แผ่นดินงอก: เรื่องราวจากลังกาสุกะสู่ปัตตานีและปัญหาในปัจจุบัน
แผ่นดินไม่ได้หยุดนิ่ง เหมือนกับที่ชีวิตคนเราก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มันมีพลวัต บางครั้งมันหายไปใต้คลื่น บางครั้งมันก็งอกขึ้นมาจากทะเล และทุกครั้งที่แผ่นดินเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนชะตากรรม และชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนนั้น
วันนี้ผมจะเล่าถึงเรื่องราวของ “อาณาจักรลังกาสุกะ” เมืองท่าของชาวมลายูโบราณ เมื่อครั้งที่ยังนับถือศาสนาพุทธ ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ก่อนจะจมหายไปเพราะแผ่นดินงอก จนกระทั่ง “ปัตตานี” ก้าวขึ้นมาแทนที่ และเรื่องของแผ่นดินงอกใน ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ที่ผมเคยรับราชการอยู่ที่นั่นถึง 4 ปี เคยเป็นประเด็นร้อนในขณะนั้น
ลังกาสุกะ: เมืองท่าที่ถูกคลื่นแห่งกาลเวลากลืนหาย
ย้อนกลับไปกว่า พันปีที่แล้ว ลังกาสุกะเคยเป็นเมืองท่าสำคัญ ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นจุดเชื่อมการค้าระหว่าง อินเดีย จีน และอาหรับ มีสินค้าหรูหราเดินทางผ่านที่นี่ ทั้งเครื่องเทศ ไม้หอม และทองคำ
แต่ความรุ่งเรืองนั้น ไม่จีรัง แผ่นดินที่เคยติดทะเลกลับถูก ตะกอนจากแม่น้ำและทะเลพัดพามาทับถม จนชายฝั่งทะเลถอยร่นออกไปเรื่อย ๆ เรือสินค้าที่เคยมาจอดที่นี่เริ่ม มุ่งหน้าไปยังท่าเรือแห่งใหม่ ที่สะดวกกว่า เช่น มะละกา และปัตตานี ลังกาสุกะที่เคยคึกคักจึงถูกทิ้งร้างในที่สุด
แผ่นดินงอกในเทพา: ปัญหาของวันนี้ที่สะท้อนอดีต
#ข้ามกาลเวลามาหารักแท้ เอ๊ย!!!! มาสู่ ศตวรรษที่ 21 เรื่องราวของแผ่นดินงอกยังไม่จบ เมื่อ พื้นที่ใหม่กว่า 300 ไร่ งอกขึ้นมาจากทะเลใน ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แต่แทนที่จะเป็นโอกาส กลับกลายเป็นปัญหา เมื่อประชาชนบางส่วนเข้าไปครอบครองพื้นที่นี้
ที่มาของแผ่นดินงอก
• เกิดขึ้นจากตะกอนสะสมหลังการสร้างเขื่อนกันคลื่น บริเวณปากคลองสะกอมในปี พ.ศ. 2535 (พิกัดอยู่ในภาพถ่ายทางอากาศ)
• แผ่นดินงอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีละ 25-30 เมตร โดยกัดเซาะจากพื้นที่อื่นใกล้เคียงซึ่งถูกคลื่นกัดเซาะหายไป
• จนปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่กว่า 300 ไร่
ปัญหาที่เกิดขึ้น
• ประชาชนบางส่วนเข้าไปครอบครองทำให้เกิดข้อพิพาท ระหว่างประชาชนต่อประชาชนและระหว่างประชาชนต่อหน่วยงานราชการ
• หน่วยงานรัฐรับรู้มาตั้งแต่ปี 2556 แต่เพิ่งเริ่มกระบวนการรังวัดที่ดิน
• ชาวบ้านที่ไม่ได้บุกรุกต้องการให้ที่ดินเป็นสมบัติสาธารณะ เพื่อจัดสรรให้กับรัฐและผู้ยากไร้
ในครั้งนั้น เมื่อ 16 กรกฎาคม 2561 นายสว่าง กองอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 6 (สงขลา) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ในขณะนั้น)
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดพญาเสือ และเจ้าที่หน้าที่ฝ่ายอื่นๆ รวมทั้งทหาร ฝ่ายปกครองที่ไม่ได้เอ่ยนาม ได้เข้าร่วมปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่แผ่นดินงอก 300 ไร่นั้น
อดีตและปัจจุบัน: แผ่นดินเปลี่ยน คนต้องปรับตัว
เรื่องของ ลังกาสุกะ และแผ่นดินงอกในเทพา เป็นตัวอย่างของ อำนาจของธรรมชาติ ที่ไม่มีใครควบคุมได้
• ลังกาสุกะ สูญเสียเมืองท่าเพราะชายฝั่งหดหาย
• เทพา เกิดพื้นที่ใหม่แต่กลายเป็นปัญหาการบุกรุก
สิ่งที่เหมือนกันคือ มนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดิน หากเราจัดการไม่ดี เราจะกลายเป็นแค่ผู้เฝ้าดูอดีตที่สูญหายไป เช่นเดียวกับลังกาสุกะที่เหลือเพียงซากเมืองโบราณ
บทสรุป: บทเรียนจากอดีตสู่ปัจจุบัน
แผ่นดินงอก ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเปลี่ยนโชคชะตาของลังกาสุกะ และวันนี้มันกำลังเปลี่ยนโชคชะตาของเทพา
หากเราวางแผนให้ดี แผ่นดินงอก อาจกลายเป็นโอกาส ให้รัฐและประชาชนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ มันอาจกลายเป็นอีกหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่สูญหาย เหมือนลังกาสุกะที่เคยรุ่งเรืองแต่ล่มสลายไปตามกาลเวลา
No comments:
Post a Comment