Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Wednesday, August 21, 2013

พูดถึงตำรวจรัฐสภา สักนิด

เมื่อ 20 ส.ค.2556 มีการประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขกฎหมายสำคัญของประเทศ หลายคนคงมีโอกาสได้เห็นความวุ่นวายซึ่งเกิดจากท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ได้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ โดยมีตำรวจรัฐสภาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุความวุ่นวายระหว่างการประชุม
 
ความจริงแล้ว "ตำรวจรัฐสภา" เป็นตำรวจที่ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาตินะครับ...
 
"ตำรวจรัฐสภา" เป็นข้าราชการพลเรือน ในสังกัดรัฐสภา ตามพระราชบัญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ.2554 มาตรา 16 ที่กำหนดให้ข้าราชการรัฐสภาสามัญ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินภายในบริเวณรัฐสภา เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภายในบริเวณรัฐสภา
 
พูดให้ง่ายเข้าก็คือ "ตำรวจรัฐสภา" คือ “ตำรวจ” อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐสภา โดยแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจ ประดับเครื่องหมายยศตำรวจ นั่นเอง
 
บางคนอาจจะสงสัยว่า...แล้วทำไมข้าราชการพลเรือนเหล่านั้นสามารถแต่งเครื่องแบบตำรวจ และใช้เครี่องหมายยศตำรวจได้ละ!!!???
 
"ตำรวจรัฐสภา" มีสิทธิแต่งเคร่ืองแบบตำรวจ ประดับเครื่องหมายยศตำรวจได้ตาม พระราชบัญญัติยศตำรวจรัฐสภา พ.ศ.2512
 
เครื่องแบบ ยศ เครื่องหมายต่าง ๆ รัฐสภาเป็นผู้กำหนดให้แต่งกายเหมือนข้าราชการตำรวจ เพื่อให้ดูน่าเกรงขามอย่างตำรวจ
 
ข้าราชการพลเรือนเหล่านี้เมื่อออกจากพื้นที่ทำการของรัฐสภา จะแต่งเครื่องแบบประดับเครื่องหมายยศตำรวจไม่ได้โดยเด็ดขาด
 
ตามพระราชบัญญัติยศตำรวจรัฐสภา พ.ศ.2512 มาตรา 4 กำหนดยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญในสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดรัฐสภา ตั้งแต่ยศ พันตำรวจตรี  ลงไปถึงยศ ร้อยตำรวจตรี ส่วนมาตรา 5 กำหนดยศตำรวจชั้นประทวนฯ ตั้งแต่ยศ นายดาบตำรวจ ลงไปจนถึง สิบตำรวจตรี
 
มาตรา 7 การ แต่งตั้งให้มียศเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรให้กระทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ
 
มาตรา 8 การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรให้กระทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ
 
"ตำรวจรัฐสภา" จึงมีศักดิ์และสิทธิ์ในการแต่งเครื่องแบบและประดับเครื่องหมายยศตำรวจเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติข้างต้นทุกประการ
 
เมื่อวานเห็นคนที่แต่งเครื่องแบบประดับยศยศพันตำรวจเอก คือน่าจะเป็นหัวหน้า รปภ. บางคนสวมหมวกช่อชัยพฤกษ์ตำแหน่งผู้กำกับการ ไม่แน่ใจว่ามีที่มาอย่างไร???

Saturday, August 17, 2013

อีกครั้งกับ 3 จชต.

เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.2556) เราได้สูญเสียวีรบุรุษของชาติไปอีกแล้วถึง 4 นาย (ข้าราชการตำรวจ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส) หลายคนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนอาจท้อแท้สิ้นหวังกับชะตากรรมของประเทศ บ้างก็ตำหนิรัฐบาล กองทัพ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า มัวแต่ทำอะไรกันอยู่ทำไมจึงยังปล่อยให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้!!

ผมอยากจะเรียนให้ทราบว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความจริงแล้วเป็นสภาวะปกติของสงครามการก่อความไม่สงบ (insurgencies warfare) ทั่วโลก ที่มีลักษณะเป็นสงครามยืดเยื้อ แย่งชิงและชี้ขาดกันด้วยมวลชน ผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้วิธีการรบแบบกองโจร (guerrilla warfare)
ตามหลักการสงครามอสมมาตร (asymmetric warfare) สามัญดี ๆ นี่เองไม่มีอะไรสลับซับซ้อน

จุดมุ่งหมายของ "อสมมาตรวิธี" คือการใช้วิธีการรบแบบกองโจร ทำลายหลักการสงครามประการที่ 1 (ตามหลักนิยม 10 ประการของกองทัพบกไทย) คือ หลักดำรงความมุ่งหมาย ของฝ่ายตรงข้าม ในที่นี้คือ รัฐบาลไทย
 
ตัวอย่างที่คลาสสิคในเรื่องนี้ได้แก่ สงครามเวียดนาม ที่สหรัฐฯ มีอำนาจกำลังรบเหนือกว่าในทุกด้าน จึงใช้ความได้เปรียบด้านกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าในการทำสงคราม  ในสนามรบสงครามตามแบบ (conventional warfare) ทหารสหรัฐฯ รบเอาชนะทางยุทธวิธีฆ่าคนเวียดนามไปนับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่กองทัพสหรัฐฯ ไม่มีคือความชำนาญในพื้นที่  กองโจรเวียดกงได้ใช้ความได้เปรียบในพื้นที่ภูมิประเทศของกองโจรทำสงครามอสมมาตรกับสหรัฐฯ กำหนดสนามรบที่ตนเองได้เปรียบ ดำเนินกลยุทธ "เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม" เป็นสงครามยืดเยื้อที่ไม่มีวันจบสิ้น ไม่มีแพ้ ชนะ ผลของสงคราม สหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณทางการทหารอย่างมหาศาล ในขณะที่ทหารสหรัฐฯ บาดเจ็บล้มตายไปหลายหมื่นนาย สงครามยืดเยื้อมีผลทำให้จิตใจคนอเมริกันอ่อนไหว สะเทือนใจกับชีวิตลูกหลานชาวอเมริกันที่เอาชีวิตไปทิ้งเสียโดยเปล่าประโยชน์เพื่อแผ่นดินอื่น ผู้คนเกิดความรู้สึกเอือมระอาสงคราม มีการรณรงค์เดินขบวนประท้วงไม่เอาสงครามไปทั่วประเทศเพืิ่อกดดันรัฐบาล  จนนำไปสู่การถอนกำลังทหารในที่สุด
 
หลักดำรงความมุ่งหมายทางการทหารของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม ถูกทำลายโดยพลังมวลชนที่เดินขบวนประท้วงอยู่ในมาตุภูมิ ซึ่งอยู่กันคนละซีกโลกของสนามรบ ส่งผลสะเทือน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง  หลักดำรงความมุ่งหมายของกองทัพสหรัฐฯ พ่ายแพ้นโยบายทางการเมืองในประเทศ  ทำให้สหรัฐฯ แพ้สงครามพ่ายทางยุทธศาสตร์ในเวียดนาม
 
นายเฮนรี่ คิซซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในรัฐบาลริชาร์ด นิกสัน (ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 1973) ได้กล่าวไว้ว่า "สำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้น ถ้าไม่สามารถเอาชนะข้าศึกได้ก็คือแพ้ แต่สำหรับฝ่ายกองโจรแล้ว เพียงแต่พวกเขาดำรงตนเองให้อยู่ได้ก็เท่ากับชนะ" จุดมุ่งหมายการก่อเหตุความไม่สงบก็เพื่อสภาวะดังกล่าว สภาวะใน 3 จชต.อยู่ในขั้น "ยัน" กันทางยุทธศาสตร์ ไม่มีแพ้ ชนะ แต่กองโจรยังดำรงอยู่ได้ อาจกล่าวได้ว่า กองโจร "ชนะ" ในทางยุทธศาสตร์ตามความหมายข้างต้นนั่นเอง
 
ข้อแตกต่างระหว่างสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม กับกองทัพไทยใน 3 จชต. คือ สหรัฐฯ ไปรุกรานบ้านเมืองคนอื่น ในขณะที่ไทยเรารบเพื่อปกป้องบ้านเมืองของเราเอง (ในความหมายของเรา) เราจึงไม่สามารถถอนกำลังทหารแล้วยกแผ่นดินให้กับกองโจรเพื่อแยกเป็นรัฐอิสระได้
 
คาร์ลฟอนท์ เคลาซ์เซวิต นักการทหารชาวปรัซเซีย (เยอรมัน) ชื่อก้องโลกเคยกล่าวเอาไว้ว่า
 
"..การสงครามคือความต่อเนื่องของการเมืองที่หลั่งเลือด.."
 
การแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น ถึงแม้ว่ายังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้กำลังทหาร ตำรวจ เข้าต่อสู้ปราบปรามกองโจร แต่กระนั้นก็ตามจะต้องใช้มิติทางการเมืองมาเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาในมิติอื่น ๆ ด้วย  แต่จะด้วยวิธีใด (งานมวลชน, การพัฒนา, การเจรจา, เขตปกครองพิเศษ หรือจะทำสงครามสู้รบกันต่อไป ฯลฯ) ก็แล้วแต่คงเป็นการบ้านให้ทุกฝ่ายช่วยกันขบคิดหาหนทางกันต่อไป....
 
 

RevolverMap