ข้อมูลจาก สำนักข่าวมุสลิมไทยดอทคอม
ดาวน์โหลด: ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ. ...
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นไปอย่างยากลำบาก ผู้คนต่างมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดผวา อาณาจักรแห่งความกลัว และความหวาดระแวง แผ่ขยายออกไปทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาล ทังกำลังเงิน คน อาวุธยุทโธปกรณ์ ระดมมันสมองนักคิด นักยุทธศาสตร์ นักวิชาการหาวิธียุติเหตุร้ายเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในเร็ววัน
แนวคิดในการจัดรูปแบบการปกครองพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ รูปแบบต่าง ๆ เป็นอีกมรรควิธีหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลควรให้ความสนใจศึกษาถึงความเป็นไปได้อย่างจริงจัง ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เสนอแนวคิดไว้หลายรูปแบบ
ในขณะที่ประชาชนยังคงรอความหวังอยู่ต่อไป เป็นเวลาเดียวกันกับที่ “คณะทำงานเพื่อเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” ของพรรคเพื่อไทยกำลังวาดฝัน “มหานครปัตตานี” ฟื้นชีวิตชีวาของ “ระเบียงแห่งมักกะห์” คืนสีสันให้นครปัตตานี
“มหานครปัตตานี” เกิดจากการระดมความคิดจากเวทีภาคประชาสังคมในพื้นที่ เริ่มต้นด้วยการสร้างศูนย์ราชการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในพื้นที่ 3 อำเภอที่เป็นเขตเชื่อมต่อ 3 จังหวัด คือ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เนื่องจากพื้นที่นี้อยู่กึ่งกลางระหว่างจังหวัดทั้งสาม ซึ่งเป็นเขตรอยต่อที่สามารถพัฒนาร่วมกันได้ ใช้พื้นที่ขั้นต้นประมาณ 10,000 ไร่ มีการวางผังเมืองอย่างดี เทียบได้ หรือเหนือกว่าเมืองปุตราจาญา (Putra Jaya) ในรัฐเซอลางอ ประเทศมาเลเซีย” จะมีการสร้างคลองเชื่อมเพื่อทดน้ำมาจากแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด ทั้งจากแม่น้ำปัตตานี หรือเขื่อนบางลาง ทำทะเลสาบขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ เป็นสวนสาธารณะและแหล่งบันเทิงที่ฮาลาล
สร้างศูนย์ราชการที่ทันสมัยครบวงจรบนเนื้อที่ 10,000 ไร่ มีมหาวิทยาลัยใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จุคนได้ไม่น้อยกว่า 30,000 คน
จำลองวัดช้างไห้และศาลเจ้าแม่กวนอิมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับฝ่ายพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในบริเวณนี้ สร้างท่าเรือน้ำลึกเชื่อมสองฝั่งทะเล สร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลครบวงจร
มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ ระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นตักศิลาแห่งความเป็นเลิศในศาสตร์ทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ฮาลาล มีคณะวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้โรงงานเพื่อจัดระบบต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมฮาลาลปัตตานีและโลก ฟื้นฟูความเป็นศูนย์กลางทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิชาการศาสนา ศิลปะวิทยาการ หรือศูนย์กลางทางการค้าให้สอดรับกับความยิ่งใหญ่ในอดีตของปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งวิชาการ ที่เคยได้รับขนานนามว่า “เป็นระเบียงแห่งมักกะห์”
สร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่ จ.ปัตตานี และ จ.สตูล ให้เป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาค ดั่งที่ปัตตานีเคยเป็นมาในอดีต เป็น “นูซันตารา” (Nusantara) สุวรรณภูมิ หรือแผ่นดินทอง มีเครือข่ายการคมนาคมเป็นรางเชื่อมต่อทั้ง 3 จังหวัด สู่ จ.สงขลา และ จ.สตูล ซึ่งจะทำให้คนในพื้นที่มีศักยภาพในการค้าขายมากยิ่งขึ้น ทำแลนด์บริดจ์เชื่อมโยง 2 จังหวัดดังกล่าวให้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเล เป็นศูนย์กลางทางทะเลทั้งชายฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันออกสร้างที่ จ.ปัตตานี เพื่อคืนชีวิตของนครปัตตานีให้กลับมามีชีวิตชีวาดั่งเดิม ส่วนฝั่งตะวันตกสร้างที่ จ.สตูล ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานีในอดีต แต่ จ.สตูล เป็นเมืองหน้าด่านของชายฝั่งทะเลตะวันตกของมหานครปัตตานี จึงต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อเป็นประตูไปสู่นครมักกะห์ และโลกอาหรับ
ในอนาคตประชาชนชาวไทยมุสลิมสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยเรือสำราญขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ครั้งละ 3,000 - 4,000 คน เสียค่าใช้จ่ายเพียง 60,000-80,000 บาท ใช้เวลาเดินทางเพียง 3 วัน
ในเรือมีห้องประชุมขนาดใหญ่ มีสถานที่พักผ่อนอำนวยความสะดวกครบถ้วนเช่นเดียวกับในโรงแรมระดับห้าดาว ระหว่างเดินทางจึงสามารถจัดฝึกอบรมหรือสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการประกอบพิธีฮัจญ์ที่ถูกต้องได้ ทั้งยังสามารถนำสินค้าโอทอป หรืออาหารฮาลาลที่ผลิตในมหานครปัตตานีไปขายได้อีกด้วย
ปัตตานีในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์ฮาลาลเพื่อป้อนให้กับโลกอย่างครบวงจร มีฟาร์มไก่ระบบปิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีโรงเชือดที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติ มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไก่อย่างครบวงจร ส่วนสินค้าจากการทำประมง ก็จะนำมาแปรรูปเป็นอาหารกระป๋องและอาหารแห้งอย่างครบวงจร มีแบรนด์เป็นของตัวเองเป็นสัญลักษณ์ของมหานครปัตตานีให้ทั่วโลกได้รู้จักและอุดหนุนสินค้า
นอกจากนี้จะจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงินและการลงทุนตามหลักชะรีอะห์จุดประสงค์เพื่อสร้างการเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนมหาศาลในตะวันออกกลาง และโลกมลายู ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจกับรัฐทางตอนเหนือและตะวันออกของมาเลเซีย คือ รัฐเปอร์ลิส เคดาห์ กลันตัน และตรังกานู
University of Nusantara จะเป็น Center of excellence หรือ ตักศิลาแห่งฮาลาลไซนส์ (Halal Science) เป็นสำนักคิดที่มีความร่วมมือกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับองค์กรภาคเอกชน ทำนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล Logistic Halal และ Marketing
การจะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งฝันดังกล่าวได้ จะต้องร่วมกันร่างสัญญาประชาคมกับประชาชนในพื้นที่ 3 อำเภอนี้ ว่าต่อไปจะไม่มีการเกิดเหตุร้ายในพื้นที่อีก เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจของชาวบ้านจะร่วมระวังป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาทำลายความสงบสุขอีกต่อไป
ทั้งนี้การตั้งมหานครปัตตานี ต้องออกเป็นกฎหมาย ลักษณะเป็นการปกครองพิเศษ เช่นเดียวกัน กรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด อาณาเขตอาจครอบคลุมพื้นที่ 3 - 4 จังหวัดภาคใต้ แต่นโยบายนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
“มหานครปัตตานี เป็นเพียงรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหมือน กทม. และ เมืองพัทยา จ. ชลบุรี เท่านั้น และน่าจะเป็นทางออกของการมีส่วนร่วมในการกระจายอำนาจในการดูแลตัวเองที่ดี ที่สุด เหมือนที่ กทม.และพัทยา ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว”