ที่มา: VOICETV
เอ็มไอแอลเอฟลงนามสันติภาพกับรัฐบาลมะนิลาในวันพฤหัสบดี ยุติการต่อสู้เพื่อเอกราชด้วยกำลังอาวุธ ยอมรับข้อตกลงปกครองตนเอง พร้อมกับมีสิทธิ์มีส่วนในทรัพยากรท้องถิ่น
รัฐบาลของประธานาธิบดีเบนิกโน อาคีโน กับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) ลงนามข้อตกลงสันติภาพกันในวันพฤหัสบดี ปิดฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธในภาคใต้ของฟิลิปปินส์
เอ็มไอแอลเอฟมีนักรบประมาณ 10,000 คน นับเป็นกบฏมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ กลุ่มติดอาวุธนี้ต่อสู้เพื่อเอกราชของชนกลุ่มน้อยมุสลิมมานาน 4 ทศวรรษ
กลุ่มนี้แยกตัวมาจากแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (เอ็มเอ็นแอลเอฟ) เพราะความขัดแย้งภายใน เอ็มเอ็นแอลเอฟได้ตกลงยอมรับการปกครองตนเองไปแล้วก่อนหน้านี้
ข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้ มีชื่อว่า "ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ว่าด้วยชนชาติบังซาโมโร" (Comprehensive Agreement on the Bangsamoro)
บังซาโมโรเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ยุคที่พวกสเปนเข้าพิชิตและยึดครองหมู่เกาะแถบนั้นเป็นอาณานิคม บังซาแปลว่าประชาชาติ โมโรมีรากมาจากคำว่า "พวกมัวร์" ซึ่งเจ้าอาณานิคมสเปนใช้เรียกชาวมุสลิม
@ นักรบเอ็มไอแอลเอฟหลายพันคน รวมตัวแสดงการสนับสนุนการทำข้อตกลงสันติภาพ ที่ค่ายของกบฏมุสลิมกลุ่มนี้ บนเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เมื่อ 27 มีนาคม 2557
ข้อตกลงดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ
ปกครองตนเอง: เอ็มไอแอลเอฟเลิกแยกดินแดนหมู่เกาะมินดาเนา ในปี 2559 จะมีการจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโร มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา เขตปกครองนี้จะตั้งขึ้นแทนเขตเดิมที่เคยตกลงกับกลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟ (MNLF-Moro National Liberation Front) เมื่อทศวรรษ 1990 แต่ไม่สามารถเป็นจริงได้
ปลดอาวุธ: เอ็มไอแอลเอฟ (MILF-Moro Islamic Liberation Front) จะทยอยยุบเลิกพลพรรคนักรบ และปลดอาวุธ และจะมีการจัดตั้งตำรวจท้องถิ่นขึ้นรับหน้าที่แทนตำรวจและทหารของฟิลิปปินส์
อำนาจรัฐบาลกลาง: รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยังคงมีอำนาจบริหารในด้านกลาโหม นโยบายต่างประเทศ สกุลเงิน และงานทะเบียนต่างๆ
ภาษี/รายได้: รัฐบาลปกครองตนเองจะได้รับส่วนแบ่ง 75% ของภาษีท้องถิ่น ค่าธรรมเนียม และเงินจัดเก็บทุกประเภท และสัดส่วน 75% จากค่าภาคหลวงแร่โลหะกับภาษีด้านการประมงในรัศมี 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง
กฎหมายอิสลาม: มินดาเนาจะไม่เป็นรัฐอิสลาม หากแต่ปกครองแบบโลกวิสัย ศาสนบัญญัติอิสลามหรือชารีอะฮ์จะใช้กับชาวมุสลิมเท่านั้น และใช้กับคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ผู้อยู่อาศัยทุกคนมีหลักประกันสิทธิพื้นฐานในชีวิต การสัญจร ความเป็นส่วนตัว และมีเสรีภาพในการพูดและการนับถือศาสนา
เขตแดน: เขตปกครองตนเองครอบคลุม 5 จังหวัด กับอีกสองเมือง หกอำเภอ และ 39 หมู่บ้าน กินพื้นที่ราว 10% ของพื้นที่บกทั้งหมดของฟิลิปปินส์
ธรรมนูญ: อาคีโนจะเสนอให้รัฐสภาผ่าน "ธรรมนูญการปกครองบังซาโมโร" สำหรับเขตปกครองตนเองดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้
ประชามติ: ประชาชนในพื้นที่เขตปกครองตนเองจะต้องออกเสียงลงประชามติรับรองธรรมนูญฉบับนี้ในปี 2558
ถ่ายโอนอำนาจ: หลังจากธรรมนูญผ่านรัฐสภาและผ่านประชามติของคนในพื้นที่ หน่วยปกครองที่เรียกว่า "องค์การถ่ายโอนอำนาจบังซาโมโร" จะบริหารพื้นที่ไปจนกว่าจะมีสภาท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง องค์การนี้มีสมาชิก 15 คน แต่งตั้งโดยอาคีโน แต่เอ็มไอแอลเอฟจะนั่งเก้าอี้ประธานและครองเสียงข้างมาก
การเลือกตั้ง: สภาท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะมี 50 ที่นั่ง จะได้รับการเลือกตั้งพร้อมกันกับการเลือกตั้งระดับชาติในเดือนพฤษภาคม 2559.
Source : AFP
No comments:
Post a Comment