เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.2556) เราได้สูญเสียวีรบุรุษของชาติไปอีกแล้วถึง 4 นาย (ข้าราชการตำรวจ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส) หลายคนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนอาจท้อแท้สิ้นหวังกับชะตากรรมของประเทศ บ้างก็ตำหนิรัฐบาล กองทัพ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า มัวแต่ทำอะไรกันอยู่ทำไมจึงยังปล่อยให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้!!
ผมอยากจะเรียนให้ทราบว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความจริงแล้วเป็นสภาวะปกติของสงครามการก่อความไม่สงบ (insurgencies warfare) ทั่วโลก ที่มีลักษณะเป็นสงครามยืดเยื้อ แย่งชิงและชี้ขาดกันด้วยมวลชน ผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้วิธีการรบแบบกองโจร (guerrilla warfare)
ตามหลักการสงครามอสมมาตร (asymmetric warfare) สามัญดี ๆ นี่เองไม่มีอะไรสลับซับซ้อน
จุดมุ่งหมายของ "อสมมาตรวิธี" คือการใช้วิธีการรบแบบกองโจร ทำลายหลักการสงครามประการที่ 1 (ตามหลักนิยม 10 ประการของกองทัพบกไทย) คือ หลักดำรงความมุ่งหมาย ของฝ่ายตรงข้าม ในที่นี้คือ รัฐบาลไทย
ตัวอย่างที่คลาสสิคในเรื่องนี้ได้แก่ สงครามเวียดนาม ที่สหรัฐฯ มีอำนาจกำลังรบเหนือกว่าในทุกด้าน จึงใช้ความได้เปรียบด้านกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าในการทำสงคราม ในสนามรบสงครามตามแบบ (conventional warfare) ทหารสหรัฐฯ รบเอาชนะทางยุทธวิธีฆ่าคนเวียดนามไปนับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่กองทัพสหรัฐฯ ไม่มีคือความชำนาญในพื้นที่ กองโจรเวียดกงได้ใช้ความได้เปรียบในพื้นที่ภูมิประเทศของกองโจรทำสงครามอสมมาตรกับสหรัฐฯ กำหนดสนามรบที่ตนเองได้เปรียบ ดำเนินกลยุทธ "เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม" เป็นสงครามยืดเยื้อที่ไม่มีวันจบสิ้น ไม่มีแพ้ ชนะ ผลของสงคราม สหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณทางการทหารอย่างมหาศาล ในขณะที่ทหารสหรัฐฯ บาดเจ็บล้มตายไปหลายหมื่นนาย สงครามยืดเยื้อมีผลทำให้จิตใจคนอเมริกันอ่อนไหว สะเทือนใจกับชีวิตลูกหลานชาวอเมริกันที่เอาชีวิตไปทิ้งเสียโดยเปล่าประโยชน์เพื่อแผ่นดินอื่น ผู้คนเกิดความรู้สึกเอือมระอาสงคราม มีการรณรงค์เดินขบวนประท้วงไม่เอาสงครามไปทั่วประเทศเพืิ่อกดดันรัฐบาล จนนำไปสู่การถอนกำลังทหารในที่สุด
หลักดำรงความมุ่งหมายทางการทหารของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม ถูกทำลายโดยพลังมวลชนที่เดินขบวนประท้วงอยู่ในมาตุภูมิ ซึ่งอยู่กันคนละซีกโลกของสนามรบ ส่งผลสะเทือน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง หลักดำรงความมุ่งหมายของกองทัพสหรัฐฯ พ่ายแพ้นโยบายทางการเมืองในประเทศ ทำให้สหรัฐฯ แพ้สงครามพ่ายทางยุทธศาสตร์ในเวียดนาม
นายเฮนรี่ คิซซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลริชาร์ด นิกสัน (ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 1973) ได้กล่าวไว้ว่า "สำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้น ถ้าไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้ก็คือแพ้ แต่สำหรับฝ่ายกองโจรแล้ว เพียงแต่พวกเขาดำรงตนเองให้อยู่ได้ก็เท่ากับชนะ" จุดมุ่งหมายการก่อเหตุความไม่สงบก็เพื่อสภาวะดังกล่าว สภาวะใน 3 จชต.อยู่ในขั้น "ยัน" กันทางยุทธศาสตร์ ไม่มีแพ้ ชนะ แต่กองโจรยังดำรงอยู่ได้ อาจกล่าวได้ว่า กองโจร "ชนะ" ในทางยุทธศาสตร์ตามความหมายข้างต้นนั่นเอง
ข้อแตกต่างระหว่างสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม กับกองทัพไทยใน 3 จชต. คือ สหรัฐฯ ไปรุกรานบ้านเมืองคนอื่น ในขณะที่ไทยเรารบเพื่อปกป้องบ้านเมืองของเราเอง (ในความหมายของเรา) เราจึงไม่สามารถถอนกำลังทหารแล้วยกแผ่นดินให้กับกองโจรเพื่อแยกเป็นรัฐอิสระได้
คาร์ลฟอนท์ เคลาซ์เซวิต นักการทหารชาวปรัซเซีย (เยอรมัน) ชื่อก้องโลกเคยกล่าวเอาไว้ว่า
"..การสงครามคือความต่อเนื่องของการเมืองที่หลั่งเลือด.."
การแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ถึงแม้ว่ายังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้กำลังทหาร ตำรวจ เข้าต่อสู้ปราบปรามกองโจร แต่กระนั้นก็ตามจะต้องใช้มิติทางการเมืองมาเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาในมิติอื่น ๆ ด้วย แต่จะด้วยวิธีใด (งานมวลชน, การพัฒนา, การเจรจา, เขตปกครองพิเศษ หรือจะทำสงครามสู้รบกันต่อไป ฯลฯ) ก็แล้วแต่คงเป็นการบ้านให้ทุกฝ่ายช่วยกันขบคิดหาหนทางกันต่อไป....
A master piece of situation review with in-depth understanding of warfare principles & application.
ReplyDelete