Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Wednesday, May 12, 2010

“การก่อการร้าย” ต่างจาก “การก่อความไม่สงบ” อย่างไร...?

image

หลาย ๆ คน ติดตามอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ยังงง ๆ อยู่ว่า  คำทั้งสองคำมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร…?

สุรชาติ บำรุงสุข ได้อธิบายว่า การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมักใช้วิธีการความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป มีการจัดตั้งองค์กร ประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธ อาวุธ ยุทธวิธีและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยแบ่ง (การก่อเหตุรุนแรง) ออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

1. การก่อการร้าย (Terrorism) เป็นรูปแบบของการสร้างความรุนแรงโดยตรงต่อผู้ที่มิใช่ทหาร หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า/การเข้าปะทะโดยตรงกับกองกำลังตำรวจและทหาร แต่มุ่งใช้ความรุนแรงไปที่เป้าหมายสาธารณะและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ หน่วยปฏิบัติการมีขนาดเล็กกว่าสงครามก่อความไม่สงบ การปฏิบัติการมักใช้วิธีการลอบสังหาร วางระเบิด ขว้างระเบิด ลอบวางเพลิง ใช้การทรมาน จี้เครื่องบิน และลักพาตัว บางครั้งใช้รูปแบบปฏิบัติการเพียงเพื่อสร้างผลสะเทือนทางการเมือง ปฏิบัติการเหล่านี้มักดำเนินการโดยกลุ่มที่ต้องการปกครองตนเอง และกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ (Non – State actors)

ส่วน การก่อการร้ายก่อความไม่สงบ (Insurgency Terrorism) นั้น มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความรุนแรงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการโค่นล้มรัฐบาล พร้อมทั้งสร้างความหวาดกลัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้การก่อการร้ายได้ถูกปรับให้สอดคล้องกับการปฏิบัติการของแต่ละกลุ่ม

2. สงครามก่อความไม่สงบ (Insurgency Warfare) หลักการทำสงครามก่อความไม่สงบก็คือ การโจมตีโฉบฉวย (hit and run) ด้วยกองกำลังติดอาวุธเบาจนถึงขนาดกลาง เพื่อสร้างความหนักใจ และค่อย ๆ ทำลายเจตนารมณ์ และขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม ความเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อความไม่สงบจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุดในด้านความชำนาญภูมิประเทศ ความยืดหยุ่น พลิกแพลง ความรวดเร็ว และการหลอกล่อในการปฏิบัติการ

เหมาเจ๋อตุง” ได้ให้ข้อสรุปของการทำสงครามก่อความไม่สงบไว้ว่า “ยุทธศาสตร์สูงสุดของฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่บนพื้นฐานของความตื่นตัว เคลื่อนที่เร็วในการเข้าโจมตี แต่จะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของฝ่ายศัตรู ภูมิประเทศ การสื่อสารโทรคมนาคม กำลังสนับสนุน สภาพอากาศ และประชาชน

ทั้งนี้ สงครามก่อความไม่สงบ “แตกต่าง” จากการก่อการร้าย ในแง่ของการเน้นเป้าหมายขั้นต้น กล่าวคือ สงครามก่อความไม่สงบ “เน้น” การโจมตีกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายรัฐบาล ตำรวจ ทหาร หน่วยสนับสนุน รวมถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การก่อการร้าย “เน้น” เป้าหมายที่เป็นสาธารณะ ขณะที่การประกอบกำลังของสงครามก่อความไม่สงบมีขนาดใหญ่กว่าการก่อการร้าย มีการส่งกำลังบำรุง และมีฐานที่่มั่นชัดเจน โดยพื้นที่เคลื่อนไหวส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ส่วนประเด็นที่สงครามก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย “เหมือนกัน” ก็คือ การใช้จุดอ่อนของฝ่ายรัฐที่ไม่สามารถนำทรัพยากรที่พอเหมาะมาใช้แก้ปัญหาในจุดขัดแย้งได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ชี้ขาดความสำเร็จของสงครามก่อความไม่สงบ ยังขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงสงครามก่อความไม่สงบเข้ากับการสร้างความรุนแรง หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สงครามตามแบบ

3. การใช้กำลังตามแบบ หรือ สงครามตามแบบ (Conventional Warfare) เป็นการเผชิญหน้ากันโดยตรงของกำลังขนาดใหญ่ในสนามรบ ซึ่งการก่อความไม่สงบส่วนใหญ่มักไม่ใช้สงครามตามแบบ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการเคลื่อนที่เร็วมากกว่า จึงใช้หน่วยขนาดเล็ก (small unit) ในการปฏิบัติการ ทั้งนี้การทำสงครามตามแบบของกลุ่มก่อความไม่สงบขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของกลุ่มและการตัดสินใจเกี่ยวกับสมรรถนะในการทำลายกองกำลังติดอาวุธฝ่ายรัฐบาลที่ใช้การรบตามแบบ

บางยุคสมัย  "การก่อความไม่สงบ"  ก็กลายเป็น "แนวคิด" หรือ “เป้าหมาย” โดยใช้ "การก่อการร้าย" เป็นยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีของ "การปฏิบัติ"  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการก่อความไม่สงบทางการเมือง  การศาสนา เศรษฐกิจ และสังคม

การก่อการร้าย” ยังเป็นคำที่ใช้ในทางลบและไม่ดีเสมอ และมีความหมายที่กว้างขึ้นตั้งแต่สหรัฐอเมริกามีการประกาศสงครามกับการก่อการร้ายจนครอบคลุมไปถึงทุก ๆ กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ใช้เฉพาะเพื่อเรียก “ฝ่ายตรงข้าม” เท่านั้น

น่าสังเกตุว่า ไม่มีกลุ่มใดเรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เลย (บางกลุ่มลงมือกระทำการอันเป็นการก่อการร้ายสากลเสียด้วยซ้ำ กลับเรียกตัวเองว่า “ผู้ก่อการดี” ????)

ข้อเท็จจริง  เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งรูปแบบ “การก่อความไม่สงบ” และ “การก่อการร้าย” เพราะมีการก่อเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายทั้งทางทหารตำรวจซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “อำนาจรัฐ” และเป้าหมายที่เป็นพลเรือน แต่เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดกรอบให้เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น “การก่อความไม่สงบ”  ซึ่งเป็นปัญหาภายในประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของผม รูปแบบการก่อเหตุรุนแรงทั้งสองรูปแบบ ไม่ได้มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ ขึ้นอยู่กับเจตนารมย์ของรัฐบาลผู้ปกครองนั่นเองที่จะเลือกใช้ถ้อยคำใดเรียกฝ่ายต่อต้่าน เพราะในอดีต รัฐบาลเคยใช้คำว่า “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ “ขจก.” แทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ต่อมาเปลี่ยนเป็น “โจรก่อการร้าย” (จกร.) และ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ในปัจจุบันตามลำดับ  (ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเป็น “กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง” ก็เป็นไปได้)

Sunday, May 9, 2010

การก่อการร้าย

images

การก่อการร้าย

ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Terrorism” ซึ่งเป็นคำที่มีรากฐานมาจากภาษาฝรั่งเศสที่กล่าวถึงเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศษในช่วงปี พ.ศ. 2336 – 2337 ที่มีกลุ่มก่อความไม่สงบใช้วิธีการที่รุนแรงทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก

เนื่องจากการก่อการร้ายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง และผิดกฏหมาย ทำให้การก่อการร้ายมีความใกล้เคียงต่ออาชญากรรม แต่ประเด็นที่ทำให้การก่อการร้ายมีความแตกต่างจากอาชญากรรมก็คือ “วัตถุประสงค์”  ตรงที่การก่อการร้ายจะกระทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง ศาสนา หรือความเชื่อในลัทธิอุดมการณ์  ส่วนอาชญากรรมจะกระทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ผู้กระทำต้องการเช่น มุ่งประสงค์ต่อชีวิต หรือทรัพย์สินของผู้อื่น


สำหรับสาเหตุของการก่อการร้ายนั้นมีพื้นฐานมาจากเรื่องหลัก 2 ประการคือ

  1. การดำเนินการการทางการเมืองภายในรัฐชาติ หรือ รัฐต่อรัฐ เช่น การล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทำให้เกิดกลุ่มต่อต้านเพื่อหาทางประกาศเอกราช หรือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การกระทำที่รุนแรงมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น
  2. การดำเนินทางเศรษฐกิจ และสังคม จิตวิทยา เช่น ความเหลือมล้ำทางชนชั้นทางสังคมหรือเชื้อชาติที่บานปลายไปสู่การดำเนินการต่อสู้ด้วยความรุนแรง หรือ การใช้มาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจจากประเทศมหาอำนาจจนขยายผลสู่การเรียกต้องที่ใช้ความรุนแรง เป็นต้น เมื่อการก่อการร้ายที่กระทำโดยผู้ก่อการร้ายหรือที่เรียกว่า “Terrorist” นั้นเป็นการกระทำที่มุ่งหวังในเรื่องทางการเมือง ความเชื่อ ฯลฯ การก่อการร้ายจึงกระทำเพื่อให้เกิดการยอมรับจากการกระทำที่รุนแรงเพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรอง กดดัน หรือ ข่มขู่ต่อกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ก่อการร้ายต้องการ 

ความหมายของการก่อการร้ายที่ใช้ใน “ประเทศสหราชอาณาจักร” เมื่อ ปี 2000 ได้แก่ “การใช้กำลัง หรือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการใช้กำลัง ซึ่งมุ่งเน้นสร้างอิทธิพลกดดันต่อรัฐบาล หรือขู่เข็ญต่อสาธารณะ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสาธารณะ ซึ่งการใช้กำลังหรือภัยคุกคามดังกล่าวถูกดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ให้มีการแพร่หลาย หรือให้เป็นที่ยอมรับในเหตุปัจจัยทางการเมือง ศาสนา และลัทธิความคิด และการกระทำนั้นเกี่ยวข้องกับความรุนแรงอย่างยิ่งต่อบุคคล เกี่ยวข้องกับการทำลายล้างที่รุนแรงต่อทรัพย์สิน ทำให้ชีวิตของบุคคลตกอยู่ในอันตราย ยกเว้นชีวิตของบุคคลที่เป็นผู้ก่อการร้าย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ชีวิต และความปลอดภัยของสาธารณะ แทรกแซงหรือขัดขวางระบบอิเล็คโทรนิคส์”

ความหมายของการก่อการร้ายใน “กลุ่มประเทศยุโรป (EU)” ซึ่งบังคับใช้เมื่อปี 2001 ระบุว่า “กิจกรรมการก่อการร้ายคือ การกระทำที่มีเจตนาที่จะทำลายและสร้างความไม่มั่นคงต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง รัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ”

สำหรับความหมายของการก่อการร้ายที่ “หน่วยสืบสวนสอบสวนกลาง FBI” ของสหรัฐอเมริกาใช้ได้แก่ “การใช้กำลังและความรุนแรงที่ผิดกฎหมายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน เพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลหรือพลเมือง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรัฐบาลและพลเมือง เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางการเมืองและทางสังคม”

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือ ความหมายของการก่อการร้ายของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ส่วนความหมายของการก่อการร้ายในทางสากลนั้น ด้วยความที่การก่อการร้ายมีมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นการยากที่องค์การสหประชาชาติเองจะหาคำนิยามที่เหมาะสมสำหรับคำนี้ในทางสากลได้

ทั้งนี้เนื่องจาก “การก่อการร้าย” นั้น สามารถมองได้สองมิติ ผู้ก่อการร้ายในมุมมองของฝ่ายหนึ่งอาจเป็นวีรบุรุษของอีกฝ่ายหนึ่ง ตัวอย่างเช่น นายยัสเซอร์ อาราฟัต อาจเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาของชาวอิสราเอล แต่เป็นวีรบุรุษผู้กล้า หรือผู้ปลดปล่อยปาเลสไตน์ในสายตาของชาวปาเลสไตน์  หรือแม้กระทั่งนายโอซามะ บินลาเดนก็ตาม ที่พยายามต่อสู้ทุกวิถีทางต่อชาติมหาอำนาจที่จะคิดทำลายล้างศาสนาอิสลาม ก็อาจจะเป็นวีรบุรุษในสายตาของชาวมุสลิมบางกลุ่ม  ในขณะที่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา อาจเป็นผู้ก่อการรร้ายในสายตาของชาวมุสลิมทั่วโลกก็เป็นได้   นอกจากนี้การยึดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปลายปี 2552  กลับกลายเป็น “การก่อการดี” ไปเสี่ยนี่….

Monday, May 3, 2010

การก่อความไม่สงบ

IMG_3645ก่อนอื่น เราย้อนกลับมาดูคำนิยามของถ้อยคำแต่ละคำก่อนครับว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร..?

“การก่อความไม่สงบ” (Insurgency) ความหมายโดยทั่ว ๆ ไป เป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการ ที่มุ่งประสงค์ที่จะล้มล้างอำนาจรัฐที่มีอยู่เดิม เป้าหมายอาจต้องการเพียงแยกตัวออกจากการควบคุมของรัฐบาล ถึงการเข้ายึดอำนาจและเข้าแทนที่รัฐบาลปัจจุบัน โดยการใช้การบ่อนทำลายหรือการต่อสู้ด้วยอาวุธ ความรุนแรงไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง

พูดให้ง่ายเข้าก็คือ เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผู้อยู่ใต้ปกครองกับกลุ่มที่มีอำนาจในการปกครอง โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองตามความต้องการของตน

ในการปฏิบัติการก่อความไม่สงบนั้น “จุดมุุ่งหมายหลักของกลุ่มก่อความไม่สงบจึงมิใช่การเอาชนะทางการทหาร แต่มุ่งเอาชนะด้วยการทำลายอำนาจและการบริหารประเทศของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งขีดความสามารถของรัฐในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน”

เป้าหมายปลายทางของการก่อความไม่สงบจะมีลักษณะเหมือนกันทั่วโลกคือ การล้มล้างอำนาจรัฐที่อาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน  หรือ การทำสงครามปฏิวัติ ดังตัวอย่างที่เราได้เห็นจากการต่อสู้ในอดีต  การก่อความไม่สงบเป็นการดำเนินการที่มีขั้นตอน ตามที่ปรากฏอยู่ในหลักนิยมการปราบปรามการก่อความไม่สงบของกองทัพสหรัฐฯ 3 ขั้น ได้แก่

  1. ขั้นเริ่มต้นและซ่อนเร้น (Latent and Incipient): ในขั้นนี้จะเป็นเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมต่าง โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการบ่อนทำลายเพื่อสร้างเงื่อนไขให้มีระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
  2. ขั้นสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare): เมื่อได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอแล้วจะจัดตั้งกองโจรเข้าดำเนินการก่อความไม่สงบด้วยความรุนแรงอย่างเป็นระบบ (เน้นการต่อสู้ด้วยกองโจร)
  3. ขั้นสงครามขบวนการ (War of Movement): เมื่อฝ่ายก่อความไม่สงบมีความเข้มแข็งมากขึ้น จะทำสงครามขบวนการโดยใช้กำลังที่เตรียมไว้เข้าสู้ต่อสู้กับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลโดยตรง เช่น การเข้ายึดพื้นที่สำคัญ การเข้าตีหน่วยทหารด้วยกำลังขนาดใหญ่ (มีการทำสงครามตามแบบ  มีการยึดพื้นที่)

หากยึดถือตามหลักนิยมข้างบนนี้ อาจกล่าวได้ว่า การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังอยู่ในขั้นที่ 2  “ขั้นสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare)” นั่นเอง ลักษณะการต่อสู้ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการสะสมกำลังพล ตระเตรียมอาวุธ มุ่งที่จะทำสงครามประชาชน แย่งชิงความคิด แย่งชิงประชาชน ทำสงครามกองโจรอย่างยืดเยื้อ ไม่ได้มุ่งหวังจะเอาชนะการรบให้แตกหักในทันทีทันใด ในขณะเดียวกันก็พยายามยกระดับการต่อสู้ขึ้นไปสู่เวทีสากล เช่น “OIC” หรือองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of The Islamic Conference : OIC) เรียกง่าย ๆ ว่า "องค์กรมุสลิมโลก" ที่มีสมาชิกจากชาติมุสลิม 57 ประเทศ  หรือองค์การสหประชาชาติ ให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อนำไปสู่การเจรจาแก้ปัญหาโดยจัดการแบ่งแยกดินแดนปกครองตนเองในที่สุด

เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น มีทั้งลอบฆ่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ใช้อาวุธโจมตีที่ตั้งหน่วยทหารตำรวจ ฆ่าครู ฆ่าพระเผาวัด ฆ่าแล้วตัดศีรษะ ลอบวางระเบิด ฯลฯ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความรุนแรงที่รัฐบาลให้คำนิยามไว้ว่าเป็น “การก่อความไม่สงบ” ทั้งสิ้น

Sunday, May 2, 2010

การก่อการร้าย กับ การก่อความไม่สงบ (ตอนที่ 1)

terroristz ตลอดระยะเวลาแห่งความวุ่นวายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยเราคงคุ้นเคยกับคำว่า “การก่อความไม่สงบ” มาพอสมควร  เนื่องจากรัฐบาลได้ให้คำนิยามต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ว่า “การก่อความไม่สงบ” และกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชนใช้คำว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” แทนผู้ก่อเหตุรุนแรงดังกล่าว

คนไทยส่วนใหญ่คงจะคุ้นชินกับคำดังกล่าวอยู่ต่อไป หากไม่มีคำอื่นมาเปรียบเทียบ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาเกิดความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างมวลชนคนเสื้อแดงกับกองทหาร  เมื่อกองทหาร “บูรพาพยัคฆ์” ใช้อาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนจริงเข้าปราบปราบมวลชนคนเสื้อแดง แล้วถูกกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายใช้อาวุธปืน/เครื่องยิงลูกระเบิดแบบ M79 ยิงถล่มคุ้มกันจนมีทหารใหญ่บาดเจ็บล้มตาย เป็นเหตุให้กองทหารบูรพาพยัคฆ์แตกพ่ายไป ซึ่งต่อมาเพียงชั่วข้ามคืน รัฐบาลอภิสิทธิ์ฯ ได้นิยามการกระทำของกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายดังกล่าวว่าเป็น “การก่อการร้าย” และเรียกกองกำลังนั้นว่า “ผู้ก่อการร้าย”   ??

หลายต่อหลายคนจึงงุนงง และสงสัยกับการให้คำนิยามต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าว ว่า “เหมือน” หรือ “แตกต่างกัน” อย่างไร..?  ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ทั้ง 2 รูปแบบนั้นเกิดความสูญเสียในลักษณะเดียวกัน  และการขีดเส้นแบ่งประเภทก็ทำได้ยากยิ่งเหลือเกิน….

โอกาสต่อไปเรามาคุยกันครับ…

RevolverMap