Leh in my memory...

As we are entering the new era, where nations are becoming one community, I, as well as my PTI 27th session’s member friends have the mutual vision that we, and other friends of the Asia-Pacific nations, will become closer than ever.
ยินดีต้อนรับสู่โลกใบเล็กของผม โลกของคนทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ชีวิตในวัยเด็กผมเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นสถาปนิก แต่เมื่อยามต้องเลือกทางเดินของชีวิต ผมกลับเลือกที่จะสวมเครื่องแบบสีกากี โดยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเหล่าตำรวจ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเลือกลงบรรจุรับราชการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ชีวิตราชการวนเวียนโยกย้ายอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดมา ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐ และการทำงานในหลายโอกาสอาจพบพานกับอุปสรรคภยันตรายต่าง ๆ บ้าง แต่ที่นี่คือ “บ้าน” ผมจึงยังทำงานอยู่ที่นี่ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับงานที่ทำอยู่เสมอ...

Wednesday, May 12, 2010

“การก่อการร้าย” ต่างจาก “การก่อความไม่สงบ” อย่างไร...?

image

หลาย ๆ คน ติดตามอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ยังงง ๆ อยู่ว่า  คำทั้งสองคำมีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร…?

สุรชาติ บำรุงสุข ได้อธิบายว่า การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบมักใช้วิธีการความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป มีการจัดตั้งองค์กร ประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธ อาวุธ ยุทธวิธีและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยแบ่ง (การก่อเหตุรุนแรง) ออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

1. การก่อการร้าย (Terrorism) เป็นรูปแบบของการสร้างความรุนแรงโดยตรงต่อผู้ที่มิใช่ทหาร หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า/การเข้าปะทะโดยตรงกับกองกำลังตำรวจและทหาร แต่มุ่งใช้ความรุนแรงไปที่เป้าหมายสาธารณะและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ หน่วยปฏิบัติการมีขนาดเล็กกว่าสงครามก่อความไม่สงบ การปฏิบัติการมักใช้วิธีการลอบสังหาร วางระเบิด ขว้างระเบิด ลอบวางเพลิง ใช้การทรมาน จี้เครื่องบิน และลักพาตัว บางครั้งใช้รูปแบบปฏิบัติการเพียงเพื่อสร้างผลสะเทือนทางการเมือง ปฏิบัติการเหล่านี้มักดำเนินการโดยกลุ่มที่ต้องการปกครองตนเอง และกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ (Non – State actors)

ส่วน การก่อการร้ายก่อความไม่สงบ (Insurgency Terrorism) นั้น มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความรุนแรงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการโค่นล้มรัฐบาล พร้อมทั้งสร้างความหวาดกลัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ให้การสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้การก่อการร้ายได้ถูกปรับให้สอดคล้องกับการปฏิบัติการของแต่ละกลุ่ม

2. สงครามก่อความไม่สงบ (Insurgency Warfare) หลักการทำสงครามก่อความไม่สงบก็คือ การโจมตีโฉบฉวย (hit and run) ด้วยกองกำลังติดอาวุธเบาจนถึงขนาดกลาง เพื่อสร้างความหนักใจ และค่อย ๆ ทำลายเจตนารมณ์ และขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้าม ความเคลื่อนไหวของฝ่ายก่อความไม่สงบจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุดในด้านความชำนาญภูมิประเทศ ความยืดหยุ่น พลิกแพลง ความรวดเร็ว และการหลอกล่อในการปฏิบัติการ

เหมาเจ๋อตุง” ได้ให้ข้อสรุปของการทำสงครามก่อความไม่สงบไว้ว่า “ยุทธศาสตร์สูงสุดของฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่บนพื้นฐานของความตื่นตัว เคลื่อนที่เร็วในการเข้าโจมตี แต่จะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของฝ่ายศัตรู ภูมิประเทศ การสื่อสารโทรคมนาคม กำลังสนับสนุน สภาพอากาศ และประชาชน

ทั้งนี้ สงครามก่อความไม่สงบ “แตกต่าง” จากการก่อการร้าย ในแง่ของการเน้นเป้าหมายขั้นต้น กล่าวคือ สงครามก่อความไม่สงบ “เน้น” การโจมตีกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายรัฐบาล ตำรวจ ทหาร หน่วยสนับสนุน รวมถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การก่อการร้าย “เน้น” เป้าหมายที่เป็นสาธารณะ ขณะที่การประกอบกำลังของสงครามก่อความไม่สงบมีขนาดใหญ่กว่าการก่อการร้าย มีการส่งกำลังบำรุง และมีฐานที่่มั่นชัดเจน โดยพื้นที่เคลื่อนไหวส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ส่วนประเด็นที่สงครามก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย “เหมือนกัน” ก็คือ การใช้จุดอ่อนของฝ่ายรัฐที่ไม่สามารถนำทรัพยากรที่พอเหมาะมาใช้แก้ปัญหาในจุดขัดแย้งได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ชี้ขาดความสำเร็จของสงครามก่อความไม่สงบ ยังขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงสงครามก่อความไม่สงบเข้ากับการสร้างความรุนแรง หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่สงครามตามแบบ

3. การใช้กำลังตามแบบ หรือ สงครามตามแบบ (Conventional Warfare) เป็นการเผชิญหน้ากันโดยตรงของกำลังขนาดใหญ่ในสนามรบ ซึ่งการก่อความไม่สงบส่วนใหญ่มักไม่ใช้สงครามตามแบบ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการเคลื่อนที่เร็วมากกว่า จึงใช้หน่วยขนาดเล็ก (small unit) ในการปฏิบัติการ ทั้งนี้การทำสงครามตามแบบของกลุ่มก่อความไม่สงบขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของกลุ่มและการตัดสินใจเกี่ยวกับสมรรถนะในการทำลายกองกำลังติดอาวุธฝ่ายรัฐบาลที่ใช้การรบตามแบบ

บางยุคสมัย  "การก่อความไม่สงบ"  ก็กลายเป็น "แนวคิด" หรือ “เป้าหมาย” โดยใช้ "การก่อการร้าย" เป็นยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีของ "การปฏิบัติ"  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการก่อความไม่สงบทางการเมือง  การศาสนา เศรษฐกิจ และสังคม

การก่อการร้าย” ยังเป็นคำที่ใช้ในทางลบและไม่ดีเสมอ และมีความหมายที่กว้างขึ้นตั้งแต่สหรัฐอเมริกามีการประกาศสงครามกับการก่อการร้ายจนครอบคลุมไปถึงทุก ๆ กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ใช้เฉพาะเพื่อเรียก “ฝ่ายตรงข้าม” เท่านั้น

น่าสังเกตุว่า ไม่มีกลุ่มใดเรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เลย (บางกลุ่มลงมือกระทำการอันเป็นการก่อการร้ายสากลเสียด้วยซ้ำ กลับเรียกตัวเองว่า “ผู้ก่อการดี” ????)

ข้อเท็จจริง  เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งรูปแบบ “การก่อความไม่สงบ” และ “การก่อการร้าย” เพราะมีการก่อเหตุรุนแรงต่อเป้าหมายทั้งทางทหารตำรวจซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “อำนาจรัฐ” และเป้าหมายที่เป็นพลเรือน แต่เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องกำหนดกรอบให้เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น “การก่อความไม่สงบ”  ซึ่งเป็นปัญหาภายในประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของผม รูปแบบการก่อเหตุรุนแรงทั้งสองรูปแบบ ไม่ได้มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ ขึ้นอยู่กับเจตนารมย์ของรัฐบาลผู้ปกครองนั่นเองที่จะเลือกใช้ถ้อยคำใดเรียกฝ่ายต่อต้่าน เพราะในอดีต รัฐบาลเคยใช้คำว่า “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ “ขจก.” แทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ต่อมาเปลี่ยนเป็น “โจรก่อการร้าย” (จกร.) และ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ในปัจจุบันตามลำดับ  (ในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเป็น “กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง” ก็เป็นไปได้)

No comments:

Post a Comment

RevolverMap