่นเดียวกับลังกาสุกะที่เหลือเพียงซากเมืองโบราณ

บทสรุป: บทเรียนจากอดีตสู่ปัจจุบัน

แผ่นดินงอก ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเปลี่ยนโชคชะตาของลังกาสุกะ และวันนี้มันกำลังเปลี่ยนโชคชะตาของเทพา

หากเราวางแผนให้ดี แผ่นดินงอก อาจกลายเป็นโอกาส ให้รัฐและประชาชนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ มันอาจกลายเป็นอีกหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่สูญหาย เหมือนลังกาสุกะที่เคยรุ่งเรืองแต่ล่มสลายไปตามกาลเวลา



Saturday, February 15, 2025

Garden of Five Senses: สวนแห่งความรู้สึกและความรัก

 Garden of Five Senses: สวนแห่งความรู้สึกและความรัก







ควันหลงจากวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก


เมื่อระหว่าง 6 มกราคม - 16 เมษายน 2559 เมื่อครั้งที่ผมยังรับราชการอยู่ที่ สภ.บูเก๊ะตา จว.นราธิวาส ผมมีโอกาสได้เดินทางไปฝึกอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ Certificate of proficiency in English and IT skills Course ตามโครงการ ITEC/SCAAP Programme/TCS of Colombo Plan/ICCR/Hindi Scholarship ณ กรุงนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย เป็นระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง ระหว่างฝึกอบรมมีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ และดินแดนต่างๆ ภายในประเทศ


วันนี้เพิ่งผ่านพ้นวันแห่งความรักมาได้หนึ่งวัน ผมหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนี้ในอดีต “วันแห่งความรัก” 14 กุมภาพันธ์ 2559 


ในวันนั้น ผมกับเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ ร่วมชั้นเรียน มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม Garden of Five Senses: สวนแห่งความรู้สึกและความรัก


เพียงแค่ได้ยินชื่อ Garden of Five Senses ก็คงพอจะเดาได้ว่าสวนแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นสัมผัสทั้งห้า ดึงดูดให้ผู้มาเยือนได้ดื่มด่ำไปกับความงามของธรรมชาติ ความหอมของมวลดอกไม้ เสียงกระซิบของสายลม และบรรยากาศที่อบอุ่นและรื่นรมย์


สวนแห่งนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 80,000 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวเดลี Pradeep Sachdeva และพัฒนาโดยการท่องเที่ยวเมืองเดลี ด้วยงบประมาณมหาศาลกว่า 105 ล้านรูปี ใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2546 สถานที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม แต่ยังเป็นงานศิลปะที่ผสมผสานความงดงามของธรรมชาติและงานออกแบบไว้อย่างลงตัว


สวนถูกแบ่งออกเป็นหลายโซน ตั้งแต่สวนสไตล์โมกุล สวนน้ำ สวนสมุนไพร ไปจนถึงสวนพลังงานแสงอาทิตย์ ทุกมุมล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับอารมณ์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสงบ ความสดชื่น หรือความรู้สึกตื่นเต้นจากความงามรอบตัว


ค่าธรรมเนียมเข้าชมเพียง 30 รูปี ถือว่าคุ้มค่ากับการเดินเล่นท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม ทว่าระหว่างที่เราเยี่ยมชม สวนแห่งนี้กลับขาดน้ำ บ่อน้ำและสระน้ำต่างๆ แห้งเหือด ทำให้ต้นไม้และแปลงดอกไม้บางส่วนเหี่ยวเฉา ความงดงามที่ควรจะมีจึงลดลงไปบ้าง แต่ถึงกระนั้น สวนสาธารณะแห่งนี้ ก็ยังเต็มไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลังและบรรยากาศที่ชวนให้หลงใหล


สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจที่สุดคือ ขณะที่เดินไปในสวนวันนั้น เกือบลืมไปแล้วว่า วันนี้คือ 14 กุมภาพันธ์—วันวาเลนไทน์! วันแห่งความรัก  กลิ่นไอความรักอบอวลไปทั่วสวน เมื่อเดินเข้าไปลึกขึ้น ภาพที่ปรากฏต่อสายตาคือคู่รักนับไม่ถ้วนที่นั่งใกล้ชิด กอดกันกระหนุงกระหนิง บ้างก็นั่งจับมือกันใต้ต้นไม้ บ้างก็กระซิบถ้อยคำหวานๆ ให้กันและกัน บรรยากาศรอบตัวเต็มไปด้วยความรักและความโรแมนติก


แต่สิ่งที่ทำให้ผมทั้งขำและเขินไปพร้อมกันก็คือ คู่รักบางคู่ดูจะลืมไปว่านี่คือสวนสาธารณะ ไม่ใช่ห้องส่วนตัว หลายคนหลบมุมกันในพุ่มไม้ นั่งซบกันแนบแน่นจนแทบจะหลอมรวมเป็นร่างเดียว ไม่ใช่แค่คู่สองคู่ แต่มีเป็นร้อย! และดูเหมือนว่าแต่ละคู่ก็ไม่ได้สนใจว่ามีคนอื่นเดินผ่านไปผ่านมา มีเพียงผมและเพื่อนๆ เท่านั้นที่เดินไปก็เขินไป


มีบางครั้งที่เราเดินไปเจอมุมที่ไม่ควรเข้าไป แล้วต้องรีบถอยหลังกลับออกมาแทบไม่ทัน ขณะที่ผมมองดูภาพตรงหน้าก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเขาไม่ไปเปิดโรงแรมให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไปเลยนะ?


แม้ว่าธรรมชาติของสวนจะดูแห้งแล้งไปบ้างในวันนี้ แต่ความรักของผู้คนที่มาเยือนกลับเบ่งบานอย่างเต็มที่ Garden of Five Senses จึงไม่ใช่แค่สถานที่ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ยังเป็นสวนแห่งความรู้สึก ที่ทำให้เราได้เห็นความรักในทุกรูปแบบ—ความหวาน ความลึกซึ้ง และบางครั้งก็ความขำขัน ที่ทำให้วันนี้กลายเป็นวันที่น่าจดจำอีกวันหนึ่ง

Monday, February 3, 2025

 เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 3-4 เมื่อถึงฤดูกาลการถือศีลอด ในเดือนรอมฎอน มีนายตำรวจปกครองท่านหนึ่ง ท่านมีความเมตตากรุณากับนักเรียนนายร้อยตำรวจมุสลิมอย่างยิ่ง (พื้นฐานท่านก่อนย้ายเข้าไปรับราชการในโรงเรียนนายร้อยตำรวจท่านเคยรับราชการในพื้นที่จังหวัดยะลา มาก่อน) ท่านถามผมว่า “เข้าเดือนรอมฎอนแล้ว เอ็งปอซอหรือเปล่า” ผมฟังแล้วรู้สึกงงเพราะไม่รู้จักคำว่า “ปอซอ”  ในเวลาต่อมา จึงเข้าใจว่าท่านหมายถึง “การถือศีลอด”


คำว่า “ปอซอ” (ภาษามลายูท้องถิ่น) หรือ “ปูวาซา” (Puasa) (ภาษามลายูกลาง ) หมายถึง การถือศีลอดในศาสนาอิสลาม คำดังกล่าว มีรากศัพท์มาจาก ภาษาสันสกฤต และได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียก่อนที่จะกลายเป็นคำในภาษามลายู


ที่มาของคำว่า “ปูวาซา”

 • คำว่า “Puasa” ในภาษามลายูและอินโดนีเซีย หมายถึง การอดอาหารหรือการถือศีลอด

 • คำนี้มาจาก ภาษาสันสกฤต “Upavāsa” (उपवास) ซึ่งหมายถึง “การอยู่ใกล้ (upā) และการอุทิศตน (vāsa)” โดยใช้ในบริบทของการบำเพ็ญตบะหรือถือศีลอดทางศาสนา


 • ในอดีต ศาสนาพุทธและฮินดูมีแนวปฏิบัติการถือศีลอดแบบ “อุปวาสะ” เช่นกัน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อคำนี้ในหมู่ชาวมลายูก่อนการมาถึงของอิสลาม


การเปลี่ยนแปลงทางความหมายในโลกมลายู

 • หลังจากศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่คาบสมุทรมลายู คำว่า “Puasa” ถูกใช้แทนคำในภาษาอาหรับ “Ṣawm” (صَوْمٌ) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์อัลกุรอาน หมายถึง การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

 • ปัจจุบัน คำว่า “Puasa” เป็นคำมาตรฐานในภาษามลายูและอินโดนีเซียที่หมายถึง การถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน


#หมายเหตุ : #ภาพเก่าเมื่อปีที่แล้ว

ปัจจุบันท่าน พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4


RevolverMap