ที่มา: ชาวบันนังสตาร้องกระทรวงยุติธรรมติดตามคนหาย
วันอังคาร ที่ 26 ก.ค. 2554
กระทรวงยุติธรรม 26 ก.ค.- ชาวบ้านบันนังสตา ร้องกระทรวงยุติธรรมคนหายจากหมู่บ้าน พาดพิงติดต่อไม่ได้หลังจากถูกเรียกตัวเข้าไปที่ค่ายตำรวจพลร่มในพื้นที่ พร้อมร้องขอดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษและให้การคุ้มครองพยานในคดี
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความมุสลิม ในฐานะผู้ประสานงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย น.ส.นูรอามาณีย์ อูมา อายุ 24 ปี ชาวบ้านบ้านตือระ หมู่ 8 ต.บันนังสตา จ.ยะลา ภรรยานายอิบรอเฮง กาโฮง และญาติของนายดุลหามิ มะแร ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนหนึ่ง เข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ร้องเรียนขอให้ช่วยติดตามกรณีนายอิบรอเฮง ซึ่งเป็นสามี ได้หายตัวไปพร้อมกับเพื่อนตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากไปตามเรือที่ถูกตำรวจตระเวนชายแดน (ค่ายนเรศวร) บ้านสันติ 1 ต.เขื่อนบางลาง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าค่ายตำรวจพลร่ม เนื่องจากน้องสาวของผู้สูญหายแจ้งให้ญาติทราบว่าได้เห็นบุคคลทั้งสองขับรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปในค่ายตำรวจพลร่ม และก่อนที่จะเข้าไปได้เข้าพบผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยติดตาม และจะเดินทางล่วงหน้าไปในค่ายก่อน ระหว่างทางยังพบกับเพื่อนบ้านที่สามารถเป็นพยานยืนยันได้ว่าบุคคลทั้งสอง เข้าไปในค่ายตำรวจพลร่มจริง แต่หลังจากนั้นทางบ้านก็ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนั้น ญาติจึงได้เข้าแจ้งกับมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สภ.บันนังสตา เพื่อให้ช่วยติดตามสามีและเพื่อนสามี
น.ส.นูรอามาณีย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว หน่วยงานในพื้นที่โดยเฉพาะ ศอ.บต.ได้แจ้งให้ทั้ง 2 ครอบครัว ทราบโดยยอมรับว่าบุคคลทั้งสองสูญหายจริง แต่ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าหายไปได้อย่างไร
ตนและญาติผู้สูญหายเกรงว่าการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อาจไม่ต่อเนื่อง จึงได้เข้ามาร้องทุกข์กับกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ และให้ความคุ้มครองญาติ เพราะเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัย ซึ่งทางญาติต้องการทราบว่าบุคคลทั้งสองยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
ด้าน น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ระหว่างปี 2546-ปัจจุบัน มีรายงานผู้สูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 35 ราย ซึ่งทั้งหมดที่สูญหายไป ไม่สามารถติดตามตัวได้แม้แต่รายเดียว โดยปี 2546 พบชาวบ้านสูญหายไปถึง 27 คน ต่อมาจำนวนผู้สูญหายมีเฉลี่ยปีละ 1-2 คน ซึ่งถือว่าลดลง ทั้งนี้ อาจเกิดจากการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บังคับใช้ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเรียกตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนข้อเท็จจริงได้ ทำให้สถานการณ์การหายไปของบุคคลมีจำนวนน้อยลง จากการลงพื้นที่พบว่าญาติและครอบครัว และชุมชนที่ใกล้ชิดกับคนที่หายไปโดยเฉพาะบุคคลทั้ง 2 รายนี้ อยู่ในอาการหวาดกลัวอิทธิพลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอให้ความคุ้มครองพยาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ศอ.บต. และศูนย์ปฏิบัติงานชายแดนใต้ของดีเอสไอได้ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนจาก สภ.บันนังสตาและกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้ติดตามคดีดังกล่าว พบว่าคดีมีมูลความจริง และอยู่ระหว่างการสอบสวนซึ่งขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว ในส่วนกระทรวงยุติธรรมที่มีศูนย์ประสานงานภาคใต้และดีเอสไอที่เป็นหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม จะให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้จากเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่งเพื่อหาทางเยียวยาเบื้องต้นกับญาติ โดยตนจะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามผู้สูญหายและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้รวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อประสานขอเอกสารทางคดี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีดังกล่าวญาติต้องการให้เป็นคดีพิเศษและขอได้รับความคุ้มครองพยานนั้นจำเป็นต้องแจ้งให้ดีเอสไอรับคดีไว้ก่อน และเนื่องจากคดีดังกล่าวมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐคือตำรวจพลร่ม แม้ว่าทาง สภ.บันนังสตาจะรับเรื่องไว้สอบสวนแล้ว แต่ตนจะประสานไปที่ พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้กำกับดูแลพื้นที่ภาคใต้ให้กำชับไปยังหน่วยงานภายใต้สังกัดอีกครั้ง ส่วนกระทรวงยุติธรรมจะให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับครอบครัวผู้สูญหาย 3 ประเด็น คือ การความคุ้มครองพยานที่ยังไม่กล้าเข้าให้ปากคำกับตำรวจ การเยียวยาญาติ และการผลักดันให้เป็นคดีพิเศษ เพื่อชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมและเข้าถึงความยุติธรรมที่แท้จริง.-สำนักข่าวไทย
No comments:
Post a Comment