Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Monday, March 26, 2012

นักวิชาการสวีเดนค้นพบ ปกครองตนเอง ทางแก้ความขัดแย้งที่ยั่งยืน

ที่มา: ประชาไท

Mon, 2012-03-26 00:37
นวลน้อย ธรรมเสถียร กลุ่มไฟน์ทูน โปรดักชั่น

รุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
ฮัสซัน โตะดง
อารีด้า สาเม๊าะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถารการณ์ภาคใต้ (DSJ)

นักวิชาการจากสวีเดนระบุ ผลการศึกษาสถิติชี้ชัด ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งความสูญเสียจากความรุนแรงเหล่านั้นกำลังลดลงโดยภาพรวม ขณะในชายแดนใต้ของไทยสวนกระแสในเอเชียตะวันออกที่กลายเป็นภูมิภาคที่สงบมากกว่าที่อื่นๆ

Isak Svensson

อนุสนธิจากการที่ผู้จัดงานวันสื่อทางเลือกหนล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 มีการเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอแซค สเวนซัน (Isak Svensson) นักวิชาการจากภาควิชาการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน เข้าร่วมวงเสวนา เรื่องบทบาทสื่อทางเลือกในการสร้างสันติภาพ

ไอแซค สเวนซัน ได้ประเมินภาพความขัดแย้งไว้สั้นๆ อย่างน่าสนใจ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จึงได้นัดหมายพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อหาคำอธิบาย เรื่องแนวโน้มของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ ที่ได้จากการศึกษาของนักวิชาการรายนี้จากโครงการที่กำลังเดินหน้าในนิวซีแลนด์ 

ไอแซค สเวนซัน ซึ่งศึกษาเรื่องของปัญหาความขัดแย้ง ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยืนยันว่า แม้ตัวเลขจากการศึกษาอาจจะขัดกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่ยังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่สถิติแสดงให้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ความขัดแย้งชนิดที่มีการใช้กำลังและความสูญเสียที่เกิดจากความขัดแย้งประเภทนี้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก กำลังลดลง 

และที่ลดนั้น มิใช่เพราะความขัดแย้งนั้นๆ กลายรูปไปเป็นความขัดแย้งชนิดอื่นแต่อย่างใด

การศึกษาของสเวนซัน ตีกรอบความขัดแย้งไว้ที่ประเภทของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังหรืออาวุธ และเป็นความขัดแย้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ตั้งแต่ปีละ 25 คนขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ ซึ่งถือว่า เป็นความขัดแย้งในระดับย่อย

หากมีผู้เสียชีวิตระดับปีละนับพันคนขึ้นไปถือได้ว่าเป็นสงคราม การให้คำจำกัดความดังกล่าวนี้ สเวนซันระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และไม่เกี่ยวข้องกับคำจำกัดความ ตามข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับความขัดแย้งประเภทที่มีการใช้กำลัง (armed conflict) นี้ ไอแซค สเวนซัน ขยายความว่า มักจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ อาจจะเป็นการใช้อาวุธทั้งคู่หรือมีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ใช้อาวุธ โดยที่อีกฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำ กับอีกแบบคือ คู่กรณีที่ไม่ใช่รัฐทั้งคู่

ความขัดแย้งที่มีรัฐเป็นคู่กรณีและเป็นความขัดแย้งแบบมีการใช้กำลังมักเป็นรูปแบบของความขัดแย้งที่ได้รับความสนใจและหลายฝ่ายพยายามสนับสนุนให้มีการแสวงหาหนทางยุติ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งแบบนี้มักจะเป็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมาก

การศึกษาความขัดแย้งที่เริ่มจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สเวนซัน พบว่า ความขัดแย้งที่ศึกษาในระยะต้นๆ เป็นความขัดแย้งชนิดที่เข้มข้นมาก มีความสูญเสียมาก หลังจากสงครามโลกสงบ ความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันเพิ่มจำนวนขึ้น ทว่าความเข้มข้นเริ่มลดลง 

จำนวนของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังนั้น สถิติระบุไว้ว่า มีมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2534 - 2535 ก่อนจะเริ่มลดลง ความขัดแย้งที่ปรากฏมากดังกล่าวนี้ เป็นความขัดแย้งระดับย่อย ซึ่งสเวนซันระบุว่า กลายเป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน ในขณะที่สงครามโลกสร้างความสูญเสียอย่างมากเพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ และมีผู้เข้าร่วมในความขัดแย้งหรือสงครามอันนั้นหลายราย

“ยิ่งมีผู้สนับสนุนจากภายนอกมาก ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงและมีโอกาสเกิดความสูญเสียมาก” 

นอกจากสงครามโลกแล้ว ตัวอย่างอื่นที่เป็นความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังที่สร้างความสูญเสียมาก ล้วนมีลักษณะคล้ายกัน เช่น สงครามเกาหลี การปราบกบฏในจีน สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามในคองโก อัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เข้มข้น และมีคู่ความขัดแย้งเป็นรัฐ หรือเป็นรัฐขนาดใหญ่ และการมีคนนอกให้การสนับสนุน เช่น ในสงครามเกาหลีที่มีมหาอำนาจหนุนหลัง เป็นต้น

ความขัดแย้งที่รัฐเป็นคู่กรณี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจรัฐ กล่าวคือใครควรจะได้เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองนั้น และควรใช้ในลักษณะใด หรือไม่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นการเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง

สเวนซัน ชี้ว่า สาเหตุทั้งสองประการนี้เป็นเหตุผลหลักของความขัดแย้ง ที่เป็นกรณีศึกษาหลักระหว่างช่วงปี พ.ศ.2489 -2554 ด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม สเวนซัน กล่าวด้วยว่า ในระยะหลังความขัดแย้งประเภทที่รัฐเป็นคู่กรณีนั้นมีจำนวนที่ลดลง

ในแง่ของปัจจัยที่จะช่วยระงับหรือยุติความขัดแย้ง เงื่อนไขหลักๆ ที่ผู้ศึกษาพบมี 4 ประการด้วยกันคือ 

หนึ่ง มีการใช้กองกำลังต่างชาติเข้าไปรักษาสันติภาพ 

ถัดมาคือการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจจะมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับนำลงไปจนถึงระดับประชาชน 

ประการที่สาม คือ เมื่อมีการตกลงกันได้ ให้ใช้ระบบแบ่งปันอำนาจบริหารร่วมกันระหว่างคู่ความขัดแย้ง (power sharing) 

และประการสุดท้าย ก็คือ การได้อำนาจปกครองตนเอง ซึ่งโดยอีกนัยหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการแบ่งปันการใช้อำนาจบริหารร่วมกันประเภทหนึ่ง  

ทางออกแต่ละอย่าง มีน้ำหนักและความเป็นไปได้แตกต่างกันไป แล้วแต่สถานการณ์และไม่มีคำตอบตายตัวว่า ความขัดแย้งประเภทใดจะต้องใช้ทางออกแบบใด 

แต่ไม่ว่าจะลงเอยที่ทางแก้ไขแบบไหน สเวนซัน บอกว่า สิ่งที่จะทำให้หนทางสันติภาพนั้นยั่งยืน ก็คือการที่ต้องมีคู่กรณีร่วมอยู่ด้วยในการแสวงหาสันติภาพนั้น และด้วยเหตุดังนั้น การแบ่งปันอำนาจหรือการให้อำนาจปกครองตนเอง จึงมักเป็นทางออกที่ยั่งยืนมากกว่า

แต่การที่คู่กรณีหรือสถานการณ์จะอยู่ในสภาพสุกงอม พร้อมสำหรับการหาทางยุติความขัดแย้งได้นั้น สเวนซัน ชี้ว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งแต่ละกรณีไป บางครั้งความขัดแย้งนั้นกินเวลาไม่นานแค่ปีเดียว คู่กรณีก็อยู่ในสภาพพร้อมจะหาทางออกหรือข้อยุติได้

แต่หลายครั้ง ความขัดแย้งนั้นกินเวลายืดเยื้อยาวนาน กว่าที่แต่ละฝ่ายจะยินยอมพร้อมใจร่วมมือแสวงหาสันติภาพ 

ที่เป็นเช่นนี้ นักวิชาการสวีเดนรายนี้ชี้ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า คู่กรณีหรือคู่ความขัดแย้งจะมองเห็นผลเสียที่เกิดอันเนื่องมาจากความขัดแย้งนั้นว่า มากเกินกว่าที่จะรับได้หรือยัง หากคู่กรณีรู้สึกว่าต้นทุนของการสานต่อความขัดแย้งนั้น แพงและหนักเกินกว่าจะรับได้ ก็จะรู้สึกว่าต้องการแสวงหาทางออกมากขึ้น

ประชาชนทั่วไปเอง ก็สามารถมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการแสวงหาทางออกและสันติภาพได้ สเวนซัน ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของประชาชนในกรณี นอร์ทเทิร์นไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ ที่ได้ลงประชามติหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่นั่นที่กินเวลายาวนาน

สเวนซัน เผยว่า เขากำลังจะเริ่มศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับความขัดแย้งที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ มันทำให้ประเทศไทยเดินสวนทางกับแนวโน้มของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเมื่อมองโดยเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่า มีสันติภาพมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

Saturday, March 17, 2012

ครบรอบ2ปีการจากไปของ “จ่าเพียร”

jeh695i9dbbf9a9gba6kc

ที่มา: คมชัดลึก

ครบรอบ2ปีการจากไปของ'จ่าเพียร'

ทำบุญครบรอบ 2 ปี การจากไปของ “จ่าเพียร” ด้าน 'ผกก.บันนังสตา' สร้างแนวคิดหวังให้เกิดสันติสุขในพื้นที่

13 มี.ค.55 ที่สถานีตำรวจภูธร อ.บันนังสตา จ.ยะลา  พ.ต.อ.สุวัตต์ วงศ์ไพบูลย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร บันนังสตา เปิดเผยถึง การทำงานในช่วง หลัง 2 ปี แห่งการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.สมพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภบันนังสตา เมื่อ วันที่ 12 มีนาคม 2553 ว่า หลังจาก อดีต ผกก.สมเพียร ได้เสียชีวิตลง ตนเองได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้มาปฎิบัติหน้าที่ เป็น ผกก.สภ.บันนังสตา แทน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย 53

ขณะที่มาปฎิบัติหน้าที่ นั้น พื้นที่ อ.บันนังสตา มีกลุ่มผู้ก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ระเบิด ซุ่มโจมตี และมีการเสียชีวิตทั้งผู้กองแคน ผู้พันเขียว หมวดตี้ ในพื้นที่บันนังสตา และ คนสุดท้ายก็เป็น พ.ต.อ.สมพียร และพ.ต.อ.โสภณ อินทรบวร (พลขับ) ซึ่งช่วงที่ตนมาปฎิบัติหน้าที่ใหม่ๆ ก็มีความเครียดในหลายเรื่อง และยังเกิดความระส่ำของลูกน้อง ซึ่งไม่มีหัวหน้า รวมทั้ง ตนเองก็ยังคิดว่าจะปฎิบัติหน้าที่ได้เหมือนผู้กำกับฯ สมพียร ได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรที่จะคืนความสงบสุขแก่ อ.บันนังสตา จึง ได้มีการประชุม ร่วมพูดคุยกับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยได้นำนโยบายของ ศชต. “เข้มแข็ง อำนาจรัฐ ปฎิบัติยุติธรรม เลิศล้ำงานมวลชน” มาใช้ ในการปฎิบัติงานในพื้นที่ อ.บันนังสตา แทน ซึ่ง อาจจะแตกต่างไปจากผู้กำกับฯ สมเพียร พร้อมนำแนวทางสันติ มวลชนสัมพันธ์ มาทำงาน โครงการแรกที่ได้เริ่มทำงาน คือ โครงการร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว และใช้นโยบายว่า ไม่ว่าจะเป็นตำรวจสืบสวน ตำรวจปราบปราม ตำรวจจราจร หรือ ผกก.เอง ก็ต้องมีงานมวลชนเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังได้กำหนดโครงการอีกหลายโครงการ เช่น โครงการตำรวจ วัด มัสยิด ร่วมคิด ร่วมสร้าง ทางสันติ รวมทั้ง โครงการกลับบ้านเรารักรออยู่ ซึ่งโครงการนี้ มี ผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับแกนนำ เข้ามามอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก

“จะเห็นได้ว่าจากการที่ได้นำงานมวลชนมาใช้ คดีความมั่นคง ปี 2553 ถึงปี 2554  สามารถลด คดีด้านความมั่นคง ได้ 27 คดี ใน ปี 2554 โดยใช้ตัวชี้วัด ทั้งปริมาณ คดีลดลง และคุณภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือ จากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ให้ความร่วมมือ ในการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับยาเสพติด คนร้าย รวมทั้ง ได้รับความร่วมมือจากหน่วยกำลังในพื้นที่ ในการนำกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เข้ามาแสดงตัวมารายงานตน นอกจากนั้น ยังได้นำนโยบายของ ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 นโยบาย ของ ผบช.ศชต.มาใช้ ซึ่งพบว่า ได้รับความพึงพอใจจากทางญาติ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ได้นำบุคคลเหล่านี้ มามอบตัวกับทาง เจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน อ.บันนังสตา มีร้านค้าเพิ่มขึ้น และมีความครึกครื้น กว่าเดิม ซึ่งโครงการต่างๆ ที่ สภ.บันนังสตา ได้ นำมาใช้ ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ปกครอง โดยเฉพาะ ทหารพราน ในพื้นที่  ทำให้เหตุการณ์ในพื้นที่ อ.บันนังสตา มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น” ผกก.สภ.บันนังสตา กล่าว

พ.ต.อ.สุวัตต์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนงานด้านการปราบปรามนั้น ทางสภ.บันนังสตา ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง มีการเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย ติดตามจับกุม กรณีมีเป้าหมายก็ยังดำเนินการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยยึดใช้กฎหมายเป็นหลัก หาพยานหลักฐาน และนำนิติวิทยาศาสตร์มาช่วย เรื่องออกนอกกรอบของกฎหมายก็จะไม่ทำ ซึ่งถ้าใช้ วิธีนี้ จะทำให้มี เงื่อนไขไม่สิ้นสุด และจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่

ด้าน ส.ต.อ.กิตติวุฒิ ปาแว ผบ.หมู่ (ป) สภ.บันนังสตา/ปฎิบัติงานด้านมวลชนสัมพันธ์ ซึ่งปฎิบัติงานร่วมกับ พ.ต.อ.สมพียร ตั้งแต่ปี 2547 กล่าวว่า ท่าน ผกก.สมเพียร เป็นคนทุ่มเท กับการทำงานและไม่เคยทอดทิ้ง ลูกน้อง ท่านจะเน้นในเรื่องของการปราบปรามเป็นหลัก ที่ผ่านมาหลัง ผกก.จากไป ทุกคนที่ได้ร่วมงานกับ ท่าน รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก ส่วน ท่าน ผกก.สุวัตต์ นั้น ท่านจะเน้นงานมวลชนสัมพันธ์ เป็นหลัก ให้เกียรติกับชาวบ้านให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกศาสนา และมีโครงการที่เน้นด้านงานมวลชนเป็นหลักปฎิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยม มัสยิด ผู้นำศาสนา ประชาชนในพื้นที่ โดยการเข้าไปแต่ละครั้งก็จะไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และนำตำรวจที่นับถือศาสนาอิสลามไปร่วมละหมาด ร่วมพบปะพูดคุย โดยจะนำเจ้าหน้าที่ทหาร ปกครอง ไปด้วย จึงทำให้บันนังสตา ทุกวันนี้ เหตุการณ์เบาบางลงไป        

Wednesday, March 14, 2012

อำเภอบันนังสตาวันนี้..

IMG_8264
 
อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  เราสูญเสียวีรบุรุษของชาติไปมากมากหลายท่าน ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ ร.ต.อ.ธรณิศ ศรีสุข หรือ "ผู้กองแคน"   ร.ต.ต.กฤติกุล บุญลือ หรือ "หมวดตี้"  และ "จ่าเพียร" พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา รวมทั้งวีรบุรุษนิรนามของชาติอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม

ในปัจจุบัน เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ทุเลาเบาบางลงไปมาก อำเภอบันนังสตาในวันนี้ ไม่น่ากลัวเช่นเมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว  ด้วยเหตุผลหลายประการ  ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแนบแน่นระหว่างกองกำลัง 3 ฝ่ายทั้ง พลเรือน ตำรวจ ทหาร รวมทั้งประชาชน  การลดปัจจัยเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละฝ่าย  การรุกด้วยงานมวลชน  การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นบ้างประปราย แม้ว่าฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจะยังคงดำรงความมุ่งหมายในการก่อเหตุรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วได้ช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ทำให้พื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา กลับมามีความสงบสุขอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่งกระทั่งปัจจุบัน
 
การที่จะรักษาความสงบสุขในพื้นที่อำเภอบันนังสตาได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องตลอดไป แต่ละฝ่ายจะต้องยอมรับในเอกภาพของความต่าง มีความเข้าอกเข้าใจกัน  การแก้ปัญหาจะต้องกระทำด้วยความอดทนอดกลั้น  ให้ความสำคัญกับงานมวลชนและการรุกทางการเมือง งานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ ด้วยการเอาชนะความคิดและจิตใจ “heart and mind” เพื่อแยกน้ำออกจากปลา  ดึงผู้รู้ ผู้นำ ศาสนา หรือผู้นำท้องถิ่นมาเป็นพวก การเผยแพร่ความรู้หรือหลักการศาสนาที่ถูกต้อง
 
ผมเชื่อว่า หากเราสามารถดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง อำเภอบันนังสตา จะกลับคืนมามีความสงบสุขดังเดิมในที่สุด…

Thursday, March 1, 2012

รายการ “ร้อยใจไทย…ใต้ร่มเย็น” สภ.บันนังสตา ทาง ททบ.5

IMG_1039

เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ทีมงานรายการ “ร้อยใจไทย…ใต้ร่มเย็น” ซึ่งออกอากาศทาง ททบ.5 เป็นประจำทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลา 11.50 – 11.55 น. ได้โทรศัพท์ติดต่อประสาน พ.ต.อ.สุวัตต์ วงค์ไพบูลย์ ผกก.สภ.บันนังสตา เพื่อส่งทีมงานเดินทางมาถ่ายทำสารคดีกิจกรรมงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ของ สภ.บันนังสตา  ซึ่งต่อมาเมื่อระหว่างวันศุกร์ที่ 10 - วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ทีมงานของรายการฯ ได้เดินทางมาถ่ายทำสารคดีกิจกรรมงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ของ สภ.บันนังสตา จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยจะทยอยออกอากาศเป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้                          

                   ตอน                                               วันที่ออกอากาศ

1. โครงการร้อยใจไทยเป็นหนึ่งเดียว                                    5 มี.ค. 2555
2. โครงการตำรวจ วัด มัสยิด ร่วมคิดร่วมสร้างทางสันติ           6 มี.ค. 2555
3. โครงการครู 5 นาที สภ.บันนังสตา                                   9 มี.ค. 2555
4. โครงการตำรวจบันนังสตายิ้ม                                          12 มี.ค. 2555.
5. โครงการประชาสัมพันธ์และตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด     13 มี.ค. 2555
6. โครงการกลับบ้านเรารักรออยู่                                          14 มี.ค. 2555
7. การสร้างจิตสำนึกของนักเรียน ร.ร.บ้านตะบิงติงงี               15 มี.ค. 2555
8. สภานักเรียน ร.ร.บ้านตะบิงติงงี อ.บันนังสตา จ.ยะลา          16 มี.ค. 2555
9. โครงการกลับบ้านเรารักรออยู่                                           19 มี.ค. 2555

ผู้สนใจสามารถติดตามชมรายการ “ร้อยใจไทย…ใต้ร่มเย็น” ซึ่งถ่ายทอดกิจกรรมงานชุมชนมวลชนสัมพันธ์ของ สภ.บันนังสตา  ในแง่มุมต่าง ๆ ได้ตามวันและเวลาดังกล่าวครับ

RevolverMap