นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
การสู้รบกันในดินแดนปาเลสไตน์ระหว่างชนชาติอิสราเอลผู้ยึดครอง กับชนชาติปาเลสไตน์ผู้ถูกกดขี่ มีลักษณะเป็นสงครามอสมมาตร (asymmetric warfare) ระหว่างฝ่ายที่อ่อนแอกว่าต่อสู้กับฝ่ายที่เข้มแข็งกว่าอย่างมาก โดยชาวปาเลสไตน์ ต่อสู้กับยิวไซออนิสต์ในลักษณะของสงครามการก่อความไม่สงบ (insurgencies warfare) ลักษณะเดียวกับการต่อสู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยใช้วิธีการรบแบบกองโจร (guerrilla warfare) "เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม" ที่มีลักษณะเป็นสงครามยืดเยื้อ แย่งชิงและชี้ขาดกันด้วยมวลชน
จุดมุ่งหมายของ "อสมมาตรวิธี" คือการใช้วิธีการรบแบบกองโจร ทำลายหลักดำรงความมุ่งหมาย (หลักการสงครามประการที่ 1 ตามหลักนิยม หลักการสงคราม 10 ประการของกองทัพบกไทย) ทำให้ฝ่ายข้าศึก ในที่นี้คือ รัฐบาลไซออนิสต์ของอิสราเอล ท้อแท้หมดกำลังใจ ที่จะรุกรบต่อไป
นายเบนยามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศชัยชนะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตามข่าวบอกว่า ความขัดแย้งยาวนานเจ็ดสัปดาห์ในเขตกาซาจบลงด้วย “ชัยชนะ” และกล่าวว่า “กลุ่มฮามาสถูกโจมตีอย่างหนักและยังไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ”
#คำกล่าวเช่นนี้เป็นจริงหรือไม่เรามาพิจารณากัน
นายเฮนรี่ คิซซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลริชาร์ด นิกสัน (ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 1973) ได้กล่าวไว้ว่า "สำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้น ถ้าไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้ก็คือแพ้ แต่สำหรับฝ่ายกองโจรแล้ว เพียงแต่พวกเขาดำรงตนเองให้อยู่ได้ก็เท่ากับชนะ"
จุดมุ่งหมายการก่อเหตุความไม่สงบของกองโจรฮามาส แห่งปาเลสไตน์ก็เพื่อสภาวะดังกล่าวเช่นเดียวกัน สถานการณ์ในดินแดนปาเลสไตน์ที่กองทัพอิสราเอลไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่าฆ่าชาวปาเลสไตน์ด้วยความเข้มแข็งทางการทหารและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าไปแล้วหลายพันคน อยู่ในขั้น "ยัน" กันทางยุทธศาสตร์ ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ แต่กองโจรฮามาสของปาเลสไตน์ยังคงดำรงอยู่ได้ท่ามกลางมวลชนชาวปาเลสไตน์ อาจกล่าวได้ว่า กองโจรฮามาส "ชนะ" กองทัพอิสราเอลในทางยุทธศาสตร์ตามความหมายข้างต้นนั่นเอง
ผลการเจรจาตามข้อตกลงหยุดยิง จะมีการยกเลิกการปิดล้อมทางเศรษฐกิจแก่ฮามาสทีละขั้น โดยเริ่มจากขยายน่านน้ำออกไปอีก 6 ไมล์ทะเล เปิดด่านพรมแดน และเริ่มเจรจาเพื่อสร้างท่าเรือและสนามบินภายหลังลงนามในข้อตกลงแล้ว 1 เดือน
ไม่ต่างอะไรจาก "สงครามเวียดนาม" ที่หลักดำรงความมุ่งหมายทางการทหารของสหรัฐฯ ถูกทำลายโดยพลังมวลชนอเมริกันชนที่เดินขบวนประท้วงอยู่ในมาตุภูมิซึ่งอยู่กันคนละซีกโลกของสนามรบ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ต่อนโยบายทางการเมืองและการทหาร หลักดำรงความมุ่งหมายของกองทัพสหรัฐฯ พ่ายแพ้นโยบายทางการเมืองในประเทศ ทำให้สหรัฐฯ แพ้สงครามพ่ายทางยุทธศาสตร์ในเวียดนาม
คราวนี้มองออกหรือยังครับว่าใคร “แพ้” หรือ “ชนะ”
อย่างไรก็ตาม สงครามยังไม่จบหรอกครับ
No comments:
Post a Comment