Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Friday, April 4, 2025

ว่าด้วยบ่อนคาสิโน ประชาธิปไตย และภารกิจของประธานรัฐสภา และผู้แทนราษฎร

 

ว่าด้วยบ่อนคาสิโน ประชาธิปไตย และภารกิจของประธานรัฐสภา และผู้แทนราษฎร


ในสังคมไทยซึ่งบ่อนการพนันดำรงอยู่มายาวนานในหลายรูปแบบ ทั้งถูกกฎหมาย (เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล, สลากกาชาด, สนามชนโค, บ่อนไก่ชน) และผิดกฎหมาย (เช่น บ่อนใต้ดิน, บ่อนลอยฟ้า, การพนันออนไลน์) การตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับการ “เปิดเสรีบ่อนคาสิโน” จึงไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อรัฐบาลพยายามผลักดันแนวคิด “คาสิโนคอมเพล็กซ์” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการผลักดันเข้าสภา กลับมีเสียงวิพากษ์และประณามในนามของศาสนา โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่มีบทบาทในการนำกฎหมายเข้าสภาคือ อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” และเป็นมุสลิม


ผมขอเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมไม่เห็นด้วยกับบ่อนคาสิโน และยังยืนยันว่าการพนันในอิสลามนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามชัดเจน (ฮะรอม) อย่างไรก็ดี การโจมตีใครคนหนึ่งด้วยถ้อยคำที่ว่า “เสียดายที่เกิดมาเป็นมุสลิม” หรือ “กลับไปหาพระเจ้าโดยไม่ได้ทำความดี” นั้น เป็นการละเมิดขอบเขตของอิสลาม และขัดต่อหลักเมตตาธรรมของศาสนาอย่างรุนแรง


เราคงจะลืมไปว่า ประเทศมุสลิมหลายประเทศ ก็มีคาสิโนอย่างถูกกฎหมาย เช่น

 ~ เลบานอน: มี Casino du Liban ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 1959 ในเขตโจนีเยห์ ใกล้กรุงเบรุต

www.casinoduliban.com.lb

 ~ อียิปต์: มีคาสิโนในโรงแรมหรูหลายแห่งในไคโรและชาร์มเอลชีค โดยเปิดให้ชาวต่างชาติใช้บริการ

www.tripadvisor.com/Hotels-g297555-zff14-Sharm_El_Sheikh

 ~ โมร็อกโก: มีคาสิโนที่มีชื่อเสียง เช่น Casino de Marrakech ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 1952

www.essaadi.com/en/casino-marrakech/

 ~ ตูนิเซีย: มีคาสิโนในเขตท่องเที่ยว เช่น Casino La Médina ในเมือง Yasmine Hammamet

www.casinocity.com/tunisia/yasmine-hammamet/casino-la-médina/

 ~ ตุรกี: แม้จะยกเลิกคาสิโนในประเทศตั้งแต่ปี 1998 แต่ยังมีสลากกินแบ่งรัฐบาลและการพนันกีฬาออนไลน์ที่ดำเนินการโดยรัฐ

https://en.wikipedia.org/wiki/Gambling_in_Turkey?wprov=sfti1

 ~ มาเลเซีย: มี คาสิโนเก็นติ้งไฮแลนด์ ดำเนินการภายใต้กฎหมาย แม้ห้ามมุสลิมเข้าเล่น

www.rwgenting.com

 ~ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: วางแผนเปิด “คาสิโนรีสอร์ท” ในราสอัลไคมาห์โดยบริษัท Wynn Resorts

www.skift.com/2025/02/27/wynn-resorts-confirms-there-will-be-two-gaming-areas-at-uaes-first-casino-resort/


(ขณะที่ ซาอุดีอาระเบีย ยังคงห้ามการพนันทุกรูปแบบภายใต้ระบบชารีอะฮ์อย่างเข้มงวด)


ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าอิสลามเห็นด้วยกับคาสิโน แต่คือข้อเท็จจริงที่ว่า การดำรงอยู่ของคาสิโนในประเทศมุสลิม มักเป็นเรื่องของนโยบายรัฐที่ต้องควบคุมภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดคนหนึ่ง


ในบริบทของประเทศไทย การผลักดันกฎหมายว่าด้วย “สถานบันเทิงครบวงจร” หรือ “คาสิโนคอมเพล็กซ์” โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้ง ในระบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาล ย่อมมีสิทธิในการกำหนดวาระทางนโยบายและเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา ไม่ว่ากฎหมายเหล่านั้นจะได้รับเสียงสนับสนุนหรือไม่ ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองและอภิปรายตามระบบรัฐสภา


อาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะประธานรัฐสภา จึงมีหน้าที่ “ประคับประคองกระบวนการประชาธิปไตย” ให้ดำเนินไปตามครรลอง ไม่ใช่ “เลือกเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย” ตามอารมณ์ส่วนตัว และไม่สามารถ “ตัดสินใจแทนสภา” ได้ เพราะอำนาจแท้จริงอยู่ที่เสียงของผู้แทนราษฎรทุกคน


และสุดท้าย ในระบบประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน หากนโยบายใดของพรรคการเมืองไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของสังคม หรือทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย  ก็ย่อมมีผลสะท้อนกลับผ่าน “การเลือกตั้งครั้งต่อไป” เพราะประชาชนคือเจ้าของอำนาจสูงสุด หากพวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคใด พรรคการเมืองนั้นก็จะ ไม่ถูกรับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก นั่นคือ “กระบวนการตัดสินใจด้วยเสียงส่วนรวม” อันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย


สิ่งที่เราควรทำ คือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้วยข้อมูล ไม่ใช่ด้วยการสาปแช่งบุคคลผู้ทำหน้าที่ในระบบอย่างซื่อสัตย์



Wednesday, April 2, 2025

หะยีวันอะหมัด ชื่อฉายา “โต๊ะชายนาย” หรือ “โต๊ะหยังนาย”

 


29 มีนาคม 2568

สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม พ.ศ. 2452 (Anglo-Siamese Treaty of 1909) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาบางกอก เป็นข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับสยาม มีการลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452 และได้รับสัตยาบันจากรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมปีเดียวกัน

สาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ การที่สยามยกสิทธิในการปกครองและบังคับบัญชาเหนือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และเปอลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียง ให้แก่อังกฤษ

ในเดือนนี้ เป็นวาระครบรอบ 119 ปีของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว—และยังคงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ของผู้คนในคาบสมุทรมลายูจวบจนปัจจุบัน

หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าวันที่สนธิสัญญานี้จะเกิดขึ้นราว 100 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หรือเมื่อราว 200 ปีก่อน

“ฮัจญีหวังอาหมัด” ชาวมลายูมุสลิมจากรัฐตรังกานู—ซึ่งขณะนั้นยังเป็นดินแดนหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม—ได้อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนด้วยเหตุผลทางการเมืองและความไม่สงบ

ท่านมีฉายาว่า “โต๊ะหยังนาย” หรือ “โต๊ะชายนาย” เนื่องจากดำรงตำแหน่ง “นายกองทหาร” แห่งรัฐตรังกานู และเคยนำกำลังเข้าร่วมกับเมืองสงขลาเพื่อปราบหัวเมืองที่แข็งข้อในพื้นที่ภาคใต้

เมื่อภารกิจทางการทหารเสร็จสิ้น ท่านเลือกที่จะไม่กลับคืนสู่ภูมิลำเนา แต่ตัดสินใจตั้งรกรากในพื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลา ณ บ้านดอนทิง ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในเขตการปกครอง ตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 

ท่านมีภรรยา 2 คน และมีลูกทั้งหมด 8 คน ซึ่งล้วนถือกำเนิดที่บ้านดอนทิง และเป็นต้นสายตระกูลสำคัญหลายสายในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง  ลูกหลานของท่านได้แต่งงานสลับสายในหมู่กันเอง เกิดเป็นเครือญาติอันแน่นแฟ้น มีทั้งชื่อสกุลและวัฒนธรรมร่วมกัน ลูกหลานของท่าน เมื่อมีครอบครัวแล้วก็อพยพโยกย้ายไปตั้งรกรากทั่วลุ่มทะเลสาบสงขลา ทั้งที่บ้านหัวปาบ  บ้านม่วงทวน  ดังนี้

1. หะยีสาเม๊าะ (1838–)

เมื่อแต่งงานได้อพยพโยกย้ายไปอยู่บ้านเกาะทาก ตำบลนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้นตระกูล “หมานเหม๊าะ” และ “เส็นเด” และอีกหลายตระกูลในอำเภอจะนะ ศพของท่านฝังอยู่ที่บ้านเกาะทาก

2. ปะวะแหละ (1839–)

ลูกหลานใช้นามสกุล “เจ๊ะอาหวัง”, “ปูตีล่า” หรือ “ฤทธิ์โต” และบางสายสมรสกับตระกูล “ยีหวังกอง”

3. หะยีอุมาร์ (ยีหวังกอง) (1840–1915)

เป็นผู้ให้กำเนิดตระกูล “ยีหวังกอง” ซึ่งสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องถึงรุ่นปัจจุบัน

4. โต๊ะขุนฤทธิ์ (1841–)

ต้นตระกูล “ขุนฤทธิ์” และ “ฤทธิ์โต”

5. หวันยีเต๊ะ (1842–)

ต้นตระกูล “หวันยีเต๊ะ”

6. โต๊ะจูยำ (1843–)

ลูกหลานมีการสมรสไขว้กับสายของปะวะแหละ

7. โต๊ะเหล็บยาว (1844–)

ลูกหลานใช้นามสกุล “ปูตีล่า” หรือ “ฤทธิ์โต” และมีการแต่งงานไขว้สายกันกับลูกหลานของอีกหลายตระกูล

8. โต๊ะชายล่า (1845–)

ต้นตระกูล “ปูตีล่า”

(ตัวเลขแทนคริสต์ศักราชเป็นเพียงค่าประมาณการ)

แม้บทเรียนในห้องเรียนจะสอนให้เรารักชาติและภาคภูมิใจในความเป็น “ไทย” แต่เราก็ไม่ควรลืมรากเหง้าของตนเอง

ผมภูมิใจที่มีสายเลือดมลายู และเป็นคนไทยที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินนี้…

บรรพบุรุษของผม… หลับใหลอยู่ใต้ผืนดินนี้มาเกือบสองร้อยปีแล้วครับ


*******************************************


Version เขียนใหม่ 29 มี.ค.2568 ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบวันเกิดปีที่ 51 ของผม

RevolverMap